รวม 9 หุ้นยอดแย่ ผลงาน Q3 สุด Fail
เผยชื่อ 9 หุ้นผลงาน Q3/58 สุด Fail พลิกขาดทุนเกิน 2 เท่าตัว! ขณะที่ไตรมาสสุดท้ายของปีเป็นช่วงที่เศรษฐกิจที่ซบเซา ไม่เอื้ออำนวยต่อธุรกิจ มองว่าเป็นไปได้ยากที่ผลประกอบการ-ราคาหุ้นจะปรับตัวกลับมาดีอีกครั้ง
“ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” ได้ทำการสำรวจบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ทั้งตลาด เอ็ม เอ ไอ (mai) และ SET ในช่วงประกาศผลประกอบการไตรมาส 3 ปี 2558 ที่เสร็จสิ้นไปเมื่อวันที่ 16 พ.ย.ที่ผ่านมา โดยใช้เกณฑ์คัดเลือกจากหุ้นที่ผลการดำเนินงานไตรมาส 3 ปี 2558 พลิกขาดทุนเกิน 2 เท่าตัว จากไตรมาสเดียวกันในปีก่อน ซึ่งมีทั้งหมด 9 บริษัทดังนี้
อันดับ 1 บริษัท เพิ่มสินสตีลเวิคส์ จำกัด (มหาชน) หรือ PERM รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 3/58 สิ้นสุดวันที่ 30 ก.ย.58 (รวมบริษัทย่อย) มีผลขาดทุนสุทธิ 49.64 ล้านบาท หรือขาดทุนสุทธิ 0.099 บาทต่อหุ้น เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 2.4 ล้านบาท หรือมีกำไรสุทธิ 0.005 ต่อหุ้น
สำหรับผลการดำเนินงานช่วง 9 เดือนแรกขาดทุนสุทธิ 167.60 ล้านบาท หรือ 0.335 บาทต่อหุ้น จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 57.59 ล้านบาท หรือมีกำไรสุทธิ 0.116 บาทต่อหุ้น
โดยผลการดำเนินงานไตรมาส 3 ที่พลิกขาดทุน เนื่องจากบริษัทขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา หลังจากค่าเงินบาทมีภาวะอ่อนค่าลงตามภาวะเศรษฐกิจของโลก
ขณะที่ราคาหุ้นบริษัท เพิ่มสินสตีลเวิคส์ จำกัด (มหาชน) หรือ PERM ปิดวานนี้อยู่ที่ 1.20 บาท ลบ 0.04 บาท หรือ 3.23% สูงสุด 1.24 บาท ต่ำสุด 1.20 บาท มูลค่าการซื้อขาย 0.45 ล้านบาท
อันดับ 2 บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ WHA รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 3/58 สิ้นสุดวันที่ 30 ก.ย.58 (รวมบริษัทย่อย) พลิกขาดทุนสุทธิ 52.74 ล้านบาท ขาดทุนต่อหุ้น 0.0039 บาท เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 5.24 ล้านบาท กำไรต่อหุ้น 0.0005 บาท
สำหรับผลการดำเนินงาน 9 เดือน 2558 มีกำไรสุทธิ 168.79 ล้านบาท กำไรต่อหุ้น 0.0135 บาท เพิ่มขึ้น 159.88% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อนมีกำไรสุทธิ 64.95 ล้านบาท กำไรต่อหุ้น 0.0066 บาท
โดยผลการดำเนินงานไตรมาส 3 ที่พลิกขาดทุนเนื่องจากต้นทุนค่าเช่าและบริการและต้นทุนขายอสังหาริมทรัพย์เพิ่มขึ้น
ขณะที่ราคาหุ้นบริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ WHA ปิดวานนี้อยู่ที่ 3.10 บาท ลบ 0.16 บาท หรือ 4.91% สูงสุด 3.32 บาท ต่ำสุด 3.10 บาท มูลค่าการซื้อขาย 460.84 ล้านบาท
