ทายาท IVL ทุ่ม 800 ล้านฮุบ TPAC

“อานุช โลเฮีย” ทายาทยักษ์ใหญ่ IVL นั่งแท่นผู้ถือหุ้นใหญ่ TPAC หลังซื้อหุ้น-วอร์แรนต์ จาก MODERN ยกเซ็ท 100 ล้านหุ้น มูลค่ารวมกว่า 800 ล้านบาท งานนี้รอลุ้นบริษัทพ่อลูกจับมือลุยธุรกิจร่วมกัน


จากกรณีที่ นายอานุช โลเฮีย และคามา อินเวสเมนท์ส ลิมิเต็ด (QAMA Investment Limited) ได้เข้าซื้อหุ้น บริษัท พลาสติคและหีบห่อไทย จำกัด (มหาชน) หรือ TPAC จำนวน 100 ล้านหุ้น คิดเป็น 47.90% ของทุนชำระแล้ว เป็นเงิน 780 ล้านบาท อีกทั้ง ยังเข้าซื้อใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญ (วอร์แรนต์) จำนวน 20 ล้านหน่วย เป็นเงิน 56 ล้านบาท โดยเป็นการซื้อจากบริษัท โมเดอร์นฟอร์มกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ MODERN ทั้งหมด

ดีลดังกล่าวส่งผลให้ นายอานุช โลเฮีย และคามา อินเวสเมนท์ส ลิมิเต็ด กลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของ TPAC อย่างเต็มตัว ขณะที่ตัว TPAC เอง ได้รับผลดีจากกรณีดังกล่าวเช่นกัน เนื่องจากกลุ่ม IVL เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจ สินค้าบรรจุภัณฑ์ต่างๆ ที่เกี่ยวกับพลาสติกอยู่แล้ว ซึ่งสอดคล้องกับตัวธุรกิจของ TPAC ในบางหน่วยธุรกิจ ซึ่งอาจอนุมานได้ว่า ในอนาคตจะเห็นความร่วมมือที่แน่นแฟ้นกว่าเดิม

“ในเบื้องต้นการเข้าซื้อหุ้นดังกล่าวแม้จะยังไม่มีนัยยะสำคัญเกี่ยวข้องกับ IVL แต่ด้วยความเป็นมืออาชีพและประสบการณ์ที่มากกว่าระดับประเทศของทีมผู้บริหารจะช่วยยกระดับให้ TPAC ได้มากกว่าที่เป็นอยู่”

โดย นายอานุช โลเฮีย ผู้เข้าซื้อหุ้น TPAC นั้นเป็นบุตรของนายอาลก โลเฮีย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด (มหาชน) หรือ IVL บริษัทผู้ประกอบการ 4 ผลิตภัณฑ์หลัก ได้แก่ 1) เม็ดพลาสติก 2) เส้นใยและเส้นด้ายโพลีเอสเตอร์ 3) ธุรกิจพลาสติก และ 4) ธุรกิจด้ายจากขนสัตว์ และมีโรงงานผลิตทั้งในประเทศไทยและในต่างประเทศ ยังติดอันดับรายชื่ออภิมหาเศรษฐีพันล้านดอลลาร์ของโลกจากนิตยสารฟอร์บส์ ซึ่งมีทรัพย์สินเป็นมูลค่า 1,900 ล้านดอลลาร์ ติดอันดับที่ 683 ของโลก

อนึ่งบริษัท TPAC เป็นผู้ประกอบการบรรจุภัณฑ์พลาสติกเครื่องอุปโภค-บริโภค, เครื่องสำอางและเวชภัณฑ์ รวมถึงเครื่องมืออื่นๆ โดยบริษัทได้รับการรับรองมาตรฐาน ISO 9001:2000 ตั้งแต่ปี  2546 ภายหลังการรับรองมาตรฐาน ISO 9002  และได้นำการบริหารการผลิต GMP (Good Manufacturing Practice) รวมถึง HACCP (Hazard Analysis and Critical Control Point) ซึ่งใช้ในอุตสาหกรรมอาหารและยา มาเป็นแนวทางขั้นพื้นฐานของการผลิตของบริษัท

นอกจากนี้ยังได้ขยายการตรวจสอบในขั้นตอนการผลิตเพื่อมอบให้กับลูกค้าในอุตสาหกรรม ที่มีต้องการความสะอาดและปลอดเชื้อ เช่น การสุ่มตรวจการเพาะเชื้อเป็นระบบ และการนำเครื่องมือ อุปกรณ์ทดสอบต่างๆ แม่พิมพ์และเครื่องจับยึด (Jig and Fixture) ที่ได้พัฒนาและปรับปรุงจนกลายเป็นอุปกรณ์พิเศษ และ Know-How ที่มีเฉพาะใน TPAC เท่านั้น

 

ขณะที่ ราคาหุ้น TPAC ปิดวานนี้ (14 ต.ค.) ที่ 8.80 บาท ลบ 0.10 บาท เพิ่มขึ้น 1.12% มูลค่าซื้อขาย 38.47 ล้านบาท ขณะที่ดัชนีตลาดหุ้นไทยโดยรวมลบ 0.11%

Back to top button