ก.ล.ต. กล่าวโทษบอร์ด-ผู้บริหาร RICH พร้อมพวก ฐานเบียดบังทรัพย์สิน-แต่งงบการเงิน
ก.ล.ต. กล่าวโทษบอร์ด-ผู้บริหาร RICH จำนวน 3 ราย พร้อมพวกอีก 8 ราย ต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ฐานกระทำผิดหน้าที่โดยทุจริต-เบียดบังทรัพย์สิน-แต่งงบการเงิน สร้างความเสียหาย กว่า 1 พันลบ.
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวโทษกรรมการและผู้บริหาร บริษัท ริช เอเชีย คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ RICH จำนวน 3 ราย และพวก รวม 11 ราย ต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) กรณีกระทำผิดหน้าที่โดยทุจริต เบียดบังทรัพย์สินและแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ และลงข้อความเท็จในงบการเงิน อันเป็นเหตุให้ RICH เสียหาย มูลค่ารวม 1,159.42 ล้านบาท พร้อมทั้งแจ้งดำเนินคดีต่อสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.)
ทั้งนี้สำนักงาน ก.ล.ต. กล่าวโทษกรรมการและผู้บริหาร RICH 3 ราย ได้แก่ (1) นางสาวอังคกาญจน์ ตันติวิรุฬห์ (2) นายสมเกียรติ วงศาโรจน์ และ (3) นายธีระ ผลเจริญสุข ได้ร่วมกันกระทำผิดหน้าที่โดยทุจริต เบียดบังทรัพย์สินและแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ อันเป็นเหตุให้ RICH เสียหาย และลงข้อความเท็จในงบการเงิน
โดยได้รับการช่วยเหลือหรือสนับสนุนจากนิติบุคคลและบุคคลอีก 8 ราย ได้แก่ (4) บริษัท เบเนฟิท บลู จำกัด โดย (5) นายสราวุฒิ พูลทวีธรรม เป็นกรรมการผู้มีอำนาจ (6) บริษัท ชัยชนะ สตีล จำกัด โดย (7) นายชนินทร์ หอประเสริฐวงศ์ เป็นกรรมการผู้มีอำนาจ (8) บริษัท เอ็มไพร์ สตีล เซ็นเตอร์ จำกัด โดย (9) นางสาวกัลยา เกตุสิงห์ เป็นกรรมการผู้มีอำนาจ และ (10) บริษัท อาร์. เอส. ดี. สตีล จำกัด
ทั้งนี้ (11) นางสาวศุภิสรา หอประเสริฐวงศ์ เป็นกรรมการผู้มีอำนาจ ในการจ่ายเงินล่วงหน้าค่าซื้อสินค้าหรือการขายสินค้าแล้วแต่กรณี โดยไม่ปรากฏว่าบริษัทข้างต้นได้ส่งมอบสินค้าที่ RICH จ่ายเงินล่วงหน้า หรือมีศักยภาพที่จะชำระเงินค่าสินค้าให้แก่ RICH ทั้งนี้ มูลค่าธุรกรรมระหว่าง RICH และบริษัทดังกล่าว คิดเป็นประมาณร้อยละ 89 ต่อลูกหนี้รวมในงบการเงินปี 2559
จากการตรวจสอบ พบพยานหลักฐานว่าบริษัทดังกล่าวข้างต้นอยู่ภายใต้อำนาจและการควบคุมสั่งการในการดำเนินกิจการของผู้บริหาร RICH รายที่ถูกกล่าวโทษ และกรรมการผู้มีอำนาจของบริษัทดังกล่าวมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับ RICH และผู้บริหาร RICH เช่น พนักงาน อดีตพนักงาน เพื่อน หรือญาติของกรรมการรายที่ถูกกล่าวโทษ เป็นต้น
โดยภายหลังที่บริษัทดังกล่าวผิดนัดไม่ส่งมอบสินค้าหรือไม่ชำระค่าสินค้าแล้วแต่กรณี พบพฤติการณ์ผิดปกติวิสัยทั่วไปของผู้บริหาร RICH ที่เอื้อประโยชน์โดยมิชอบด้วยกฎหมายให้แก่บริษัทดังกล่าวในเรื่องการติดตามหนี้ การฟ้องคดี และกระบวนการในชั้นศาลในมูลหนี้ดังกล่าว ทำให้ RICH ได้รับความเสียหาย มูลค่ารวม 1,159.42 ล้านบาท และต้องบันทึกบัญชีค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญเกือบเต็มจำนวนในงบการเงินปี 2559 และส่วนที่เหลือในงบการเงินงวดถัดไป
ดังนั้นการกระทำของกรรมการและผู้บริหาร RICH และพวก รวม 11 รายข้างต้น เข้าข่ายเป็นความผิดตามมาตรา 281/2 วรรคสอง ประกอบมาตรา 89/7 มาตรา 307 มาตรา 308 มาตรา 311 มาตรา 312 มาตรา 313 และมาตรา 315 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 และมาตรา 83 และมาตรา 86 แห่งประมวลกฎหมายอาญา แล้วแต่กรณี ก.ล.ต. จึงกล่าวโทษบุคคลทั้ง 11 ราย ต่อ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) เพื่อพิจารณาดำเนินการตามกฎหมายต่อไป พร้อมกันนี้ ก.ล.ต. ยังได้แจ้งการดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ ข้างต้น ต่อสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ซึ่งเป็นความผิดมูลฐานตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
สำหรับการถูกกล่าวโทษข้างต้นมีผลให้ผู้ถูกกล่าวโทษเข้าข่ายมีลักษณะขาดความน่าไว้วางใจและไม่สามารถดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการและผู้บริหารของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์และบริษัทจดทะเบียนตลอดระยะเวลาที่ถูกกล่าวโทษดำเนินคดี นับตั้งแต่วันที่ ก.ล.ต. มีหนังสือกล่าวโทษบุคคลดังกล่าวต่อ DSI
อนึ่ง การกล่าวโทษของ ก.ล.ต. เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของกระบวนการบังคับใช้กฎหมายทางอาญาเท่านั้น ภายใต้กระบวนการนี้ การพิจารณาวินิจฉัยว่าบุคคลใดเป็นผู้กระทำผิดกฎหมายเป็นขั้นตอนในอำนาจการสอบสวนของพนักงานสอบสวน การสั่งฟ้องคดีของพนักงานอัยการ ตลอดจนดุลพินิจของศาลยุติธรรม ตามลำดับ