SUPER-GUNKUL หนาว กองทัพบกถอนตัวชิงโซลาร์ฟาร์มส่วนราชการ
SUPER-GUNKUL โดนหางเลข หลังกองทัพบกถอนตัวชิงโซลาร์ฟาร์มส่วนราชการฯ แม้ผ่านคุณสมบัติ 11 โครงการ
SUPER-GUNKUL โดนหางเลข หลังกองทัพบกถอนตัวชิงโซลาร์ฟาร์มส่วนราชการฯ แม้ผ่านคุณสมบัติ 11 โครงการ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กองทัพบกประกาศถอนตัวเข้าร่วมเสนอขายไฟฟ้าโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน สำหรับหน่วยงานราชการและสหกรณ์ภาคการเกษตร (โซลาร์ฟาร์มส่วนราชการฯ) ระยะที่ 1 จำนวน 600 เมกะวัตต์ หลังหน่วยงานในสังกัดกองทัพบกผ่านคุณสมบัติเพื่อเข้าร่วมจับสลากเป็นผู้เสนอขายไฟฟ้าในโครงการดังกล่าว จำนวน 11 โครงการ เนื่องจากโครงการดังกล่าวยังไม่ได้เป็นไปตามขั้นตอนการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ
โดยเอกสารของกองทัพบก ระบุว่าตามที่ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ได้อนุมัติให้ ผบ.หน่วยเจ้าของโครงการ เป็นผู้ยื่นเอกสารสมัครเข้าร่วมโครงการดังกล่าว ตลอดจนมีอำนาจลงนามหรือแก้ไขเอกสารต่างๆ รวมทั้งการกระทำใดๆ ที่เกี่ยวข้องแทน ผบ.ทบ.นั้น ต่อมาเมื่อคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้ประกาศรายชื่อโครงการฯที่ผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติ ซึ่งในส่วนของกองทัพบกมีโครงการผ่านการตรวจคุณสมบัติจำนวน 11 โครงการ
แต่เนื่องจากโครงการดังกล่าวยังไม่ได้รับอนุมัติหลักการของโครงการและผลการศึกษาคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน โดยไม่ใช้วิธีการประมูลจากรมว.กลาโหม โดยสำนักงานเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ส่งเรื่องคืนตามสายงาน และให้เหตุผลตามข้อพิจารณาของกรมพระธรรมนูญ (ธน.) ว่า การดำเนินโครงการฯของกองทัพบก ไม่เป็นไปตามขั้นตอนของประกาศคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการให้เอกชนร่วมลงทุนในโครงการที่มีวงเงินมูลค่าต่ำกว่าที่กำหนดในมาตรา 23 แห่งพ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ.2556 ซึ่งจะส่งผลให้กองทัพบกไม่สามารถลงนามในสัญญาร่วมลงทุน
รวมทั้งเป็นประเด็นอ่อนไหวที่อาจส่งผลกระทบต่อกองทัพบกในอนาคต ดังนั้น ผบ.ทบ.จึงสั่งการให้หน่วยเจ้าของโครงการ ที่ผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติจากกกพ.จำนวน 11 โครงการสละสิทธิ์และไม่จัดผู้แทนหน่วยเข้าร่วมในขั้นตอนการจับสลากของ กกพ.ที่จะมีขึ้นต่อไป
ขณะที่นายวีระพล จิรประดิษฐกุล หนึ่งในกกพ. และโฆษก กกพ. กล่าวว่า “ยังไม่ทราบเรื่องดังกล่าว แต่หากกองทัพบกสละสิทธิก็จะทำให้จำนวนผู้เสนอขายไฟฟ้าที่จะเข้าจับสลากในวันที่ 22 ธ.ค.นี้น้อยลง”
อนึ่ง หากมีการยกเลิกโครงการดังกล่าว อาจส่งผลกระทบต่อบริษัทที่มีงานกับกองทัพบก ได้แก่บริษัท ซุปเปอร์บล๊อก จำกัด (มหาชน) หรือ SUPER ซึ่งบริษัทย่อยได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงโครงการผลิตไฟฟ้า พลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 4 เมกกะวัตต์ กับกองทัพบก จำนวน 2 โครงการ รวม 8 เมกกะวัตต์ ซึ่งโครงการตั้งอยู่ที่อำเภอบ่อพลอย จังหวัดกาญจนบุรี
และบริษัท กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ GUNKUL ซึ่งบริษัทย่อย (GUNKUL ถือหุ้นในสัดส่วน 75%) ได้เซ็นสัญญาบันทึกข้อความเข้าใจ (MOU) กับกองทัพบก ร่วมพัฒนาโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน สำหรับหน่วยงานราชการและสหกรณ์การเกษตร จำนวน 2 โครงการ แบ่งเป็นโครงการละ 4 เมกะวัตต์ โครงการตั้งอยู่ที่ค่ายเขตอุดมศักดิ์ จังหวัดชุมพร รวม 8 เมกะวัตต์