เปิดเมนู 3 หุ้นพิมพ์นิยม รับออเดอร์ตปท.อื้อซ่า!

TU-CPF-GFPT เตรียมรับทรัพย์ หลังสถาบันอาหารชี้ภาคส่งออกอาหารไทยปีนี้แตะ 9.5 แสนล้านบาท โตไม่ต่ำกว่าปีละ 5% ฟันปีนี้ออเดอร์ทูน่ากระป๋อง-ไก่-กุ้งพุ่งปรี๊ด รับออเดอร์ทะลักหลังรุกขยายตลาดตปท.


TU-CPF-GFPT เตรียมรับทรัพย์ สถาบันอาหารชี้มูลค่าส่งออกอาหารไทยปีนี้แตะ 9.5 แสนล้านบาท โตไม่ต่ำกว่าปีละ 5% ฟันปีนี้ออเดอร์ทูน่ากระป๋อง-ไก่-กุ้งพุ่งปรี๊ด รับออเดอร์ทะลักหลังรุกขยายตลาดตปท.

 

นายยงวุฒิ เสาวพฤกษ์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร เปิดเผยว่า แนวโน้มการส่งออกสินค้าอาหารไทยในปี 2559 นั้น คาดว่าจะมีมูลค่า 950,000 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้น 5.8% โดยมีปัจจัยสนับสนุน ได้แก่ นโยบายการเปิดตลาดใหม่ของภาครัฐ เช่น ตะวันออกกลาง, แผนงานและโครงการพัฒนาเศรษฐกิจและกระตุ้นการลงทุนของภาครัฐ, เศรษฐกิจที่ขยายตัวจากการค้าและการลงทุนในกลุ่มประเทศ CLMV ส่งผลทำให้มีความต้องการสินค้าอุปโภคบริโภคเพิ่มขึ้น และสินค้าอาหารไทยได้รับความเชื่อมั่นด้านคุณภาพและมาตรฐานความปลอดภัย พร้อมตั้งเป้าการส่งออกสินค้าอาหารของไทยจะเติบโตปีละไม่ต่ำกว่า 5%

ทั้งนี้สินค้าส่งออกหลักจำนวน 8 สินค้าที่คาดว่าจะมีสัดส่วนส่งออก 58% ของสินค้าอาหารส่งออกทั้งหมด จำแนกเป็น ข้าว 15.8% ปริมาณ 9 ล้านตัน มูลค่า 150,500 ล้านบาท, ไก่ 9.5% ปริมาณ 7.2 แสนตัน มูลค่า 90,600 ล้านบาท, น้ำตาลทราย 9.5% ปริมาณ 7.5 ล้านตัน มูลค่า 90,200 ล้านบาท, ปลาทูน่ากระป๋อง 7.8% ปริมาณ 6.2 แสนตัน มูลค่า 74,166 ล้านบาท, กุ้ง 6.7% ปริมาณ 1.9 แสนตัน มูลค่า 63,200 ล้านบาท, แป้งมันสำปะหลัง 4.3% ปริมาณ 2.90 ล้านตัน มูลค่า 40,600 ล้านบาท, เครื่องปรุงรส 2.3% ปริมาณ 3.2 แสนตัน มูลค่า 21,700 ล้านบาท และสับปะรดกระป๋อง 2.1% ปริมาณ 5.4 ล้านตัน มูลค่า 20,220 ล้านบาท

ขณะที่ กลุ่มสินค้าที่คาดว่าการส่งออกจะขยายตัวเพิ่มขึ้นทั้งปริมาณและมูลค่า ได้แก่ ไก่” จะเพิ่มขึ้นราว 3% จากตลาดญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ซึ่งเป็นตลาดใหม่ส่วนสินค้าที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น 10% ได้แก่ ปลาทูน่ากระป๋อง โดยต้องพิจารณาปัจจัยเสี่ยงสำคัญคือ ราคาวัตถุดิบทูน่าแช่แข็ง ซึ่งมีต้นทุนมากกว่า 50% ของการผลิต โดยจะอิงกับราคาเชื้อเพลิงเป็นหลัก ขณะที่ กุ้ง ประเทศคู่แข่งหลายประเทศ เช่น เวียดนาม อินเดีย กำลังประสบปัญหาโรคระบาด จึงเป็นโอกาสของไทยในการดึงส่วนแบ่งตลาดที่เสียไปกลับคืนมา

 

