13 หุ้นร้อนพลิกขาดทุน ชิงหนีก่อนทรุดยาวหรือวัดใจรอกำไรฟื้น
เปิดตัว 13 หุ้นร้อน ไตรมาสแรกพลิกขาดทุน ชิงหนีก่อนทรุดยาว หรือวัดใจรอกำไรฟื้นตัว
เปิดตัว 13 หุ้นร้อน ไตรมาสแรกพลิกขาดทุน ชิ่งหนีก่อนทรุดยาว หรือวัดใจรอกำไรฟื้นตัว
“ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” ได้ทำการสำรวจผลการดำเนินงานบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (บจ.) ที่ประกาศผลประกอบการไตรมาส 1/59 (สิ้นสุด 31 มี.ค.59) โดยใช้เกณฑ์คัดเลือกจาก บจ. ที่มีผลการดำเนินงานพลิกเป็นขาดทุนจากช่วงเดียวกันในปีก่อน และมีมูลค่าการซื้อขายหรือเป็นหุ้นซึ่งอยู่ในกระแสข่าวที่น่าสนใจ พบว่ามีทั้งหมด 13 บจ.ดังนี้
รายชื่อ 13 บจ. ที่มีผลการดำเนินงานพลิกขาดทุนใน Q1/59
อันดับแรก บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) หรือ BANPU รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 1/59 สิ้นสุดวันที่ 31 มี.ค.59 (รวมบริษัทย่อย) มีผลขาดทุนสุทธิ 183.76 ล้านบาท หรือขาดทุนสุทธิ 0.071 บาทต่อหุ้น เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 69.26 ล้านบาท หรือมีกำไรสุทธิ 0.027 บาทต่อหุ้น โดยผลการดำเนินงานในไตรมาสดังกล่าวที่พลิกเป็นขาดทุน เนื่องจากบริษัทมีปริมาณขายลดลง ขณะที่ราคาถ่านหินในตลาดโลกปรับตัวลงอย่างต่อเนื่อง
บล.ไอร่า แนะนำ “ขาย” BANPU ราคาเป้าหมาย 10.60 บาท คาดผลการดำเนินของธุรกิจถ่านหินในช่วงไตรมาส 2-4/59 จะยังคงอ่อนตัวลง ตามราคาถ่านหินในตลาดโลก ขณะที่ BANPU มีการลงทุนเพิ่มเติมในธุรกิจ shale gas ที่สหรัฐฯ และโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ประเทศจีน แต่คาดผลตอบแทนจากการลงทุนไม่ได้สูงมาก ด้านราคาขายถ่านหินอินโดนีเซียในปี 59 คาดว่าจะลดลงมาอยู่ที่ 47 เหรียญสหรัฐฯต่อตัน ซึ่งอยู่ในระดับต่ำ ขณะที่ธุรกิจเหมืองถ่านหินที่ออสเตรเลียยังคงมีผลการดำเนินงานขาดทุนต่อเนื่องในปี 59
อันดับที่ 2 บริษัท สามารถ ไอ-โมบาย จำกัด (มหาชน) หรือ SIM รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 1/59 สิ้นสุดวันที่ 31 มี.ค.59 (รวมบริษัทย่อย) มีผลขาดทุนสุทธิ 28.31 ล้านบาท หรือขาดทุนสุทธิ 0.005 บาทต่อหุ้น เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 101.1 ล้านบาท หรือมีกำไรสุทธิ 0.023 บาทต่อหุ้น โดยผลการดำเนินงานในไตรมาสดังกล่าวที่พลิกเป็นขาดทุน เนื่องจากยอดขายเฉลี่ยต่อเดือนลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน รวมถึงได้รับผลกระทบจากการแข่งขันในตลาดที่สูงขึ้น
บล.กสิกรไทย แนะนำ “ขาย” SIM ราคาเป้าหมาย 0.68 บาท ทั้งนี้มีข่าวว่า ISPORT(ถือหุ้นโดย Samart Multimedia 50%, SIM ถือ Samart multimedia 100%) เซ็นสัญญารับจ้างถ่ายทอดสดฟุตบอลไทยพรีเมียร์ลีก มูลค่า 170 ล้านบาท ขณะที่โดยราคาหุ้น SIM ได้เพิ่มขึ้นกว่า 7% มาที่ 1.13 บาท อย่างไรก็ตามทาง SIM ยังไม่ได้มีการยืนยันข่าวดังกล่าว ซึ่งในประมาณการของฝ่ายวิจัย คาดว่า ISPORT จะสร้างกำไรให้กับ SIM ที่ 10 ล้านบาทต่อปี ซึ่งได้รวมอยู่ในประมาณการขาดทุน 126 ล้านบาทปี 59 ไว้แล้ว
อย่างไรก็ตามหากข่าวนี้เป็นจริงภายใต้สมมุติฐาน net profit margin ที่ 10% การรับจ้างถ่ายทอดสดจะสร้างกำไรให้กับ SIM ที่ 8 ล้านบาท จึงยังคงแนะนำ “ขาย”
อันดับที่ 3 บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) หรือ MCOT รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 1/59 สิ้นสุดวันที่ 31 มี.ค.59 (รวมบริษัทย่อย) มีผลขาดทุนสุทธิ 146.83 ล้านบาท หรือขาดทุนสุทธิ 0.21 บาทต่อหุ้น เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 15.79 ล้านบาท หรือมีกำไรสุทธิ 0.02 บาทต่อหุ้น โดยผลการดำเนินงานในไตรมาสดังกล่าวพลิกขาดทุน เนื่องจากรายได้จากการดำเนินงานโทรทัศน์และวิทยุลดลงมาก และมีค่าใช้จ่ายการดำเนินงานสูง
