“กีรติ” ย้ำชัด! ไม่ปรับ Minimum Guarantee แม้ “คิง เพาเวอร์” เลื่อนจ่าย 18 เดือน

กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ AOT ยืนยันไม่ปรับลด Minimum Guarantee แม้ "คิง เพาเวอร์" เลื่อนจ่ายผลตอบแทน 18 เดือน พร้อมย้ำมี Bank Guarantee ป้องกันความเสี่ยงทางการเงิน หากคู่สัญญามีปัญหา


นายกีรติ กิจมานะวัฒน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. (AOT) ให้สัมภาษณ์ในรายการ ข่าวหุ้นเจาะตลาด วันนี้ (17 ก.พ.68) เกี่ยวกับกรณีที่นักลงทุนมีความกังวลงบการเงินของ AOT หลังบริษัท คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด ที่เป็นคู่สัญญามีปัญหาสภาพคล่องและเจรจาขอเลื่อนการชำระค่าตอบแทน Minimum Guarantee เป็นเวลา 18 เดือน ระหว่างเดือนสิงหาคม 2567 – กรกฎาคม 2568 ว่า AOT มีสัญญากับ คิง เพาเวอร์ จำนวน 2 สัญญาหลัก คือ 1. ดิวตี้ฟรี (Duty Free) และ 2. การพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ โดยทางคิง เพาเวอร์ ได้ชี้แจงถึงการเลื่อนจ่ายผลตอบแทนมาว่าได้รับผลกระทบตั้งแต่สถานการณ์โควิด-19 และยังคงมีอยู่ต่อเนื่อง เพราะจำนวนผู้โดยสารยังไม่กลับเข้าสู่ปกติ ประกอบกับความผันผวนของเศรษฐกิจโลก ทำให้ยอดการใช้จ่ายลดลง

ทั้งนี้ ทอท. ได้มีมาตรการลดผลกระทบที่เกิดจากข้อกำหนด Minimum Guarantee ให้กับทาง คิง พาวเวอร์ อยู่แล้ว เพราะสัญญาที่มีต่อกัน มีข้อกำหนดส่วนแบ่งรายได้ และ Minimum Guarantee คือ ถ้ายอดขายของ คิง พาวเวอร์ ไม่ถึง Minimum Guarantee ทางคิง พาวเวอร์ ต้องจ่ายในจำนวนที่ Minimum Guarantee ซึ่งตรงนี้ยังเป็นวิกฤติต่อเนื่อง เพราะที่ผ่านมา คิง พาวเวอร์ จ่าย Minimum Guarantee ให้กับ ทอท. คิดเป็นประมาณกว่า 30% ของยอดขาย ตรงนี้เป็นภาระทางการเงินที่น่าเป็นห่วง เพราะว่าการมี Minimum Guarantee สูงมาก ทำให้โอกาสที่จะกำไรหรือป้องกันการขาดทุนมีได้ยาก โดยในปี 2566 คิง พาวเวอร์ รายงานผลขาดทุน 650 ล้านบาท พร้อมต้องจ่ายค่าปรับจากการผิดนัดชำระในอัตรา 18%

“เราถือ Bank Guarantee อยู่ฉะนั้นการเลื่อนใด ๆ ก็ตาม รวมเบี้ยปรับแล้วต้องไม่เกิน Bank Guarantee หมายความว่า เราเองมั่นใจว่า ถ้าถึงเวลาแล้วเกิดเหตุใด ๆ ขึ้นมาแล้วทางบริษัท (คิง พาวเวอร์) บอกว่าไม่มีจ่าย เรามี Bank Guarantee อยู่” กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ AOT กล่าว

ส่วนแนวโน้มในการยกเลิกสัญญา นายกีรติ กล่าวว่า ต้องถามกลับว่าการยกเลิกสัญญาในสภาวะธุรกิจแบบนี้เป็นผลดีกับ AOT หรือไม่ ปัจจุบันมีการรายงานยอดขายตรงกับ AOT อยู่แล้ว ไม่มีทางไปซุกไว้ ว่าจริง ๆ กำไรแต่มารายงานว่าขาดทุน เป็นไปไม่ได้เลย ในเมื่อเห็นสภาพธุรกิจเป็นแบบนี้ จ่ายไม่ดีจึงมองการยกเลิกสัญญา ถ้าไปถึงขั้นนั้นตนว่า AOT เสียหายมากกว่า เรื่องแรกถ้ายกเลิกสัญญาไปประมูลใหม่ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 6 เดือน สมมุติได้เจ้าใหม่ ต้องทำร้านใหม่ ทำทุกอย่างใหม่ ต้องใช้เวลาอีกเท่าไหร่ และเวลาที่เป็น Nonperforming หรือช่วงเวลาเดดแอร์ตรงนี้ ตีเป็นมูลค่าเสียหายหลายหมื่นล้านบาท ฉะนั้นในแง่ของการบริหารธุรกิจ AOT ต้องทำทุกอย่างให้ “ลูกค้า” อยู่ได้

