จัดเต็ม! สปอยงบฯ Q1 กลุ่มแบงก์ตัวไหน “รุ่ง” ตัวไหน “ร่วง” มาดูกัน

เปิดโผสำรวจผลการดำเนินงาน 7 หุ้นแบงก์ พร้อมสปอยผลการดำเนินงาน Q1/59 หลังเจอพิษเศรษฐกิจ-ลดดอกเบี้ยเงินกู้ โบรกฯ คาดกำไรถดถอย-NPL มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง


เปิดโผสำรวจผลการดำเนินงาน 7 หุ้นแบงก์ พร้อมสปอยผลการดำเนินงาน Q1/59 หลังเจอพิษเศรษฐกิจ-ลดดอกเบี้ยเงินกู้ โบรกฯ คาดกำไรถดถอย-NPL มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง 

ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์ ได้ทำการสำรวจราคาหุ้นบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ในตลาดหลักทรัพย์หลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ทั้ง SET และ maiในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ ซึ่งจะเป็นกลุ่มแรกทยอยแจ้งผลประกอบการไตรมาสที่ 1/59 ในช่วงวันที่ 15 เม.ย.ที่จะถึงนี้

โดยพบว่าผลการดำเนินงานของ บจ.กลุ่มธนาคาร ในไตรมาสดังกล่าวนั้น ส่วนใหญ่มีแนวโน้มลดลงจากช่วงเดียวกันเมื่อปีก่อน หลังเจอภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว อีกทั้งล่าสุด ธนาคารต่างๆได้ออกมาประกาศปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้ MRR ซึ่งส่งผลให้เกิดความกังวลว่ากำไรของบริษัทจะลดลงสำหรับธนาคารพาณิชย์ที่ได้ทำการสำรวจข้อมูลมาประกอบด้วย

 

อันดับ 1 ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL โดย บล.ฟินันเซีย ไซรัส คาดว่าจะมีกำไรไตรมาส 1/59 ที่ 9.1 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 18.6% จากไตรมาสก่อน แต่ลดลง 2.6% จากปีก่อน โดยการฟื้นตัวของกำไรจากไตรมาสก่อนเป็นไปตามการคาดการณ์การตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สูญที่ลดลง 22.7% จากไตรมาสก่อน มาอยู่ที่ 3 พันล้านบาท หรือ 0.64% ของสินเชื่อรวมซึ่งถือเป็นระดับปกติ ขณะที่ BBL จะมีแรงกดดันต่อการตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สูญน้อยกว่าธนาคารขนาดใหญ่อื่นเพราะ Coverage ratio ที่สูง 185% ถือเป็น Cushion ที่ดี แม้ว่าทิศทาง NPL ยังเป็นขาขึ้น

ส่วนกำไรสุทธิที่คาดว่าจะชะลอตัวลงจากปีก่อนเกิดจากค่าใช้จ่ายที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นราว 19% จากปีก่อน ทั้งนี้ให้ราคาเหมาะสมจากเดิม 195 บาท เหลือ 190 บาท ทำให้ราคาหุ้น BBL มี Upside เหลือน้อยที่สุดในกลุ่มธนาคารขนาดใหญ่ ปรับลดคำแนะนำ เป็น ถือ จาก ซื้อ

อันดับ 2 ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) หรือ TMB โดย บล.เอเซีย พลัส คาดว่าจะมีกำไรสุทธิงวดไตรมาส 1/59 เท่ากับ 2.39 พันล้านบาท หดตัว 8.6% จากไตรมาสก่อน แต่ยังเพิ่มขึ้น 46% จากปีก่อน เนื่องจากคาดการณ์ค่าใช้จ่ายสำรองหนี้ที่เพิ่มขึ้นสอดคล้องกับ NPL เช่นเดียวกับภาพรวมอุตสาหกรรม

ขณะที่ธุรกิจหลักยังเห็นการเติบโต แม้ NIM ค่อนข้างทรงตัว สวนทางกับสินเชื่อที่ยังเพิ่มขึ้น แต่กลับถูกหักล้างไปด้วย yield ที่ลดลงไปบ้าง ส่วนรายได้ค่าธรรมเนียมฯ และรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยอื่นๆ แม้จะหดตัวลง แต่กลับถูกหักล้างไปด้วยค่าใช้จ่ายดำเนินงานที่ลดลงเช่นกัน ทั้งนี้แนะนำซื้อ ให้ราคาเป้าหมาย 2.70 บาท/หุ้น