อันดับที่ 3 บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 3/58 สิ้นสุดวันที่ 30 ก.ย.58 (รวมบริษัทย่อย) มีผลขาดทุนสุทธิ 9.90 พันล้านบาท หรือขาดทุนสุทธิ 4.54 บาทต่อหุ้น เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 1.09 พันล้านบาท หรือมีกำไรสุทธิ 0.50 บาทต่อหุ้น
สำหรับผลการดำเนินงานช่วง 9 เดือนแรกขาดทุนสุทธิ 1.81 หมื่นล้านบาท หรือ 8.30 บาทต่อหุ้น ขาดทุนเพิ่มขึ้น 97% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ขาดทุนสุทธิ 9.21 พันล้านบาท หรือ 4.22 บาทต่อหุ้น
โดยผลการดำเนินงานไตรมาส 3 ที่พลิกขาดทุนเนื่องจาก รายได้ของบริษัทลดลง (ค่าโดยสารลดลง 6.9% ค่าระวางขนส่งลดลง 25%) จากการแข่งขัน และค่าธรรมเนียมชดเชยค่าน้ำมันลดลง
ขณะที่ราคาหุ้นบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI ปิดวานนี้อยู่ที่ 9.85 บาท ลบ 0.10 บาท หรือ 1.01% สูงสุด 10.10 บาท ต่ำสุด 9.80 บาท มูลค่าการซื้อขาย 18.10 ล้านบาท
อันดับที่ 4 บริษัท โมโน เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) หรือ MONO รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 3/58 สิ้นสุดวันที่ 30 ก.ย.58 (รวมบริษัทย่อย) มีผลขาดทุนสุทธิ 96.13 ล้านบาท หรือขาดทุนสุทธิ0.031 บาทต่อหุ้น เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 18.52 ล้านบาท หรือมีกำไรสุทธิ0.006 บาทต่อหุ้น
สำหรับผลการดำเนินงานช่วง 9 เดือนแรกมีผลขาดทุนสุทธิ 358.05 ล้านบาท หรือขาดทุนสุทธิ 0.116 บาทต่อหุ้น เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 65.36 ล้านบาท หรือมีกำไรสุทธิ 0.021 บาทต่อหุ้น
โดยผลการดำเนินงานไตรมาส 3 ที่พลิกขาดทุนเนื่องจากค่าใช้จ่ายทางการตลาด และค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับ Content ที่เพิ่มขึ้น
ขณะที่ราคาหุ้นบริษัท โมโน เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) หรือ MONO ปิดวานนี้อยู่ที่ 2.10 บาท บวก 0.04 บาท หรือ 1.94% สูงสุด 2.16 บาท ต่ำสุด 2.06 บาท มูลค่าการซื้อขาย 33.07 ล้านบาท
อันดับที่ 5 บริษัท น้ำตาลครบุรี จำกัด (มหาชน) หรือ KBS รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 3/58 สิ้นสุดวันที่ 30 ก.ย.58 (รวมบริษัทย่อย) มีผลขาดทุนสุทธิ 88.94 ล้านบาท หรือขาดทุนสุทธิ 0.15 บาทต่อหุ้น เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 22.56 ล้านบาท หรือมีกำไรสุทธิ 0.04 บาทต่อหุ้น
สำหรับผลการดำเนินงานช่วง 9 เดือนแรกมีกำไรสุทธิ 139.64 ล้านบาท หรือ 0.23 บาทต่อหุ้น ลดลง 63% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 379.41 ล้านบาท หรือ 0.68 บาทต่อหุ้น
โดยผลการดำเนินการช่วง 3 เดือนพลิกขาดทุน เนื่องจากบริษัทได้รับผลกระทบจากราคาน้ำตาลที่ลดลง รวมถึงส่วนต่างระหว่างน้ำตาลทราบขาวและน้ำตาลทรายดิบ (White Premium) ที่ลดลงตามตลาดโลก