“คิง เพาเวอร์ เป็นลูกค้าเราเจ้าหนึ่ง เพราะเราเหมือนกับ…เราเป็นห้าง ถ้าลูกค้าที่มาเช่าพื้นที่เราอยู่เขาอยู่ไม่ได้ ตัวห้างก็อยู่ไม่ได้เหมือนกัน” กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ AOT กล่าว

นายกีรติ ขยายความด้วย Minimum Guarantee กว่า 30% ดังกล่าวข้างต้นนั้น ยังขึ้นอยู่กับยอดขายแต่ละเดือนด้วย ซึ่งสูงกว่าส่วนแบ่งรายได้อย่างมีนัยสำคัญ เป็นสิ่งที่เอกชนเสนอเข้ามาเองตั้งแต่การประมูล ยืนยัน AOT จะไม่มีการปรับเปลี่ยน  Minimum Guarantee อีกแล้ว สถานการณ์โควิดเป็นเหตุที่เกิดขึ้นทั่วโลก ไม่ใช่เฉพาะ AOT แต่ทุกสนามบินทั่วโลกก็ทำแบบนี้ เพราะในแง่หนึ่งเราให้เช่าพื้นที่ขายของ เมื่อสนามบินเปิด มีคนเข้าปกติแล้วก็ต้องจ่ายเงินตามสัญญา

“อยู่ดี ๆ บอกวันนี้ร้านปิดและจะเก็บค่าเช่าได้ไหม หลักการเดียวกัน ไม่ใช่บอกว่า ไม่ว่าจะเหตุการณ์ใด ๆ คุณต้องจ่ายเท่านี้ คำว่า Minimum Guarantee คือ Business operate as usual คุณจ่ายเท่านี้ คราวนี้สัญญานี้ตอนนี้ Business operate แล้วเราถึงไม่มีมาตรการเพิ่มเติมไปลด Minimum Guarantee ให้เขาเพราะนี่คือสิ่งที่เขาบิด (Bid) เข้ามา” กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ AOT กล่าว

นายกีรติ ประเมินว่า การทำธุรกิจของคิง เพาเวอร์ ขึ้นอยู่กับ “ลูกค้า” ซึ่งคือนักท่องเที่ยวและผู้เดินทาง ซึ่งจากเทรนด์ของ “ผู้โดยสาร” การเติบโตเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมายังเกิดขึ้น เมื่อเทียบปริมาณผู้โดยสารช่วงฤดูหนาวที่แล้วกับฤดูหนาวปีนี้สูงขึ้น 22% ซึ่งเป็นตัวเลขสำคัญ และคาดการณ์ปริมาณผู้โดยสาร ช่วงฤดูหนาวปี 2568 ต่อเนื่องปี 2569 ก็จะยังคงเติบโตต่อเนื่องไปอีก ฉะนั้นเมื่อปริมาณผู้โดยสารกลับไปใกล้เคียงปริมาณผู้โดยสารที่เคยวางแผนกันไว้ เมื่อตอนที่ประมูลในปี 2562 ดังนั้นธุรกิจดำเนินการได้ตามปกติแล้ว เพราะคิง เพาเวอร์ ดำเนินธุรกิจภายใต้ Minimum Guarantee คือจ่ายในปริมาณผู้โดยสารทั้งหมด ซึ่งลดลงจากความเป็นจริง ส่วนต้นทุนคงที่ (Fixed Cost) ต่าง ๆ ก็เท่าเดิม ไม่ว่าจะมีคนเข้ามา 66 ล้านคน หรือ 60 ล้านคน AOT จึงมองว่าการเติบโตของปริมาณผู้โดยสารจะเป็นทางออกที่ทำให้การใช้จ่ายกลับมาเกิดขึ้น ซึ่งตอนนี้การใช้จ่ายก็ยังเป็นบวกอย่างต่อเนื่อง

กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ AOT กล่าวถึงการเติบโตของปริมาณนักท่องเที่ยวที่เดินทางมายังประเทศไทย แม้ว่านักท่องเที่ยวจากจีนจะลดลงเหลือ 76-77% จากช่วงก่อน แต่ก็มีนักท่องเที่ยวจากประเทศอื่น ๆ เช่น อินเดีย รัสเซีย และไต้หวัน เข้ามาทดแทน ซึ่งทำให้ธุรกิจการท่องเที่ยวยังสามารถเดินหน้าต่อไปได้ นอกจากนี้ยังกล่าวถึงยอดขายดิวตี้ฟรีที่เติบโตตามจำนวนผู้โดยสารที่เข้ามา แม้ว่าการใช้จ่ายต่อหัวจะยังคงมีความท้าทาย เนื่องจากพฤติกรรมการซื้อของของแต่ละชาติแตกต่างกัน เช่น คนยุโรปและคนจีนมีแนวโน้มการซื้อของที่ไม่เหมือนกัน ซึ่งเป็นประเด็นที่ต้องได้รับการดูแลและผลักดันต่อไป ทั้งนี้ คิง พาวเวอร์ก็พยายามปรับตัวในหลาย ๆ ส่วนเพื่อให้อยู่ได้ พยายามปรับการขายจากที่ตอนนี้รัฐไม่ให้ขายผู้โดยสารขาเข้า

