TPIPP เล็งปิดดีลซื้อรฟฟ.ขยะสงขลา-โคราช 1-2 เดือนข้างหน้า คงเป้ารายได้ทั้งปี 1.2 หมื่นลบ.
TPIPP เล็งปิดดีลซื้อโรงไฟฟ้าขยะสงขลา-โคราช 1-2 เดือนข้างหน้า คงเป้ารายได้ทั้งปี 1.2 หมื่นลบ. รับความต้องการใช้ไฟเพิ่ม-คุมต้นทุนมีประสิทธิภาพ เตรียมพร้อมยื่นประมูล 9 โครงการ ตั้งเป้าเพิ่มกำลังผลิตแตะ 580 MW ในปี 68
นายภัคพล เลี่ยวไพรัตน์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ TPIPP เปิดเผยว่า บริษัทฯ คาดจะสามารถเซ็นสัญญาซื้อขายไฟฟ้า โรงไฟฟ้าขยะขององค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา ขนาดกำลังการผลิตจำนวน 7.92 เมกะวัตต์ ได้ไม่เกิน 30 วัน หลังจากที่บริษัทชนะการประมูลเมื่อต้นปี และปัจจุบันอยู่ระหว่างตรวจสอบร่างของสัญญาจากอัยการสูงสุด
ส่วนโครงการโรงไฟฟ้าขยะมูลฝอยระยะที่ 2 ของเทศบาลนครนครราชสีมา ขนาดกำลังการผลิตจำนวน 9.9 เมกะวัตต์ คาดจะเซ็นสัญญาซื้อขายไฟฟ้าได้ภายในช่วง 1-2 เดือนข้างหน้า จากต้องรอนายกเทศบาลคนใหม่มาลงนามสัญญาก่อน
ขณะที่คาดโรงไฟฟ้าถ่านหิน-RDF (TG7) กำลังการผลิต 40 เมกะวัตต์ จะสามารถดำเนินการขายไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้ในต้นปี 65 โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างการดำเนินการยื่นเรื่องเปลี่ยนสัญญาการขายไฟ จากเดิมที่ดำเนินการจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ให้กับโรงงานปูนซีเมนต์ของบริษัทแม่อย่างบริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน) หรือ TPIPL โดยคาดจะช่วยสร้างกำไรก่อนจะหักค่าใช้จ่ายดอกเบี้ย, ภาษี, ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) กว่า 500 ล้านบาทต่อปี
ทั้งนี้บริษัทฯ ยังคงเป้าหมายรายได้ปีนี้อยู่ที่ 11,000-12,000 ล้านบาท เป็นผลมาจากประสิทธิภาพการผลิตที่ดีขึ้นและความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มสูงขึ้น รวมถึงต้นทุนการผลิตที่ปรับตัวลดลง ประกอบกับบริษัทยังมีแผนเพิ่มกำลังการผลิตแตะระดับ 580 เมกะวัตต์ ภายในปี 68 จากปัจจุบันที่มีกำลังผลิตรวม 440 เมกะวัตต์ โดยเตรียมเข้าประมูลโรงไฟฟ้า VSPP เพิ่มอีกจำนวน 9 โครงการ
สำหรับโครงการโรงไฟฟ้าเก่าที่ Adder จะทยอยหมดอายุลง โดยคาดว่าจะทำให้ EBITDA ลดลงราว 800-900 ล้านบาท ในปี 65 และระดับ 1,000 ล้านบาทในปีถัดๆไป บริษัทฯ จะมี EBITDA จากโครงการ TG7 และโรงไฟฟ้าใหม่ๆเข้ามาชดเชยรวมปีละกว่า 1,000 ล้านบาท รวมถึงในระยะยาวบริษัทมีแผนจะพัฒนาโครงการพื้นที่ทางภาคใต้ใน 4 ธุรกิจ โดยเฉพาะการก่อสร้างโรงไฟฟ้า LNG ขนาดกำลังการผลิต 1,700 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมโครงการละ 1,000 เมกะวัตต์