“ทริสฯ” อัพเครดิต NER สู่ BBB- แนวโน้ม Stable สะท้อนผลงานโต – อุตสาหกรรมยางฟื้น
“ทริสเรทติ้ง” อัพอันกับเครดิตเครดิตองค์กรของ NER มาที่ระดับ BBB- แนวโน้ม Stable สะท้อนผลงานของบริษัทที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง รวมถึงอุตสาหกรรมยางธรรมชาติฟื้นตัว
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เพิ่มอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท นอร์ทอีส รับเบอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ NER เป็นระดับ “BBB-” จากเดิมที่ระดับ “BB+” ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่”
ทั้งนี้ การเพิ่มอันดับเครดิตดังกล่าวสะท้อนถึงผลการดำเนินงานที่ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องของบริษัท ตลอดจนความคาดหวังว่าอุตสาหกรรมยางธรรมชาติจะฟื้นตัว และการบริหารต้นทุนที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นอันเนื่องมาจากการที่บริษัทมีการประหยัดต่อขนาดที่เพิ่มขึ้นจากการขยายโรงงาน
นอกจากนี้ อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงสถานะทางการตลาดของบริษัทในฐานะที่เป็นผู้ประกอบการขนาดกลางในธุรกิจยางธรรมชาติของประเทศไทยและผลงานที่ได้รับการยอมรับทั้งในด้านการผลิตและการจำหน่ายยางธรรมชาติอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม สถานะทางธุรกิจของบริษัทก็มีข้อจำกัดจากความผันผวนของราคายางธรรมชาติและอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา ตลอดจนการแทรกแซงจากรัฐบาล การกระจุกตัวของตลาด การมีฐานการผลิตเพียงแห่งเดียว รวมทั้งการแข่งขันจากผู้ประกอบการรายใหญ่ด้วยเช่นกัน
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
– ผลการดำเนินงานที่ปรับตัวดีขึ้น รายได้จากการดำเนินงานรวมของบริษัทเติบโตเป็น 1.64 หมื่นล้านบาทในปี 2563 หรือคิดเป็นอัตราเติบโตโดยเฉลี่ยต่อปีที่ระดับ 28% จากระดับ 6.1 พันล้านบาทในปี 2559 กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของบริษัทก็มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็น 1.2 พันล้านบาทในปี 2563 จาก 275-869 ล้านบาทในระหว่างปี 2559-2562
ส่วนอัตรากำไรขั้นต้นของบริษัทเติบโตมาอยู่ที่ระดับ 8.6%-10.5% ในระหว่างปี 2561-2563 จากระดับ 5.7%-7% ในระหว่างปี 2559-2560 จากการปรับสัดส่วนผลิตภัณฑ์ที่ดียิ่งขึ้นและต้นทุนวัตถุดิบยางธรรมชาติโดยเฉลี่ยที่ลดลง บริษัทรายงานผลกำไรสุทธิที่จำนวน 486-859 ล้านบาทในระหว่างปี 2561-2563 เมื่อเทียบกับจำนวน 10-224 ล้านบาทในระหว่างปี 2559-2560
ทั้งนี้ ในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2564 อัตรากำไรขั้นต้นของบริษัทเพิ่มขึ้นเป็น 11.5% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนซึ่งอยู่ที่ระดับ 10.8% แม้ว่าต้นทุนวัตถุดิบยางธรรมชาติปรับตัวเพิ่มขึ้นที่ระดับ 20% ในช่วงไตรมาสที่ 1 ของปี 2564 แต่ราคาจำหน่ายเฉลี่ยของยางธรรมชาติก็ปรับตัวเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกันโดยเพิ่มขึ้นมากกว่า 20% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปี 2563 ในการนี้ บริษัทสามารถบริหารจัดการต้นทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นอันเนื่องมาจากการมีการประหยัดต่อขนาดที่เพิ่มขึ้นจากการขยายโรงงานยางพารา
โดย ทริสเรทติ้ง คาดว่ายอดขายของบริษัทจะเติบโตอย่างต่อเนื่องในช่วงเวลาที่เหลือของปี 2564 จากการที่อุตสาหกรรมยานยนต์ค่อย ๆ ฟื้นตัวและภาวะเศรษฐกิจทั่วโลกที่เริ่มดีขึ้น อย่างไรก็ตาม อุปสงค์ในอุตสาหกรรมยานยนต์มีแนวโน้มที่จะเติบโตในอัตราเฉลี่ยต่อปีที่ลดลงในระหว่างปี 2565-2566 เนื่องจากสภาวะความไม่สมดุลของอุปสงค์และอุปทานที่คลายตัวลง
