RATCH ชงผถห.ปิดดีล 3 โรงไฟฟ้า 3.1 หมื่นลบ. หนุนกำลังผลิตเพิ่ม 1 พันเมกฯ

RATCH เตรียมขอผู้ถือหุ้นอนุมัติเข้าลงทุน 3 โรงไฟฟ้าในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ มูลค่ารวมกว่า 3.1 หมื่นล้านบาท หนุนกำลังผลิตเพิ่มขึ้นอีก 1 พันเมกะวัตต์


นายกิจจา ศรีพัฑฒางกุระ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ RATCH เปิดเผยว่า ในช่วงที่เหลือของปีนี้ บริษัทเตรียมจัดประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น (EGM) เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าไพตัน ประเทศอินโดนีเชีย กำลังการผลิตราว 900 เมกะวัตต์ มูลค่ารวม 25,421 ล้านบาท

รวมถึงเตรียมปิดดีลซื้อกิจการโรงไฟฟ้าอีก 2 ดีล ในไตรมาส 4/64 ได้แก่ โรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนในประเทศอินโดนีเซีย มูลค่า 1,500 ล้านบาท และโรงไฟฟ้าพลังงานเชื้อเพลิงธรรมชาติและชีวมวลในไทย อีกราว 4,500 ล้านบาท

ทั้งนี้ หากดีลทั้งหมดประสบผลสำเร็จจะทำให้บริษัทฯ มีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 1,000 เมกะวัตต์ โดยวางงบลงทุนรวมทั้ง 3 ส่วนดังกล่าวไว้ที่ 31,000 ล้านบาท และส่งผลให้สิ้นปีนี้ RATCH จะมีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 9,000 เมกะวัตต์ จากปัจจุบันอยู่ที่ 8,292 เมกะวัตต์ ถือว่าเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ว่าจะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นราวปีละ 700 เมกะวัตต์

นายกิจจา กล่าวว่า ภายใต้กลยุทธ์และเป้าหมายการดำเนินงานของ RATCH จากนี้ไปยังคงมุ่งเน้นในธุรกิจผลิตไฟฟ้า ซึ่งเป็นธุรกิจหลักของบริษัท และเปิดกว้างการลงทุนในธุรกิจที่มีรายได้มั่นคง หรือใกล้เคียงกับธุรกิจโรงไฟฟ้า รวมถึงธุรกิจใหม่ที่มีศักยภาพการเติบโตในอนาคต

“ปัจจุบันแผนการดำเนินงานของบริษัทฯ ก็มุ่งเน้นใน 3 เรื่อง 1. การสร้างการเติบโตทางธุรกิจ ผ่านการเพิ่มกำลังผลิต การลงทุนธุรกิจใหม่ๆ ตลอดจนการสร้างมูลค่ากิจการให้เพิ่มขึ้น 2.การขยายเครือข่ายพันธมิตร เพื่อเกื้อหนุนการเติบโตของธุรกิจ และ 3. การให้ความสำคัญกับ ESG เพื่อเดินหน้าไปสู่แนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน” นายกิจจา กล่าว

ทั้งนี้ RATCH ตั้งเป้าหมายในปี 68 จะมีกำลังการผลิตเพิ่มเป็น 10,000 เมกะวัตต์ จากปัจจุบันอยู่ที่ 8,292 เมกะวัตต์ จากการขยายการลงทุนอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังกำหนดเป้าหมายมูลค่ากิจการไว้ที่ประมาณ 120,000 ล้านบาท จากปัจจุบันอยู่ที่ 120,830 ล้านบาท ซึ่งการลงทุนในลักษณะการเข้าซื้อกิจการ (M&A) จะช่วยให้มูลกิจการของบริษัทเพิ่มขึ้นได้อย่างรวดเร็ว

รวมถึงบริษัทยังได้กระจายการลงทุนไปยังโครงการระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานและธุรกิจอื่นที่มีแนวโน้มการเติบโตสูงในระยะยาว โดยกำหนดเป้าหมายไว้ปีละ 5% ของงบลงทุน อีกทั้งยังสามารถสร้างฐานธุรกิจในต่างประเทศ ซึ่งเป็นกลไกทำให้การขยายและต่อยอดการลงทุนมีความคล่องตัวและมีประสิทธิภาพ ได้แก่ สปป.ลาว ออสเตรเลีย อินโดนีเซีย และเวียดนาม เป็นต้น

สำหรับโครงสร้างการลงทุนของบริษัท ปัจจุบันได้กำหนดสัดส่วนไว้ที่ 80% เป็นธุรกิจผลิตไฟฟ้า และอีก 20% เป็นธุรกิจระบบสาธารณูปโภค และอื่นๆ ขณะที่ปัจจุบันมีกำลังการผลิตอยู่ที่ 8,292 เมกะวัตต์ แบ่งเป็น กำลังการผลิตในประเทศ 63% และ ต่างประเทศ 37% ซึ่งในส่วนนี้เป็นพลังงานทดแทน 15% โดยคาดการณ์ว่าในปี 68 จะมีการลงทุนในต่างประเทศเพิ่มขึ้นประมาณ 50% เพื่อสอดรับกับเป้าหมายการเพิ่มรายได้จากต่างประเทศ 50% โดยมองการขยายไปยังประเทศอื่นๆ เพิ่มเติม เช่น ไต้หวัน บังคลาเทศ ฟิลิปปินส์ เป็นต้น

