TFM ยื่นไฟลิ่งขายไอพีโอ 109.30 ล้านหุ้น รุกขยายธุรกิจผลิต-ขายอาหารสัตว์น้ำอินโดฯ-ปากีสถาน

“ไทยยูเนี่ยน ฟีดมิลล์” หรือ TFM ผู้ผลิตและจำหน่ายอาหารสัตว์เศรษฐกิจ โดยมีผลิตภัณฑ์หลัก ซึ่งได้แก่ อาหารกุ้ง อาหารปลา  และอาหารสัตว์บก และเป็นบริษัทย่อย TU ยื่นไฟลิ่งขายไอพีโอ 109.30 ล้านหุ้น เล็งเทรด SET ระดมทุนขยายธุรกิจผลิต-ขายอาหารสัตว์น้ำอินโดฯ-ปากีสถาน


บริษัท ไทยยูเนี่ยน ฟีดมิลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TFM ยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลและร่างหนังสือชี้ชวน (ไฟลิ่ง) ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)  เพื่อเสนอขายหุ้นสามัญต่อประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) จำนวน 109,300,000 หุ้น แบ่งเป็นหุ้นสามัญเพิ่มทุน 90,000,000 หุ้น และหุ้นสามัญเดิมที่เสนอขายโดย บมจ.ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป (TU) 19,300,000 หุ้น รวมทั้งหมดคิดเป็นสัดส่วนไม่เกิน 21.86% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและชำระแล้วทั้งหมดภายหลังการเสนอขายหุ้น IPO ครั้งนี้ และจะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ (SET) โดยมี บล.บัวหลวง เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน

ทั้งนี้บริษัทเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายอาหารสัตว์เศรษฐกิจ โดยมีผลิตภัณฑ์หลัก ซึ่งได้แก่ อาหารกุ้ง อาหารปลา  และอาหารสัตว์บก มีวัตถุประสงค์การระดมทุนครั้งนี้ เพื่อการขยายธุรกิจผลิตและจำหน่ายอาหารสัตว์น้ำในประเทศอินโดนีเซียและปากีสถาน  ชำระคืนเงินกู้ยืม และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน

โดย ณ วันที่ 31 พ.ค.64 บริษัทมีทุนจดทะเบียนจำนวน 1,000,000,000 บาท โดยเป็นทุนชำระแล้วทั้งสิ้นจำนวน 820,000,000 บาท แบ่งออกเป็นหุ้นสามัญจำนวน 410,000,000 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 2.00 บาท ภายหลังการเสนอขายหุ้น IPO บริษัทจะมีทุนจดทะเบียนชำระแล้วเต็มจำนวน แบ่งเป็นหุ้นสามัญจำนวนไม่เกิน 500,000,000 หุ้น

สำหรับโครงสร้างการถือหุ้นของบริษัทฯ ณ วันที่ 31 พฤษภาคม 2564 มี TU ถือหุ้น 274,300,075 หุ้น คิดเป็น 66.9% ภายหลังเสนอขายหุ้น IPO แล้วจะลดการถือหุ้นลงเหลือ 255,000,075 หุ้น หรือคิดเป็น 51.0% กลุ่มนายฤทธิรงค์ บุญมีโชติ ถือหุ้น 63,437,300 หุ้น คิดเป็น 15.5% หลังการเสนอขายหุ้น IPO จะลดสัดส่วนลงเหลือ 12.7%

โดยบริษัทมีความเชี่ยวชาญประสบการณ์กว่า 20 ปี ปัจจุบันมีโรงงานผลิตสินค้า 2 แห่ง คือ โรงงานมหาชัย ตั้งอยู่ที่อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งเป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่ และ โรงงานระโนด ในจังหวัดสงขลา กำลังการผลิตอาหารสัตว์รวมเท่ากับ 288,000 ตันต่อปี แบ่งเป็น อาหารกุ้ง 168,000 ตันต่อปี อาหารปลา 90,000 ตันต่อปี และ อาหารสัตว์บก 30,000 ตันต่อปี อัตราการใช้กำลังการผลิต (Utilization Rate) อยู่ในระดับประมาณ 58-80%