ทริสเรทติ้งคาดการณ์ว่ารายได้จากการดำเนินงานรวมของบริษัทในปี 2564 จะเติบโตอย่างแข็งแกร่งต่อไปที่ระดับ 44% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อนและจะปรับตัวลดลงที่ระดับ 6% ในปี 2565 ก่อนที่จะเติบโตเพิ่มขึ้นในอัตราที่ช้าลงที่ระดับ 2% ในปี 2566 นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งยังคาดว่าอัตรากำไรขั้นต้นของบริษัทจะคงอยู่ที่ระดับประมาณ 12% ในปี 2564 และจะลดลงมาอยู่ที่ระดับ10% ต่อปีในช่วงปี 2565-2566 และคาดว่าอัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายของบริษัทจะอยู่ที่ระดับประมาณ 10% ในปี 2564 และจะลดลงมาอยู่ที่ระดับ 7%-8% ต่อปีในช่วงปี 2565-2566
– อุตสาหกรรมยางธรรมชาติคาดว่าจะค่อย ๆ ปรับตัวดีขึ้น จากรายงานขององค์กรศึกษาเรื่องยางระหว่างประเทศ (International Rubber Study Group-IRSG) พบว่าในปี 2563 อุปทานและอุปสงค์ของยางธรรมชาติทั่วโลกปรับตัวลดลงในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19) ซึ่งส่งผลทำให้ราคายางธรรมชาติทั่วโลกปรับตัวลดลง อย่างไรก็ตาม ราคายางธรรมชาติโดยเฉลี่ยในผลิตภัณฑ์ทุกประเภทในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2564 ก็ปรับตัวเพิ่มขึ้นที่ระดับ 23%-43% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนจากการฟื้นตัวของอุปสงค์ในธุรกิจยานยนต์ ทั้งนี้ อุปสงค์ที่ปรับตัวสูงขึ้นนี้มีปัจจัยสนับสนุนจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลในหลาย ๆ ประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศจีน และจากอุปสงค์ที่แข็งแกร่งของน้ำยางข้นที่ใช้ในการผลิตถุงมือยางในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19
ทริสเรทติ้งคาดว่าอุตสาหกรรมยางธรรมชาติจะยังคงฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องในช่วงเวลาที่เหลือของปี 2564 โดยคาดว่าการบริโภคยางธรรมชาตินั้นจะเติบโตที่ระดับ 5.6% หรืออยู่ที่ระดับ 13.4 ล้านตันในปี 2564 ตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่เริ่มค่อย ๆ ฟื้นตัวกลับมาหลังการเปิดประเทศอีกครั้งและสต็อคยางธรรมชาติในตลาดหลัก ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศจีนที่ลดลง ทั้งนี้ การบริโภคน่าจะเติบโตได้อีกที่ระดับ 5.3% ในปี 2565 และ 4.7% ในปี 2566 นอกจากนี้ ผลผลิตยางธรรมชาติยังคาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นที่ระดับ 4.4% เป็น 13.5 ล้านตันในปี 2564 และที่ระดับ 5% ในปี 2565 และ 4.2% ในปี 2666 โดยที่การขาดดุลยางธรรมชาติมีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นตั้งแต่ในปี 2566 เป็นต้นไป
– เป็นผู้ประกอบการยางธรรมชาติขนาดกลาง บริษัทมีส่วนแบ่งทางการตลาดในแง่ของยอดขายผลิตภัณฑ์ยางธรรมชาติอยู่ที่ 3% ซึ่งใกล้เคียงกับผู้ผลิตยางธรรมชาติขนาดกลางส่วนใหญ่ ในขณะที่ผู้นำตลาดในประเทศไทยมีส่วนแบ่งทางการตลาดที่ประมาณ 8%-10% บริษัทมีรายได้อยู่ในระดับปานกลางที่ประมาณ 1.01-1.64 หมื่นล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2560-2563 โดยอยู่ในอันดับที่ 4 ของผู้ประกอบการยางธรรมชาติในประเทศไทย ทั้งนี้ บริษัทมีความสัมพันธ์ที่ยาวนานกับกลุ่มลูกค้าซึ่งส่วนใหญ่เป็นบริษัทขนาดกลางถึงขนาดใหญ่
– ภาระหนี้ทางการเงินมีแนวโน้มที่จะปรับลดลง ระดับภาระหนี้ของบริษัทถือว่าอยู่ในระดับปานกลาง โดยบริษัทมีอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนลดลงมาอยู่ที่ระดับ 58.1% ในปี 2563 และ 57.4% ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2564 เมื่อเปรียบเทียบกับระดับ 58.9% ในปี 2562 ซึ่งเกิดจากการที่บริษัทได้มีการชำระหนี้เงินกู้ยืมระยะสั้นและมีกำไรสะสมที่ปรับเพิ่มขึ้น
