KTIS ผนึก “ก.กระทรวงเกษตร – สภาอุตฯ” พัฒนาโมเดลเพิ่มผลผลิต – คุณภาพอ้อย
KTIS ผนึก “ก.กระทรวงเกษตร – สภาอุตฯ” พัฒนาโมเดลเพิ่มผลผลิต – คุณภาพอ้อย ตั้งแต่การพัฒนาดิน การป้องกันและกำจัดศัตรูพืช ไปจนกระทั่งการเก็บเกี่ยวด้วยการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ
นายประพันธ์ ศิริวิริยะกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือกลุ่ม KTIS ผู้นำในอุตสาหกรรมน้ำตาลและอุตสาหกรรมต่อเนื่องครบวงจร เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้มีแผนขับเคลื่อน “โครงการนำร่องพัฒนาเกษตรแม่นยำสู่ธุรกิจอุตสาหกรรม 2 ล้านไร่” โดยมีอ้อยโรงงานเป็นหนึ่งในพืชเกษตรเป้าหมาย ในฐานะที่กลุ่ม KTIS เป็นผู้ประกอบการรายใหญ่อันดับต้นๆ ของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย ก็ได้รับการคัดเลือกให้เข้าร่วมเป็นโครงการนำร่องด้วย
ทั้งนี้ พื้นที่เป้าหมายเกษตรแปลงใหญ่อ้อยที่ทางกลุ่ม KTIS เข้าร่วมโครงการ ประกอบด้วยพื้นที่ 12 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดกำแพงเพชร สุโขทัย พิษณุโลก อุตรดิตถ์ พิจิตร เพชรบูรณ์ นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี สุพรรณบุรี และลพบุรี โดยมีพื้นที่รวม 46,868 ไร่ เกษตรกรจำนวน 1,493 ราย แยกเป็นที่เป็นเกษตรแปลงใหญ่อ้อยอยู่แล้ว 27 แปลง พื้นที่ 31,957 ไร่ มีจำนวนเกษตรกรสมาชิกแปลงใหญ่ 1,420 ราย และเป็นพื้นที่ของเกษตรกรเครือข่าย 14,911 ไร่ จำนวนเกษตรกร 73 ราย (ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นเกษตรแปลงใหญ่)
“โครงการพัฒนาเกษตรแม่นยำฯ นี้ จะส่งเสริมการรวมกลุ่มเกษตรกรเพื่อการถ่ายทอดองค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรมการผลิต โดยเริ่มจากการให้การอบรม และให้การสนับสนุนด้านต่างๆ ที่ช่วยให้ต้นทุนการผลิตลดลง ผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้น รวมทั้งคุณภาพอ้อยที่วัดจากค่าความหวานก็จะเพิ่มขึ้นด้วย โดยมีเป้าหมายสร้างผลผลิตต่อไร่เฉลี่ยมากกว่า 10 ตันต่อไร่ คุณภาพความหวาน 12 ซีซีเอส ขึ้นไป และตัดอ้อยสดคุณภาพดี ไม่มีสิ่งสกปรกปนเปื้อนส่งเข้าโรงงาน ซึ่งโรงงานน้ำตาลกลุ่ม KTIS มีเป้าหมายจะรับซื้ออ้อยเพิ่มขึ้นจากโครงการนี้จำนวน 730,000 ตัน หรือ 730 ล้านกิโลกรัม” นายประพันธ์ กล่าว
ทั้งนี้ เนื่องจากจะมีการนำเทคโนโลยีใหม่ เช่น โดรน เข้ามาใช้ในการถ่ายภาพ รวมถึงการฉีด พ่น หว่าน ดังนั้น จึงมีการจัดทำหลักสูตรการบินโดรนเพื่ออบรมให้กับเกษตรกร โดยจะมีแปลงสาธิตสำหรับการฝึกอบรมด้วย นอกจากนี้ จะมีการพัฒนาศักยภาพของพื้นที่ปลูกอ้อย โดยการตรวจวิเคราะห์และปรับปรุงความสมบูรณ์ของดิน และวิจัยพัฒนาหาแม่ปุ๋ยที่เหมาะสมกับดิน รวมไปถึงการจัดหาและพัฒนาแหล่งน้ำ ทั้งในเขตชลประทานและนอกเขตชลประทาน โดยได้วางเป้าหมายการขุดบ่อจำนวน 3,216 บ่อ
อย่างไรก็ตาม ในการจัดหาและพัฒนาแหล่งน้ำนั้นจะดูความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่หากมีน้ำไหลผ่านอาจจะสร้างฝาย ห้วย หรือทำสระน้ำ รวมไปถึงการขุดลอกคูคลอง และการใช้พลังงานโซล่าร์เซลในการสูบน้ำมาใช้ โดยโครงการพัฒนาเกษตรแม่นยำฯ จะทำให้ได้โมเดลต้นแบบตั้งแต่การพัฒนาดิน การป้องกันและกำจัดศัตรูพืช ไปจนกระทั่งการเก็บเกี่ยว ซึ่งจะต้องแบ่งชั้นคุณภาพ และประเมินผลผลิตก่อนการเก็บเกี่ยว โดยโมเดลต้นแบบนี้สามารถนำไปใช้กับไร่อ้อยแปลงอื่นๆ เพื่อให้ได้ผลผลิตอ้อยต่อไร่เพิ่มขึ้นและคุณภาพอ้อยสูงขึ้น