ขณะที่ราคาหุ้นบริษัท น้ำตาลครบุรี จำกัด (มหาชน) หรือ KBS ปิดวานนี้อยู่ที่ 6.90 บาท ลบ 0.10 บาท หรือ 1.43% สูงสุด 7.05 บาท ต่ำสุด 6.90 บาท มูลค่าการซื้อขาย 4.78 ล้านบาท
อันดับที่ 6 บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ PTTEP รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 3/58 สิ้นสุดวันที่ 30 ก.ย.58 (รวมบริษัทย่อย) มีผลขาดทุนสุทธิ 4.62 หมื่นล้านบาท หรือขาดทุนสุทธิ 11.46 บาทต่อหุ้น เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 1.53 หมื่นล้านบาท หรือมีกำไรสุทธิ 3.83 ต่อหุ้น
สำหรับผลการดำเนินงานช่วง 9 เดือนแรกขาดทุนสุทธิ 3.63 หมื่นล้านบาท หรือ 9.11 บาทต่อหุ้น จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 4.59 หมื่นล้านบาท หรือมีกำไรสุทธิ 11.52 บาทต่อหุ้น
โดยผลการดำเนินงานที่พลิกขาดทุน เนื่องจากการบริษัทรับรู้ขาดทุนจากการด้อยค่าของสินทรัพย์ นอกจากนี้ ค่าใช้จ่ายภาษีเงินได้เพิ่มขึ้น
ขณะที่ราคาหุ้นบริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ PTTEP ปิดวานนี้อยู่ที่ 70.75 บาท ลบ 0.75 บาท หรือ 1.05% สูงสุด 72.25 บาท ต่ำสุด 70.25 บาท มูลค่าการซื้อขาย 239.11 ล้านบาท
อันดับที่ 7 บริษัท เนชั่น อินเตอร์เนชั่นแนล เอ็ดดูเทนเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือNINE รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 3/58 สิ้นสุดวันที่ 30 ก.ย.58 (รวมบริษัทย่อย) มีผลขาดทุนสุทธิ 2.92 ล้านบาท หรือขาดทุนสุทธิ 0.017บาทต่อหุ้น เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 2.80ล้านบาท หรือมีกำไรสุทธิ 0.016บาทต่อหุ้น
สำหรับผลการดำเนินงานช่วง 9 เดือนแรกมีผลขาดทุนสุทธิ 9.89ล้านบาท หรือขาดทุนสุทธิ 0.058บาทต่อหุ้น ขาดทุน เพิ่มขึ้น 776% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีผลขาดทุนสุทธิ 1.13ล้านบาท หรือขาดทุนสุทธิ 0.007บาทต่อหุ้น
โดยผลการดำเนินงานไตรมาส 3 ที่พลิกขาดทุน เนื่องจากรายได้จากการให้บริการลดลง 14% สาเหตุจากรายได้จากการรับจ้างผลิต จำหน่าย และบริการอื่นจากสื่อสิ่งพิมพ์ต่างประเทศลดลง 3% นอกจากนี้รายได้จากการขายโฆษณาและรับจ้างผลิตรายการในทีวีดิจิตอลลดลง 41%
ขณะที่ราคาหุ้นบริษัท เนชั่น อินเตอร์เนชั่นแนล เอ็ดดูเทนเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ NINE ปิดวานนี้อยู่ที่ 2.92 บาท ลบ 0.02 บาท หรือ 0.68% สูงสุด 2.96 บาท ต่ำสุด 2.90 บาท มูลค่าการซื้อขาย 0.19 ล้านบาท
อันดับที่ 8 บริษัท ธีระมงคล อุตสาหกรรม จำกัด (มหาชน) หรือ TMI รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 3/58 สิ้นสุดวันที่ 30 ก.ย.58 (รวมบริษัทย่อย) มีผลขาดทุนสุทธิ 4.53 ล้านบาท หรือขาดทุนสุทธิ 0.009 บาทต่อหุ้น เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 4.41 ล้านบาท หรือมีกำไรสุทธิ 0.009 ต่อหุ้น
