ADVANC เสี่ยงกำไรวูบพันล้าน
ADVANC ยันเสียงแข็งจะเช่าโรมมิ่งคลื่น 900 MHz จาก DTAC แม้ กสทช.เสนอทางเลือกให้เช่าจาก TRUE โบรกฯชี้เลวร้ายสุดอาจโดนบีบจนเสียกำไรพันล้านให้ TRUE
นายก่อกิจ ด่านชัยวิจิตร รองเลขาธิการ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.). เปิดเผยว่า เช้าวันนี้(9 มี.ค.) กสทช.เรียกผู้บริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ ADVANC ผู้ให้บริการเครือข่ายเอไอเอส และ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (AWN) พร้อมด้วย บริษัท ทรูมูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมูนิเคชั่น จำกัด (TUC) บริษัทในกลุ่ม บริษัท ทรู.คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE และบมจ.ทีโอที (TOT) มาหารือแนวทางคุ้มครองผู้ใช้บริการ เมื่อเอไอเอสต้องปิดเครือข่ายให้บริการคลื่น 900 MHz
เนื่องจากทาง TUC ซึ่งจะเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตให้บริการบนคลื่น 900 MHz รายใหม่ และทีโอที ในฐานะที่เป็นผู้บริหารเสาโครงข่ายที่ได้รับมอบสิทธิจากเอไอเอสไปในช่วงก่อนหน้านี้ ได้เสนอให้เอไอเอส และ AWN มาเช่าใช้คลื่นและเสาโครงข่ายเพื่อให้บริการกับลูกค้าที่ยังไม่โอนย้ายไปยังบริการ 3G เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาซิม ดับ โดยเอไอเอส และ AWN. เป็นผู้จ่ายค่าเช่าโครงข่ายของทีโอที และ TUC จะเป็นผู้ได้รับรายได้อีกส่วนหนึ่งในฐานะผู้ได้รับใบอนุญาตคลื่น ซึ่งเบื้องต้นTUC ประเมินรับรายได้เดือนละ 450 ล้านบาท เป็นการคำนวณภายใต้มูลค่าคลื่นที่ประมูลได้
อย่างไรก็ตาม หากเอไอเอสจะยืนยันการเซ็นสัญญาโรมมิ่งกับ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC เพื่อรองรับกลุ่มลูกค้าดังกล่าว ก็เป็นเรื่องที่ห้ามไม่ได้และเป็นสิทธิของเอไอเอส ดังนั้น เอไอเอสมีทางเลือกว่าหากราคาค่าเช่าโครงข่ายทีโอทีและรายจ่ายที่ต้องจ่ายให้ TUC สูงกว่าค่าใช้จ่ายในการโรมมิ่งกับดีแทค เอไอเอสอาจจะไม่ตอบรับข้อเสนอครั้งนี้ก็ได้
อย่างไรก็ดีนายก่อกิจ ยอมรับว่า การประชุมวันนี้ยังมีความไม่แน่ใจว่าจะหาข้อสรุปได้หรือไม่ แต่หากยังเจรจาไม่จบก็จะต้องหารือกันต่อในวันพรุ่งนี้ เพื่อหาข้อสรุปนำเสนอต่อคณะกรรมการ กทค.ให้ทันช่วงเช้าวันที่ 11 มี.ค.นี้ โดยจะใช้กฎหมายที่มีอยู่ดำเนินการ
ทั้งนี้ กสทช.คาดว่าจะออกใบอนุญาตคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz ให้กับ TUC ในวันที่ 14 มี.ค.นี้ ซึ่งจะเป็นผลทำให้ซิม 2G คลื่น 900 MHz ดับลงในเวลาเที่ยงคืนของวันที่ 14 มี.ค.นี้ แต่ทาง TUC ยังติดตั้งอุปกรณ์ไม่ทัน และการเจรจาของ TUC ในการเช่าใช้โครงข่ายกับทีโอทียังล่าช้าอยู่ จึงเสนอบอร์ด กทค.ให้มีมาตรการรองรับปัญหาดังกล่าวไปก่อน
ด้านบล.เอเซีย พลัส ระบุในบทวิเคราะห์(9 มี.ค.) ล่าสุด TRUE ในฐานะเจ้าของคลื่นรายใหม่ ได้เสนอทางเลือกเพิ่มเติมให้ ADVANC เช่าคลื่นความถี่ต่อไป 3 เดือน โดยมีอัตราค่าเช่า 450 ล้านบาทต่อเดือน โดยไม่รวมค่าเช่าใช้โครงข่ายจาก TOT และต้องให้ ADVANC นำส่งกำไรที่ได้จากการให้บริการใน 3 เดือนที่เช่าคลื่นให้ TRUE ทั้งนี้ วันนี้ กสทช.จะจัดประชุมกันระหว่าง ADVANC TRUE TOT และ กสทช. เพื่อหาข้อสรุป โดยหากการเจรจาไม่สำเร็จ กสทช. จะใช้อำนาจทางกฎหมายทุกข้อที่มี
ขณะที่ผลกระทบรายจ่ายต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นจากการค่าเชื่อมต่อและการแจกเครื่องฟรีจำนวน 8.0 พันล้านบาท ฝ่ายวิจัยได้รวมไว้ในประมาณการและมูลค่าพื้นฐานปัจจุบันแล้ว อีกทั้งยังอยู่ภายใต้สมมติฐานอนุรักษ์นิยมให้ ADVANC ย้ายลูกค้ามาได้เพียง 8.5 ล้านรายในปีนี้ เทียบกับสถานการณ์ตามข่าวที่ย้ายมาได้แล้ว 4 ล้านราย (จำนวนลูกค้าคลื่น 900 MHz ณ วันที่ทราบผลประมูลเหลืออยู่ 12 ล้านราย ขณะที่ปัจจุบันเหลืออยู่ 8 ล้านราย)
ส่วนประเด็นที่ TRUE จะให้เช่าคลื่น เชื่อว่าเป็นการลดความเสี่ยงที่ตนเองอาจตกเป็นจำเลยสังคม ในกรณีที่ลูกค้าคลื่น 900 MHz ที่เหลือของ ADVANC ใช้งานต่อไปได้ไม่สะดวก อีกทั้งยังเป็นช่องทางหารายได้ ชดเชยต้นทุนคลื่นที่ตนเองต้องแบกรับ ในช่วงที่ยังไม่พร้อมให้บริการบนคลื่น 900 MHz เพราะยังต้องเสียเวลาวางโครงข่ายให้พร้อมอีกราว 3 เดือน (เท่ากับระยะเวลาที่เสนอให้ ADVANC เช่า) โดยฝ่ายวิจัยเชื่อว่า ADVANC น่าจะต้องพิจารณาข้อเสนอให้รอบคอบอีกครั้ง ว่าจะมีประโยชน์มากกว่าการเชื่อมต่อสัญญาณของ DTAC หรือไม่ ซึ่งยังต้องติดตามพัฒนาการสถานการณ์ต่อ
ทั้งนี้ ในกรณีเลวร้ายที่สุด หาก ADVANC ต้องถูก กสทช. บังคับให้จ่ายค่าเช่าให้ TRUE คาดว่าจะกำไรสุทธิของ ADVANC จะลดลงจากประมาณการราว 1.0 พันล้านบาท (3.4% ของคาดการณ์กำไร) และจะกระทบมูลค่าพื้นฐานราว 0.36 บาท ซึ่งหากราคาหุ้นที่อ่อนตัวลง ยังเป็นโอกาสดีในการเข้าสะสมได้