BECL-BMCL อนุมัติแผนควบรวมรุกอาเซียนภายใต้ BEM เทรด 5 ม.ค.59

BECL-BMCL อนุมัติแผนควบรวมรุกอาเซียนภายใต้ BEM เทรด 5 ม.ค.59 ชูความแข็งแกร่งทางการเงิน BEM จะมีสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง มีกระแสเงินสดในมือสูง มีต้นทุนดอกเบี้ยที่ต่ำลง หลังควบรวมจะมีอัตราหนี้สินต่อทุน (D/E) ต่ำเพียง 1.3 เท่า ทำให้สามารถกู้เงินจากสถาบันการเงินมาลงทุนได้อีกมาก


บริษัท ทางด่วนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BECL และบริษัท รถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BMCL แจ้งว่าที่ประชุมผู้ถือหุ้นร่วมระหว่างผู้ถือหุ้นของ BECL และ BMCL เมื่อวันที่ 28 ธ.ค.58 ได้พิจารณาเรื่องต่างของบริษัทใหม่ที่จะเกิดจากการควบรวมกิจการ โดยที่ประชุมอนุมัติให้ใช้ชื่อบริษัทใหม่ที่เกิดจากการควบรวมว่า บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน)  โดยใช้ชื่อย่อหลักทรัพย์ว่า BEM

รวมถึงอนุมัติทุนจดทะเบียนและทุนชำระแล้วของบริษัทใหม่จำนวน 15,285,000,000 บาท แบ่งออกเป็นหุ้นสามัญ 15,285,000,000 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1 บาท และอนุมัติการจัดสรรหุ้นสามัญของบริษัทใหม่ให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมของ BECL และ BMCL ในอัตราส่วน 1 หุ้นเดิมใน BECL ต่อ 8.65537841 หุ้นในบริษัทใหม่ และ 1 หุ้นเดิมใน BMCL ต่อ 0.42050530 หุ้นในบริษัทใหม่

โดยปัจจุบันหุ้น BECL และ BMCL ได้หยุดซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ตั้งแต่ 21 ธ.ค.58 ขณะที่ BEM ถือเป็นหุ้นเติบโต (Growth Stock) และหุ้นปันผล (Dividend Stock) ในบริษัทเดียวกัน ล่าสุดได้รับการคัดเลือกเข้ารวมคำนวณในดัชนี MSCI Global Index แล้ว และมีโอกาสสูงที่เข้าไปซื้อขายในดัชนี SET 50 ทำให้เป็นที่สนใจของกองทุนและนักลงทุนทั้งในและนอกประเทศเป็นอย่างมาก

 

ด้านนายปลิว ตรีวิศวเวทย์ ประธานกรรมการบริหาร BECL และ BMCL เปิดเผยว่า ที่ประชุมผู้ถือหุ้นร่วมระหว่าง BECL และ BMCL มีมติเห็นชอบเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวกับบริษัทใหม่ที่จะเกิดจากการควบและให้ดำเนินการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทใหม่ในวันที่ 30 ธ.ค. 2558 และหุ้น BEM จะซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์อย่างเป็นทางการในวันที่ 5 ม.ค.59 นี้

บัดนี้ BEM เกิดขึ้นได้อย่างเป็นทางการแล้ว ถือเป็นการแจ้งเกิดบริษัทที่มีความแข็งแกร่ง มีศักยภาพและความพร้อมในทุกๆด้าน ที่จะเป็นผู้นำธุรกิจคมนาคมของประเทศไทยที่ให้บริการประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ ทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อส่วนรวมเป็นอย่างมาก”นายปลิว กล่าว

ที่ผ่านมาทั้ง BECL และ BMCL ถือเป็นผู้นำในธุรกิจของตนอยู่แล้ว คือ ระบบทางด่วน และระบบรถไฟฟ้า BECL มีสัมปทานระบบทางด่วนที่รับผิดชอบอยู่ระยะทางกว่า 88 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ในเมืองและปริมณฑลได้แก่ โครงการทางพิเศษศรีรัช (ทางด่วนขั้นที่ 2) ส่วนเอ (พระราม 9-รัชดาภิเษก) ส่วนบี (พญาไท-บางโคล่) ส่วนซี (รัชดาภิเษก-แจ้งวัฒนะ) ส่วนดี (พระราม 9-ศรีนครินทร์) โครงการทางพิเศษ  อุดรรัถยา ระยะที่ 1 (แจ้งวัฒนะ-เชียงราก) และระยะที่ 2 (เชียงราก-บางไทร) และโครงการทางพิเศษสายศรีรัช-วงแหวนรอบนอก (หมอชิต-ฝั่งธนฯ) ส่วน BMCL มีสัมปทานระบบรถไฟฟ้าสายสำคัญในเมือง คือ สายเฉลิมรัชมงคล(สีน้ำเงิน) และสายสีม่วง ช่วงบางใหญ่-เตาปูน และที่อยู่ระหว่างรอคณะรัฐมนตรีเห็นชอบ คือ สายสีน้ำเงิน ช่วงเตาปูน-บางซื่อ เมื่อควบรวมกันแล้วสัมปทานทั้งหมดจะโอนไปเป็นของ BEM รวมทั้งรายได้ ทรัพย์สิน หนี้สิน และความรับผิดชอบทั้งหมดด้วย