นายกีรติ ยืนยันด้วยว่า รายได้ของ AOT ไม่แผนที่จะลดลง เพราะเก็บ Minimum Guarantee จำนวนผู้โดยสารขึ้นอย่างต่อเนื่อง ย้ำมองว่าธุรกิจนี้เดินได้ รายได้เทียบปีต่อปี ขึ้น 17% และเข้าใจตลาดหุ้นฯ ที่วิตกกังวลเมื่อมีการเลื่อนจ่ายผลตอบแทน แต่การเลื่อนจ่ายนี้มี Bank Guarantee ครอบคลุมอยู่ ต้องถามว่า Downside ที่ AOT จะเสี่ยงคืออะไร จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะยกเลิกธุรกิจนี้

กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ AOT กล่าวถึงการลดค่าปรับผิดนัดชำระ ในอัตรา 18% เหลือ 9% ว่า กว่า 70 บริษัทที่มีสัญญากับ AOT มีประเด็นนี้เหมือนกัน ว่าในส่วนเบี้ยปรับสูง ทาง AOT จึงมาพิจารณาว่า ดอกเบี้ยผิดนัดชำระของกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ อยู่ที่ 5% เท่านั้น และดอกเบี้ยอื่น ๆ ที่เป็นเบี้ยปรับก็ไม่ถึง 18% ตรงนี้ในธุรกิจเราต้นทุนทางการเงินของ AOT อยู่ที่ 3 – 4% ดังนั้นการมีเบี้ยปรับ ที่ 9% คือการปรับโครงสร้างหนี้ เหมือนธนาคารที่ให้ลูกค้ารีไฟแนนซ์

“คุณได้ 18% อยู่ดี ๆ ทำไมคุณมาอยากได้ 9% ตรงนี้ไม่ใช่เรายินยอมว่าจะได้ ธุรกิจเราไม่ใช่การค้ากำไรจากดอกเบี้ยตรงนี้ ไม่ว่าจะ 18 หรือ 9 คือมาตรการที่ทำให้คนที่ต้องจ่ายเงินให้กับเรา เขาพยายามจะจ่ายเงินได้ให้ตรงงวด” นายกีรติ กล่าว และย้ำว่าอัตราค่าปรับไม่ใช่ต้นทุนทางการเงินของ AOT  ซึ่งต้องชำระค่าปรับให้ตรงเวลาทุกเดือน ทั้งนี้ AOT ยังคงบันทึกรายได้ตามสัญญาเต็มจำนวน

ส่วนถ้าถึงปี 2572 คิง เพาเวอร์ไม่สามารถจ่ายผลตอบแทนได้ตามสัญญา AOT จะยึด Bank Guarantee ทันทีหรือไม่นั้น กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ AOT กล่าวว่า ก็ว่ากันไปตามหลักการของสัญญา และย้ำว่า เป็นปกติของธุรกิจที่จะมีการขอเลื่อนจ่าย และเป็นไปไม่ได้ที่จะไปยึดเพื่อให้ธุรกิจล้มละลาย Bank Guarantee มีไว้เพื่อความปลอดภัยของ AOT

นายกีรติ กล่าวด้วยว่า ขณะนี้ยังไม่มีกลุ่มทุนใดติดต่อเข้ามาพูดคุยกับ AOT เพื่อขอทำธุรกิจดิวตี้ฟรีแทนที่คิง เพาเวอร์ และยืนยันว่าไม่อยากให้มีการยกเลิกสัญญาและเปิดประมูลใหม่ เพราะเชื่อว่าการประมูลใหม่จะไม่สามารถได้ Bank Guarantee ในระดับที่คิง เพาเวอร์ได้เสนอมา ทั้งนี้เราทำอะไรไม่ได้มากกว่านี้ เพราะ AOT เป็นรัฐวิสาหกิจ

ส่วนจะปรับ Minimum Guarantee ไม่ต้องสูงเท่านี้ได้หรือไม่นั้น กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ AOT ถามกลับว่า ผู้ตัดสินการประมูลคือ AOT แล้วจะให้ AOT ทำอย่างไร ถ้าคนหนึ่งบอกจะจ่ายให้พันล้าน อีกคนบอกว่าจะจ่ายให้ 500 ล้านบาทก็ต้องเอาพันล้านบาทใช่หรือไม่

Back to top button