สำหรับผลการดำเนินงานช่วง 9 เดือนแรกขาดทุนสุทธิ 7.84 ล้านบาท หรือ 0.015 บาทต่อหุ้น จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 5.42 ล้านบาท หรือมีกำไรสุทธิ 0.012 บาทต่อหุ้น
โดยผลการดำเนินงานไตรมาส 3 ที่พลิกขาดทุน เนื่องจากรายได้ลดลงจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวทั้งในและนอกประเทศ
ขณะที่ราคาหุ้นบริษัท ธีระมงคล อุตสาหกรรม จำกัด (มหาชน) หรือ TMI ปิดวานนี้อยู่ที่ 1.10 บาท บวก 0.01 บาท หรือ 0.92% สูงสุด 1.10 บาท ต่ำสุด 1.08 บาท มูลค่าการซื้อขาย 0.05 ล้านบาท
อันดับที่ 9 บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 3/58 สิ้นสุดวันที่ 30 ก.ย.58 (รวมบริษัทย่อย) ขาดทุนสุทธิ 2.66 หมื่นล้านบาท หรือขาดทุนสุทธิ 9.14 บาทต่อหุ้น เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 2.66 หมื่นล้านบาท หรือมีกำไรสุทธิ 9.30 บาทต่อหุ้น
สำหรับผลการดำเนินงานช่วง 9 เดือนแรกมีกำไรสุทธิ 1.97 หมื่นล้านบาท หรือมีกำไรสุทธิ 6.94 บาทต่อหุ้น ลดลง 86% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 8.45 หมื่นล้านบาท หรือมีกำไร 29.54 บาทต่อหุ้น
โดยผลการดำเนินงานในไตรมาสดังกล่าวที่พลิกเป็นขาดทุน เนื่องจากการรับรู้ขาดทุนจากการด้อยค่าสินทรัพย์ของ PTTEP อีกทั้งจากราคาน้ำมันดิบและผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีอ้างอิงปรับตัวลดลงจากไตรมาสก่อนหน้า ส่งผลให้บริษัทในเครือกลุ่มปิโตรเคมีและการกลั่น มีผลการดำเนินงานลดลงจากค่าการกลั่นทางบัญชี (Accounting GRM) ลดลง ด้วยงวดนี้มีผลขาดทุนจากสต๊อกน้ำมัน รวมทั้งผลต่างของราคาผลิตภัณฑ์กับวัตถุดิบ (Spread Margin) ของธุรกิจปิโตรเคมีปรับตัวลดลงโดยเฉพาะกลุ่มผลิตภัณฑ์อะโรเมติกส์
ขณะที่ราคาหุ้นบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT ปิดวานนี้อยู่ที่ 263.00 บาท ลบ 8.00 บาท หรือ 2.95% สูงสุด 272.00 บาท ต่ำสุด 263.00 บาท มูลค่าการซื้อขาย 2,585.15 ล้านบาท
อนึ่ง การที่บริษัทจดทะเบียนดังกล่าวมีผลประกอบการขาดทุนในไตรมาสนี้ ส่งผลให้แนวโน้มไตรมาสสุดท้ายของปีกลับมามีกำไรได้ยาก เนื่องจากภาวะเศรษฐช่วงสิ้นปียังคงซบเซา ไม่เอื้ออำนวยต่อธุรกิจหลายประเภท อีกทั้งยังมีปัจจัยลบจากต่างประเทศ อาทิ การขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเศรษฐกิจของประเทศจีนก็ยังเป็นปัจจัยที่กดดันต่อตลาดหุ้นไทยด้วย จึงมีความเป็นไปได้สูงที่ราคาหุ้นของบริษัทจดทะเบียนเหล่านี้อาจปรับตัวลงสะท้อนผลประกอบการที่ย่ำแย่ในช่วงท้ายปี
*ทั้งนี้ข้อมูลที่มีการนำเสนอข้างต้น เป็นเพียงข้อแนะนำจากข้อมูลพื้นฐานเพื่อประกอบการตัดสินใจของนักลงทุนเท่านั้น มิได้เป็นการชี้นำ หรือเสนอแนะให้ซื้อหรือขายหลักทรัพย์ใดๆ การตัดสินใจซื้อหรือขายหลักทรัพย์ใดๆ ของผู้อ่าน ไม่ว่าจะเกิดจากการอ่านบทความนี้หรือไม่ก็ตาม ล้วนเป็นผลจากการใช้วิจารณญาณของผู้อ่าน