 

นายปลิว กล่าวว่า BEM จะมีความแข็งแกร่ง ศักยภาพ และความพร้อมทั้งด้านการเงิน บุคลากร การให้บริการมากกว่า BECL และ BMCL อย่างชัดเจน ทำให้ธุรกิจของบริษัทมีการเติบโต และแข็งแกร่งอย่างยั่งยืน โดยแผนธุรกิจของ BEM จะมีธุรกิจหลัก 3 ประเภท คือ 1.ระบบราง (Rail Business) ได้แก่ ระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน (Mass Transit) ระบบรถไฟความเร็วสูง (High Speed Train) ระบบรถไฟทางคู่ (Double Tracked Train) 2.ระบบถนน (Road Business) ได้แก่ ระบบทางด่วน(Expressway) ทางพิเศษระหว่างเมือง (Motorway) 3.การพัฒนาเชิงพาณิชย์ (Commercial Development) ได้แก่ การบริหารพื้นที่เชิงพาณิชย์ โฆษณา ระบบสื่อสารโทรคมนาคม

รวมถึงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ สัดส่วนรายได้ในช่วงแรกของทางด่วนจะมากกว่ารถไฟฟ้าอยู่บ้าง หลังจากนั้นรายได้จากรถไฟฟ้าจะมากขึ้นเรื่อยๆ จนมากกว่าทางด่วนหลังปี 2560 ไปแล้ว ส่วนธุรกิจพัฒนาเชิงพาณิชย์จะเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ตั้งเป้าว่าจะมีสัดส่วนรายได้ประมาณ 10-15%                  

ปี 59 จะเป็นปีทองของ BEMเพราะจะเปิดให้บริการโครงการทางพิเศษสายศรีรัช-วงแหวนรอบนอก ระยะทาง 17 กิโลเมตร ในช่วงเดือนกรกฎาคม 59 และโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางใหญ่-เตาปูน ระยะทาง 22 กิโลเมตร ในเดือนสิงหาคม 59 ทั้ง 2 สัญญาเปิดให้บริการแก่ประชาชนก่อนกำหนดในสัญญา ทำให้ BEM มีรายได้และกำไรเร็วขึ้นและเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดในช่วงครึ่งปีหลังของปี 59 ส่วนกลยุทธ์ธุรกิจด้านอื่นๆ ของ BEM ได้เตรียมการไว้หมดแล้ว

ทั้งการเข้าแข่งขันประมูลในโครงการระบบคมนาคมของประเทศไทยในรูปแบบการร่วมลงทุนระหว่างรัฐ-เอกชน (PPP) ที่รัฐบาลกำลังเร่งรัด ทั้งรถไฟฟ้าสายสีต่างๆ เช่น สายสีส้ม สายสีชมพู สายสีเหลือง สายสีน้ำเงินและม่วงต่อขยาย Airport Link ส่วนต่อขยาย รวมทั้งรถไฟความเร็วสูงเส้นทางต่างๆ ระบบทางด่วน และ Motorway

การเสริมความแข็งแกร่งทางการเงิน BEM จะมีสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง มีกระแสเงินสดในมือสูง มีต้นทุนดอกเบี้ยที่ต่ำลง หลังควบรวมจะมีอัตราหนี้สินต่อทุน (D/E) ต่ำเพียง 1.3 เท่า ทำให้สามารถกู้เงินจากสถาบันการเงินมาลงทุนได้อีกมาก มีความคล่องตัวในการดำเนินธุรกิจเป็นอย่างมาก ส่วนด้านบุคลากรเรามีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องอยู่แล้วสามารถขยายตัวเพื่อรองรับงานในอนาคตได้ทันที โดย BEM จะขยายธุรกิจไปสู่ตลาดในระดับอาเซียนด้วย”นายปลิวกล่าว

Back to top button