อนึ่ง ผู้ประกอบการส่งออกอาหารไทยที่คาดว่าจะได้รับผลดีจากประเด็นดังกล่าวมีดังนี้

อันดับที่ 1 บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TU โดยนักวิเคราะห์ บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส ระบุในบทวิเคราะห์ว่า TU มีกำไรหลักไตรมาส 4/58 เพิ่มก้าวกระโดดถึง 119.4% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อนเป็น 1.5 พันล้านบาท เนื่องจากอัตรากำไรทำได้สูงขึ้นดี อีกทั้งมีรายการพิเศษคือ การด้อยค่าสินทรัพย์คือเรือ และค่าใช้จ่ายซื้อ Bumble Bee ทำให้กำไรสุทธิลดลงกว่ากำไรหลักเป็น 758 ล้านบาท แต่ถือว่าเพิ่ม 8.5% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อนและ 53% เทียบไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งเป็นไปตามฤดูกาล

ขณะที่ประกาศจ่ายปันผลครั้งสุดท้ายปี 58 ที่ 0.31 บาท XD 7 มี.ค.59 และจ่ายปันผล 21 เม.ย.59 หากนับปันผลระหว่างกาลที่ 0.32 บาท คิดเป็นอัตราการจ่ายปันผลปี 58 ที่ 56.7% ทั้งนี้แนะนำ ซื้อ กำหนดราคาพื้นฐานไว้ที่ 22.30 บาท

ขณะที่ราคาหุ้น TU ปิดวานนี้ที่ 19.20 บาท ลบ 0.20 บาท หรือ 1.03% มูลค่าซื้อขายที่ 135.49 ล้านบาท มีอัพไซด์จากราคาเป้าหมาย 16.15%

 

อันดับที่ 2 บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF โดยนักวิเคราะห์ บล.โนมูระ พัฒนสิน ระบุในบทวิเคราะห์ ว่ามีมุมมองเชิงบวกกับ CPF ซึ่งคาดว่าจะมีผลการดำเนินงานดีขึ้นตั้งแต่ไตรมาส 1/59 ทั้งต้นทุนลดลง ราคาไก่-หมูดีขึ้น ธุรกิจกุ้งค่อยๆ ดีขึ้น และคาดกำไรปกติในปี 59 ฟื้นตัวมาอยู่ที่ 5,900 ล้านบาท

ส่วนงบไตรมาส 4/58 คาดกำไรปกติลดลงเทียบไตรมาสก่อนหน้าเป็น low season แต่ฟื้นตัวเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน เพราะราคาถั่วเหลืองที่ลดลงช่วยลดต้นทุน ประกอบกับ CPF ปรับโครงสร้างธุรกิจกุ้งได้เรียบร้อยแล้ว แนะนำทยอยซื้อ ด้วยเป้าหมาย 25.30 บาท ทั้งนี้คาดว่า CPF น่าจะมีดีล M&A อีกในปี 59 เพื่อช่วยเร่งให้ยอดขายโตตามเป้าหมายปีละ 10%

ขณะที่ราคาหุ้น CPF ปิดวานนี้ที่ 19.20 บาท ไม่เปลี่ยนแปลง มูลค่าซื้อขายที่ 256.97 ล้านบาท มีอัพไซด์จากราคาเป้าหมาย 31.71%

 

อันดับที่ 3 บริษัท จีเอฟพีที จำกัด (มหาชน) หรือ GFPT โดยนักวิเคราะห์ บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส ระบุบทวิเคราะห์ว่า แนวโน้มกำไรไตรมาส 1/59 ของ GFPT จะเติบโตได้ดีเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (ไตรมาส 1/58 กำไรสุทธิเป็นฐานต่ำที่ 218 ล้านบาท)โดยจุดเด่นของ GFPT คือมีการบริหารต้นทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ทำกำไรได้แม้ในช่วงอุตสาหกรรมตกต่ำมากเพราะปัญหา Oversupply ขณะที่บริษัทมีรายได้ที่แน่นอนประมาณปีละ 220 ล้านบาท (คิดเป็น 18% ของประมาณการกำไรสุทธิปี 2559) ทั้งนี้แนะนำซื้อ GFPT โดยให้ราคาพื้นฐาน 13 บาท อิงกับ P/E ปี 59 ที่ 13 เท่า

ขณะที่ราคาหุ้น GFPT ปิดวานนี้ที่ 12.40 บาท บวก 0.90 บาท หรือ 7.83% มูลค่าซื้อขายที่ 52.35 ล้านบาท มีอัพไซด์จากราคาเป้าหมาย 4.84%

 

*ทั้งนี้ข้อมูลที่มีการนำเสนอข้างต้น เป็นเพียงข้อแนะนำจากข้อมูลพื้นฐานเพื่อประกอบการตัดสินใจของนักลงทุนเท่า นั้น และมิได้เป็นการชี้นำ หรือเสนอแนะให้ซื้อหรือขายหลักทรัพย์ใดๆ การตัดสินใจซื้อหรือขายหลักทรัพย์ใดๆ ของผู้อ่าน ไม่ว่าจะเกิดจากการอ่านบทความในเอกสารนี้หรือไม่ก็ตาม ล้วนเป็นผลจากการใช้วิจารณญาณของผู้อ่าน

Back to top button