อีกทั้งในปี 68 จะเพิ่มกำลังการผลิตพลังงานทดแทนให้ได้ประมาณ 25% หรือ 2,500 เมกะวัตต์ โดยปัจจุบันก็อยู่ระหว่างการเจรจาอยู่หลายโครงการ

ส่วนความคืบหน้าการก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้าหินกอง ต.หินกอง อ.เมือง จ.ราชบุรี ซึ่งเป็นโครงการโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมที่ใช้ก๊าซธรรมชาติ เป็นเชื้อเพลิงหลัก ขนาดกำลังการผลิต 1,400 เมกะวัตต์ (MW) แบ่งเป็น 2 เครื่อง เครื่องละ 700 เมกะวัตต์ ตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า โดยมีกำหนดเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ (COD) ในปี 67 และปี 68 ตามลำดับ ยังคงเป็นไปตามแผนงานที่วางไว้เดิม

นายกิจจา กล่าวว่า ตนเองจะเกษียณอายุการทำงานในวันที่ 30 ก.ย.64 โดยจะส่งมอบตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ ให้แก่นางสาวชูศรี เกียรติขจรกุล ซึ่งจะเข้ารับตำแหน่งในวันที่ 1 ต.ค.นี้

ด้านนางสาวชูศรี เกียรติขจรกุล ว่าที่กรรมการผู้จัดการใหญ่ RATCH กล่าวว่า จากการวางแนวทางการดำเนินธุรกิจของ RATCH ในหลายๆ ด้านในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา จากนี้จะเข้ามาสารต่อภารกิจต่างๆ โดยแบ่งเป็น 3 ภารกิจหลัก ประกอบด้วย

1.การสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน ในธุรกิจ ผลิตไฟฟ้าและเกี่ยวเนื่อง โดยสารต่อการลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าให้บรรลุเป้าหมาย 700 เมกะวัตต์ต่อปี และลงทุนธุรกิจใหม่ในปีนี้ เช่น ขยายการลงทุนโครงการโรงไฟฟ้า SPP IPS และพลังงานทดแทนในประเทศ, เจรจาการลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าไพตัน และโครงการพลังงานทดแทนในอินโดนีเซีย คาดว่าจะปิดดีลได้ในสิ้นปี 64, เดินหน้าพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนในสปป.ลาวและเวียดนาม และการร่วมทุนธุรกิจเดินเครื่องและบำรุงรักษาโรงไฟฟ้าในอินโดนีเซีย อย่างไรก็ตามในส่วนของธุรกิจผลิตไฟฟ้าและเกี่ยวเนื่องนี้ บริษัทฯ จะเข้าไปทำ M&A โดยมุ่งเน้นในโครงการที่เป็น Brownfield Greenfield เนื่องจากสามารถรับรู้รายได้เข้ามาทันที

ด้านธุรกิจระบบ สาธารณูปโภคพื้นฐานและอื่นๆ บริษัทฯ จะร่วมมือกับพันธมิตรเพื่อพัฒนาธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับสุขภาพ โดยที่ผ่านมสก็ได้ดำเนินการไปแล้วคือ ธุรกิจบริการด้านสุขภาพ หรือเฮลท์แคร์ , การเข้าร่วมประมูลโครงการสาธารณูปโภคพื้นฐาน (PPP Scheme) ของภาครัฐ และการลงทุนด้านนวัตกรรมร่วมกับกลุ่มการไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) โดยการดำเนินธุรกิจดังกล่าวจะมุ่งเน้นการเข้าไปร่วมลงทุน (JV)

2.รักษาสภาพคล่องและสถานะทางการเงินให้มีความมั่นคง สามารถรองรับการลงทุนในอนาคต และสร้างผลตอบแทนแก่ผู้ถือหุ้น โดยการบริหารและวางแผนการเงินเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องดำเนินการควบคู่ไปกับการลงทุน เพื่อให้เป้าหมายกำลังการผลิต 10,000 เมกะวัตต์ และมูลค่ากิจการ 200,000 ล้านบาท บรรลุผลสำเร็จ

โดยจะนำความรู้และประสบการณ์เข้ามาเสริมในการบริหารการลงทุนการเงิน ครอบคลุมตั้งแต่การจัดการประสิทธิภาพการใช้งบลงทุน การจัดหาแหล่งเงินทุนหรือเครื่องมือทางการเงินที่มีต้นทุนสมเหตุสมผลและเหมาะกับลักษณะของโครงการสำหรับรองรับการลงทุนในช่วง 5 ปีข้างหน้า ตลอดจนการบริหารจัดการผลตอบแทนหรือรายได้ของกิจการที่ลงทุนอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้มั่นใจว่ากระแสเงินสดของบริษัทมีความมั่นคงและแข็งแกร่ง

3.สานต่อและผลักดันกิจกรรม การดำเนินงานที่สนับสนุนเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจก 25% ในปี 68 ได้แก่ การเพิ่มกำลังการผลิตพลังงานทดแทน 250 เมกะวัตต์ต่อปี ในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำ, โครงการพลังงานแสงอาทิตย์ (Floating, Rooftop), โครงการพลังงานลมและโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวล รวมถึงสานต่อและขยายผลโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจมาตรฐานประเทศไทย

Back to top button