3 บจ.รับเต็มมาตรการกระตุ้นอสังหาฯพรุ่งนี้โบรกฯเชื่อเศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นไตรมาส 4
โบรกฯมองผู้ประกอบการที่ึคาดว่าจะได้ประโยชน์จากมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ควรเป็นผู้ประกอบการที่มี Backlog สูงพร้อมโอนฯในอายุมาตรการ มีสต็อกบ้านสร้างเสร็จสูง และขายบ้านพร้อมอยู่ อาทิ SIRI, PS และ SPALI มองการเร่งเนินนโยบายของรัฐฯจะช่วยหนุนเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้ตั้งแต่ไตรมาส 4/58 เป็นต้นไป
บล.เอเซีย พลัส ระบุในบทวิเคราะห์ (5 ต.ค.) คาดหมายว่าการประชุม ครม. วันอังคารนี้ (6 ต.ค.) จะมีการพิจารณาเรื่องมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ และให้มีผลบังคับใช้ทันที ได้แก่ การลดค่าธรรมเนียมโอน-จดจำนองเหลือ 0.01% เป็นเวลา 6 เดือน พร้อมทั้งให้ ธอส. ขยายวงเงินสินเชื่อบ้านเป็น 1 หมื่นล้านบาท และปรับเงื่อนไขขยายเวลาปล่อยกู้เพิ่มเป็น 35-40 ปี จากเดิม 30 ปี
นอกจากนี้ ยังมีการเพิ่มสัดส่วนรายได้ของผู้กู้เพื่อใช้ในการคำนวณความสามารถในการผ่อนชำระ จาก 30% เป็น 50% ของรายได้ ทั้งนี้ หากมีการอนุมัติจริงเชื่อว่าจะมีส่วนช่วยทั้งผู้บริโภคที่จะสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อซื้อที่อยู่อาศัยง่ายขึ้น ในส่วนของผู้ประกอบการพัฒนาที่อยู่อาศัยจะได้รับประโยชน์เช่นกัน โดยฝ่ายวิจัยประเมินว่า Backlog จำนวน 2.4 แสนล้านในมือของผู้บริษัทจดทะเบียน 15 ราย จะสามารถโอนฯได้ง่ายขึ้น ส่วนการปรับลดค่าธรรมเนียมการโอนฯจะทำให้ผู้ประกอบการมี Profit Margin ก่อนภาษีเพิ่มขึ้นราว 0.6%
ขณะที่ผู้ซื้อประหยัดค่าธรรมเนียมการโอนฯ ลงได้ราว 0.6% ของราคาขายบ้านเช่นกัน นอกจากนี้ผู้ที่กู้เงินซื้อบ้านก็ยังประหยัดค่าจดจำนองได้อีก 0.9% ของเงินกู้ซื้อบ้านอีกด้วย สำหรับผู้ประกอบการที่น่าจะได้ประโยชน์จากมาตรการดังกล่าวมากที่สุด ควรเป็นผู้ประกอบการที่มี Backlog สูงพร้อมโอนฯในอายุมาตรการ มีสต็อกบ้านสร้างเสร็จสูง และ/หรือ ขายบ้านพร้อมอยู่ อาทิ SIRI (FV@B 2.13), PS ([email protected]) และ SPALI (FV@B 27.57) ทั้งนี้ หากพิจารณาเพิ่มเติมในแง่ของ Upside, PER และ Div. Yield จะพบว่า SPALI ค่อนข้างโดดเด่นกว่า จึงเลือก SPALI เป็น top pick
ด้านนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจอื่นที่ได้มีการออกมาก่อนหน้านี้ ทั้งการปล่อยกู้กองทุนหมู่บ้าน, จัดสรรเงินให้เปล่า 7,000 ตำบลเพื่อให้เกิดการจ้างงาน และเร่งรัดโครงการลงทุนขนาดเล็กไม่เกิน 1 ล้านบาทและมาตรการช่วยเหลือ SME แม้ว่า ธปท. จะประเมินว่ามาตรการดังกล่าวช่วยหนุนเศรษฐกิจในไตรมาส 4/58 ได้เพียง 0.1% แต่จะเริ่มส่งผลตั้งแต่ไตรมาส 1/59 ก็ตาม แต่ฝ่ายวิจัยยังเชื่อว่าการเร่งรัดดำเนินนโยบายของรัฐบาลน่าจะช่วยหนุนเศรษฐกิจไทยให้ฟื้นตัวได้ตั้งแต่ไตรมาส 4/58 เป็นต้นไป