อันดับ 3 ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB โดย บล.กสิกรไทย คาดว่ากำไรสุทธิของ SCB ในไตรมาส 1/59 จะทรงตัวจากไตรมาสก่อน แต่ลดลง 9.8% จากปีก่อน มาอยู่ที่ 11.9 พันล้านบาท เนื่องจากการตั้งสำรองที่สูงขึ้นเพื่อสร้าง Coverage ratio ให้ใกล้เคียงกับอุตสาหกรรมที่ราว 130% และ net earned insurance premium ที่ลดลง ถึงแม้ว่า NPL ratio น่าจะปรับตัวดีขึ้นก็ตาม ทั้งนี้คาดอัตราการเติบโตของพอร์ทสินเชื่อที่ 0.8% จากไตรมาสก่อน และ 2.1% จากปีก่อนมาจากสินเชื่อบริษัทฯและสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ทั้งนี้ยังคงเลือก SCB เนื่องจากสัญญาญของคุณภาพสินทรัพย์ที่ดีขึ้นและน่าจะผ่านจุดต่ำสุดได้ก่อนธนาคารขนาดใหญ่รายอื่นโดยแนะนำ ซื้อ SCB ที่ราคาพื้นฐาน 163 บาท

อันดับ 4 ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB โดย บล.ทิสโก้ ปรับมูลค่าที่เหมาะสมของ KTB ขึ้นเป็น 18 บาท เพื่อสะท้อนสินเชื่อ SSI ที่จะฟื้นตัวในปี 60 และคาดผลตอบแทนเงินปันผล 5% เป็นปัจจัยบวกในระยะสั้น แต่อย่างไรก็ตาม แนะนำ “ถือ” เนื่องจาก PPoE ที่จะชะลอตัวลงใน 59-61 หลังจากที่ธนาคารเน้นขยายสินเชื่อ SME และรายย่อย และ KTB เป็นธนาคารเดียวที่มีโอกาสที่จะต้องเพิ่มฐานเงินทุนในระยะกลาง

อันดับ 5 ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK โดย บล.บัวหลวง คาดว่ากำไรไตรมาส 1/59 ของ จะรายงานกำไรปี 2559 ที่ 9.8 พันล้านบาท หดตัวลง 21% จากปีก่อน กำไรที่หดตัวลงมีสาเหตุมาจากการตั้งสำรองค่าเผื่อนหนี้สูญฯที่เพิ่มสูงขึ้น

อย่างไรก็ตาม คาดว่ากำไรจากการดำเนินงานที่ไม่รวมสำรองหนี้เสียจะสูงขึ้น 7% จากปีก่อน และ 17% จากไตรมาสก่อน เป็น 22 พันล้านบาท จากการเติบโตสินเชื่อ, รายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยสุทธิ และการจัดการค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพ ทั้งนี้คาดว่าอัตราต้นทุนต่อรายได้ไตรมาส 1/59 จะอยู่ที่ 43% เทียบกับประมาณการปี 2559 ที่ 45-47% โดยแนะนำ “ถือ” KBANK ราคาเป้าหมาย 180 บาท/หุ้น

อันดับ 6 ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) หรือ BAY โดย บล.บัวหลวง คาดว่ากำไรปี 2559 จะสดใส โดย BAY มองว่ากำไรมีแนวโน้มเติบโตอย่างสดใสหนุนโดยอุปสงค์สินเชื่อที่น่าพอในจากบริษัทญี่ปุ่น และจากกลุ่มค้ารายย่อย ซึ่งปัจจัยข้างต้นส่งผลให้ธนาคารมีประโยชน์ดีต่อเนื่องระยะยาวจากรูปแบบของสินเชื่อมีความหลากหลายเพิ่มขึ้นในกลุ่มบริษัทและรายย่อยในประเทศไทยและกำลังขยายไปประเทศกัมพูชา ลาว สหภาพเมียนมาร์ และเวียดนาม

ทั้งนี้ปัจจุบันราคาหุ้น BAY ปรับตัวลงต่ำกว่าราคาเป้าหมาย ณ สิ้นปี 2559 ที่ 37 บาท อิงเป้า PBV ที่ 1.33 เท่า ทั้งนี้จากแนวโน้มกำไรปรับขึ้นในปีนี้และปี 2560 จึงปรับคำแนะนำเป็น “ซื้อ” จาก “ถือ”