ภายใต้สมมติฐานของทริสเรทติ้คาดว่าค่าใช้จ่ายลงทุนของบริษัทจะอยู่ที่ระดับ 210-220 ล้านบาทต่อปีในระหว่างปี 2564-2565 และที่ระดับ 100 ล้านบาทในปี 2566 ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการลงทุนในการผลิตแผ่นปูรองนอนสัตว์เลี้ยง การติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ และการขยายกำลังการผลิตของโรงงานแปรรูปยางแท่งในปัจจุบัน ดังนั้น ทริสเรทติ้งจึงคาดว่าอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนของบริษัทจะคงอยู่ในระดับสูงที่ 62% ในปี 2564 และจะค่อย ๆ ลดลงมาอยู่ที่ระดับ 49%-61% ในระหว่างปี 2565-2566 ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งมีข้อสังเกตว่าบริษัทยังมีอัตราส่วนของระดับภาระหนี้ตามสิทธิการเรียกร้องอยู่ในระดับสูงถึง 83% ดังนั้น อันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของบริษัทจะถูกลดทอนอันดับเครดิตลงต่ำกว่าอันดับเครดิตองค์กร 1 ขั้น เพื่อสะท้อนความเสี่ยงเรื่องการด้อยสิทธิ์
– กระแสเงินสดเพื่อการชำระหนี้อยู่ในระดับที่เพียงพอ ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะยังคงมีสภาพคล่องที่เพียงพอในช่วงระยะ 12 เดือนข้างหน้า ในการนี้ บริษัทมีภาระหนี้ที่จะครบกำหนดชำระในช่วง 12 เดือนข้างหน้าที่จำนวน 123 ล้านบาท ภายใต้สมมติฐานกรณีพื้นฐานของทริสเรทติ้งคาดว่าเงินทุนจากการดำเนินงานของบริษัทจะอยู่ที่ระดับประมาณ 1.8 พันล้านบาทในช่วงระยะเวลาเดียวกัน โดย ณ เดือนมีนาคม 2564 บริษัทมีเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดทั้งสิ้นจำนวน 328 ล้านบาทและมีวงเงินสินเชื่อที่ยังไม่ได้เบิกใช้อยู่ทั้งสิ้นอีกจำนวน 1 พันล้านบาท
ในอนาคตทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินของบริษัทจะปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 20%-25% ในช่วงปี 2564-2566 จากระดับ 14%-19% ในช่วงระหว่างปี 2561-2563 ในขณะที่อัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายนั้นคาดว่าน่าจะอยู่ที่ระดับ 5-7 เท่าในช่วงปี 2564-2566 เมื่อเทียบกับระดับ 3-5 เท่าในระหว่างปี 2561-2563
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน
– รายได้ของบริษัทจะเติบโตที่ระดับ 44% ในปี 2564 และจะปรับตัวลดลง 6% ในปี 2565 และหลังจากนั้นจะปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็น 2% ในปี 2566
– อัตรากำไรขั้นต้นจะอยู่ที่ระดับประมาณ 10%-12% ต่อปีในระหว่างปี 2564-2566
– ค่าใช้จ่ายลงทุนจะอยู่ที่ระดับประมาณ 210-220 ล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2564-2565 และจะอยู่ที่ระดับ 100 ล้านบาทในปี 2566
ด้านแนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงความคาดหวังของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะยังคงรักษาความสามารถในการแข่งขันในธุรกิจยางธรรมชาติได้ต่อไปโดยที่บริษัทจะรักษาสถานะสภาพคล่องและสร้างความแข็งแกร่งของงบดุลให้เพียงพอที่จะรองรับผลกระทบจากความผันผวนของราคายางธรรมชาติได้
โดยปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง การปรับเพิ่มอันดับเครดิตยังคงมีจำกัดในระยะใกล้หลังจากการเพิ่มอันดับเครดิตในครั้งนี้ อย่างไรก็ตาม การปรับลดอันดับเครดิตสามารถเกิดขึ้นได้ในกรณีที่อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของบริษัทเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจนสูงกว่าระดับ 5 เท่าเป็นระยะเวลานาน ซึ่งกรณีดังกล่าวสามารถเกิดขึ้นได้หากอัตรากำไรของบริษัทลดลงอย่างมีนัยสำคัญซึ่งอาจเป็นผลมาจากการที่บริษัทไม่สามารถแบกรับต้นทุนวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้นได้ หรือหากอุปสงค์ยางล้อทั่วโลกลดลงอย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้ การลงทุนที่ใช้เงินกู้จำนวนมากที่อาจทำให้งบการเงินและกระแสเงินสดเพื่อการชำระหนี้ของบริษัทอ่อนแอลงก็จะเป็นปัจจัยลบต่ออันดับเครดิตของบริษัทด้วยเช่นกัน