ทั้งนี้บริษัทมีแผนขยายธุรกิจผลิตและจำหน่ายอาหารสัตว์น้ำในประเทศอินโดนีเซีย โดยเข้าทำความร่วมมือทางการค้ากับพันธมิตรทางธุรกิจ (Strategic Partner) 2 กลุ่ม คือ กลุ่ม PT MSK ซึ่งเป็นผู้ประกอบธุรกิจแปรรูปอาหารแช่แข็งรายใหญ่ และกลุ่ม AVANTI ซึ่งเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายอาหารสัตว์น้ำ เพื่อลงทุนและจัดตั้ง TUKL ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายอาหารสัตว์น้ำในประเทศอินโดนีเซียดังกล่าว โดยบริษัทฯ PT MSK และกลุ่ม AVANTI (ถือหุ้นผ่าน AVANTI และ Srinivasa) มีสัดส่วนการถือหุ้นใน TUKL เท่ากับ 65%, 25% และ 10% ของทุนจดทะเบียนชำระแล้วของ TUKL ตามลำดับ ส่งผลให้ TUKL ถือเป็นบริษัทย่อยของบริษัทฯ

โดยในช่วงแรก TUKL จะมุ่งเน้นในการผลิตและจำหน่ายอาหารกุ้งเป็นหลัก คาดว่าจะต้องใช้เงินลงทุนในช่วงแรก กำลังการผลิตประมาณ 36,000 ตัน รวมประมาณ 275,333 ล้านรูเปีย หรือประมาณ 596.9 ล้านบาท ปัจจุบัน TUKL ได้มีการจัดซื้อที่ดินตั้งโรงงานแล้วและอยู่ระหว่างก่อสร้าง คาดว่าจะสามารถติดตั้งเครื่องจักรและเริ่มดำเนินการทดสอบระบบ (Test Run) ได้ภายในเดือน ต.ค.64  และสามารถเริ่มการผลิตและจำหน่ายอาหารกุ้งได้ภายในปี 64 โดยในระหว่างการก่อสร้างและติดตั้งเครื่องจักร TUKL บริษัทฯ ได้มีการทดลองตลาดโดยการนำเข้าอาหารกุ้งที่ผลิตโดยโรงงานของบริษัทฯ ในประเทศไทยเพื่อไปทดสอบผลการเลี้ยงกุ้งในประเทศอินโดนีเซียเป็นการล่วงหน้าตั้งแต่ในเดือนมี.ค.64

พร้อมกันนั้น จะขยายธุรกิจผลิตและจำหน่ายอาหารสัตว์น้ำในประเทศปากีสถาน โดยได้เข้าทำความร่วมมือทางการค้ากับStrategic Partner คือ กลุ่ม AMG ซึ่งเป็นผู้ประกอบธุรกิจอาหารสัตว์น้ำในประเทศปากีสถาน เพื่อลงทุนและจัดตั้ง AMG-TFM สัดส่วนการถือหุ้นเท่ากับ 51% และ 49% ช่วงแรกจะมุ่งเน้นในการผลิตและจำหน่ายอาหารปลาเป็นหลัก คาดว่า AMG-TFM จะต้องใช้เงินลงทุนในช่วงแรกสำหรับผลิตและจำหน่ายอาหารปลา กำลังการผลิตประมาณ 7,000 ตัน รวมประมาณ 340.0 ล้านรูปีปากีสถาน หรือประมาณ 69.6 ล้านบาท เป็นส่วนเงินลงทุนของบริษัทประมาณ 35.5 ล้านบาท โดยหลักจะเป็นเงินลงทุนในเครื่องจักรและอุปกรณ์และเป็นเงินทุนหมุนเวียน เนื่องจาก AMG-TFM มีแผนในการเช่าที่ดินและโรงงานจากบุคคลภายนอก

สำหรับผลการดำเนินงานในช่วง 3 ปีย้อนหลัง (ปี 61-63) และงวดสิ้นสุดวันที่ 31 มี.ค.64 มีรายได้รวมเติบโตขึ้นเป็น 4,492.7 ล้านบาทในปี 61 และ 4,906.8 ล้านบาทในปี 62 อย่างไรก็ดีในปี 63 เนื่องด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ส่งผลทำให้บริษัทมีรายได้รวม 4,244.5 ล้านบาทลดลงจากปีก่อนหน้า และงวดสิ้นสุดวันที่ 31 มี.ค.64 มีรายได้รวมอยู่ที่ 970.5 ล้านบาท ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ขณะที่มีกำไรเบ็ดเสร็จรวม เท่ากับ 402.5 ล้านบาท 835.4 ล้านบาท และ 399.7 ล้านบาท ตามลำดับ และในงวดสามเดือนสิ้นสุดวันที่ 31 มี.ค.64 บริษัทมีกำไรเบ็ดเสร็จรวม 60.0 ล้านบาท

ทั้งนี้ บริษัทมีนโยบายจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง รวมกันเป็นจำนวนไม่น้อยกว่าอัตราร้อยละ 50.0 ของกำไรสุทธิตามงบการเงินรวม หลังหักทุนสำรองต่าง ๆ ทุกประเภทตามข้อบังคับของบริษัทย่อย และตามกฎหมายแล้ว

Back to top button