อันดับ 7 บริษัท ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TISCO โดย บล.เคทีบี คาดว่า TISCO จะรายงานกำไรสุทธิงวดไตรมาสที่ 1/59 ที่ 1,370 ล้านบาท เติบโต 10% จากไตรมาสก่อน และเติบโต 15% จากปีก่อน ซึ่งเป็นผลมาจากค่าใช้จ่ายสำรองฯที่ลดลงตามแนวโน้ม NPL ที่เริ่มปรับตัวลดลงในช่วงปลายปีก่อน

ทั้งนี้คาดสินเชื่อยังคงลดลง 2% จากไตรมาสก่อนจากยอดขายรถยนต์ในประเทศที่ยังหดตัว ขณะที่เงินรับฝากลดลงเพียง 1% จากไตรมาสก่อน ส่งผลให้รายได้ดอกเบี้ยสุทธิ 2,613 ล้านบาท ลดลง 2% จากไตรมาสก่อน เพิ่มขึ้น 9% จากปีก่อน

โดยยังคงราคาเหมาะสม TISCO ตามเดิมที่ 46 บาท โดยแนวโน้มกำไรที่เพิ่มขึ้นมากมาจากค่าใช้จ่ายสำรองฯที่ลดลงในปี 59 ซึ่งผลกระทบดังกล่าวจะลดลงมากในปี 60 ทำให้ TISCO ขาดปัจจัยหนุนการเติบโตให้ต่อเนื่อง ทั้งนี้ราคาปัจจุบันมี Upside เหลือน้อยจึงแนะนำเพียง “ถือ”

 

สำหรับภาพรวมของกลุ่มธนาคารนั้น นายธนเดช รังษีธนานนท์ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.อาร์เอชบี โอเอสเค (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า ผลประกอบการธนาคารพาณิชย์ทั้งกลุ่มในไตรมาส 1/59 คาดการณ์ว่าจะมีกำไรสุทธิรวม 5 หมื่นล้านบาท เติบโต 20% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าที่กลุ่มธนาคารพาณิชย์ มีกำไรสุทธิ 4.3 หมื่นลบ. แต่ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 1/58 ที่มีกำไรสุทธิ 5.2 หมื่นล้านบาท เนื่องจากยังมีความเสี่ยงตั้งสำรองหนี้เพิ่มมากขึ้น จากหนี้ที่มิก่อให้เกิดรายได้ (NPL) มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ตามภาวะเศรษฐกิจในประเทศชะลอตัว

ด้านนักวิเคราะห์ บล.บัวหลวง ระบุในบทวิเคราะห์ โดยปรับลดน้ำหนักกลุ่มแบงก์ลงเป็น NEUTRAL จาก Overweight จากคาดความเสี่ยงเศรษฐกิจในประเทศฟื้นตัวช้ากดดันราคาหุ้น แต่ยังให้ TOPPICK เป็น BBL,TMB และ SCB ส่วน TISCO และ TCAP ลดคำแนะนำลงเป็น ขาย

ด้านนักวิเคราะห์ บล.ไทยพาณิชย์ ระบุในบทวิเคราะห์ โดยคาดว่าผลประกอบการไตรมาส 1/59 ของกลุ่มธนาคารจะปรับตัว ธนาคารจะลดลง 5% จากปีก่อน แต่จะเพิ่มขึ้น 15% จากไตรมาสก่อน มาจากปัจจัยฤดูกาล ขณะที่การลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้สร้างเซอร์ไพร้ส์เชิงลบ ซึ่งธนาคารหลายแห่งประกาศลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ MLR ลง แต่ไม่ได้ลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากลงตามเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

 

*อนึ่งข้อมูลที่มีการนำเสนอข้างต้นเป็นเพียงข้อแนะนำจากข้อมูลพื้นฐานเพื่อประกอบการตัดสินใจของนักลงทุนเท่านั้น และมิได้เป็นการชี้นำหรือเสนอแนะให้ซื้อหรือขายหลักทรัพย์ใดๆการตัดสินใจซื้อหรือขายหลักทรัพย์ใดๆ ของผู้อ่าน ไม่ว่าจะเกิดจากการอ่านบทความในเอกสารนี้หรือไม่ก็ตามล้วนเป็นผลจากการใช้วิจารณญาณของผู้อ่าน

Back to top button