บล.บัวหลวง ปรับลดคำแนะนำสำหรับ MCOT จากถือ กลับไปเป็น “ขาย” ราคาเป้าหมาย 5.50 บาท โดยมองว่ามีโอกาสเพียงเล็กน้อยเท่านั้นที่ผลประกอบการปี 59 จะพลิกกลับมาเป็นกำไรสุทธิ จากเหตุผลของคอนเท้นต์ที่ยังคงแย่กว่าผู้ประกอบการทีวีดิจิตอลรายอื่นๆ ต้นทุนบริการที่ยังคงอยู่ในระดับสูง ภาวะการแข่งขันแย่งชิงเม็ดเงินโฆษณาที่ยังคงรุนแรง และยังคงไม่มีสัญญาณการฟื้นตัวของเม็ดเงินโฆษณาในช่วงครึ่งแรกของปี 59
ถึงแม้ว่าจะมีปัจจัยกระตุ้นราคาหุ้นจากประเด็นเรื่องการได้รับเงินค่าชดเชยจากกสทช.ในอนาคตสำหรับการคืนคลื่นความถี่ 2600 เมกะเฮิร์ซบางส่วนกลับไปให้กับกสทช.เพื่อเปิดประมูลใหม่ แต่ฝ่ายวิจัยมองว่าประเด็นดังกล่าวยังคงไม่มีความคืบหน้า ซึ่งต้องรอการผ่านร่างพรบ.กสทช.ฉบับใหม่เป็นกฎหมายเสียก่อน
อันดับที่ 4 บริษัท เอสซีไอ อีเลคตริค จำกัด (มหาชน) หรือ SCI รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 1/59 สิ้นสุดวันที่ 31 มี.ค.59 (รวมบริษัทย่อย) มีผลขาดทุนสุทธิ 4.80 ล้านบาท หรือขาดทุนสุทธิ 0.01 บาทต่อหุ้น เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 68.24 ล้านบาท หรือมีกำไรสุทธิ 0.41 บาทต่อหุ้น โดยผลการดำเนินงานในไตรมาสดังกล่าวที่พลิกขาดทุน เนื่องจากบริษัทบันทึกรายได้เข้ามาภายในไตรมาส 1/59 ไม่ทัน ส่งผลให้รายได้จากการขายที่ลดลงมาจากงานขายที่ลดลงตามการชะลอตัวของโครงการต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งรายได้จากการให้บริการลดลง ขณะที่ต้นทุนค่าใช้จ่ายบริหารเพิ่มขึ้น
นายเกรียงไกร เพียรวิทยาสกุล ประธานเจ้าหน้าที่ SCI เปิดเผยว่า บริษัทยังรอเซ็นสัญญางานใหม่เพิ่มเติม คือโครงการก่อสร้างสายส่งและสถานีไฟฟ้า 500 กิโลโวลต์อีกหนึ่งโครงการ มูลค่างาน 306 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือกว่า 1.07 หมื่นล้านบาท และโครงการปรับปรุงระบบจำหน่ายไฟฟ้า (PDSR) เฟส 2 ใน สปป.ลาว มูลค่าโครงการประมาณ 67 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือกว่า 2.2 พันล้านบาท กับการไฟฟ้าลาวในเร็วๆ นี้
ขณะที่ก่อนหน้านี้บริษัทได้แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เมื่อวันที่ 17 พ.ค. ว่า บริษัทได้ร่วมลงนามในสัญญาก่อสร้างสายส่งไฟฟ้าแรงสูงและสถานีไฟฟ้าขนาด 500/230 กิโลโวลต์ จากเมืองฮุนไปเมืองนาน กับรัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาว (Electricite du Laos : EDL) จำนวน 1 โครงการ มูลค่างานกว่า 416 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 1.45 หมื่นล้านบาท
สำหรับแนวโน้มรายได้ของ SCI ในอนาคตคาดว่าจะเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ หลังจากได้เซ็นสัญญาโครงการปรับปรุงระบบจำหน่ายไฟฟ้าในลาวเฟส 2 และได้งานรับเหมาก่อสร้างสายส่งและสถานีไฟฟ้า 500 กิโลทั้งสองสาย คิดเป็นมูลค่ากว่า 2.6 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะเห็นภาพที่ชัดเจนในงวดผลการดำเนินงานในช่วงครึ่งปีหลังที่จะเติบโต
อันดับที่ 5 บริษัท อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ เอ็นเนอร์ยี่ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ IFEC รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 1/59 สิ้นสุดวันที่ 31 มี.ค.59 (รวมบริษัทย่อย) มีผลขาดทุนสุทธิ 143.74 ล้านบาท หรือขาดทุนสุทธิ 0.0725 บาทต่อหุ้น เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 70.52 ล้านบาท หรือมีกำไรสุทธิ 0.043 บาทต่อหุ้น
โดยผลการดำเนินงานที่พลิกขาดทุน เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายในธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนและบริหารจัดการขยะเพิ่มขึ้น เชื่นเดียวกับธุรกิจโรงแรม ทั้งนี้บริษัทชี้แจงว่า ธุรกิจของบริษัทส่วนใหญ่เป็นธุรกิจที่สร้างรายได้อย่างมีเสถียรภาพ ส่วนธุรกิจโรงแรมที่บริษัทลงทุน จะยังไม่เห็นผลในระยะสั้น แต่จะต้องใช้ระยะเวลาอีกระยะหนึ่งจึงจะเห็นผลประกอบการที่ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) คงคำแนะนำ “ซื้อ” อย่างไรก็ตาม ได้ปรับราคาเหมาะสมลงเป็น 12.10 บาท เพื่อสะท้อน ผลการจับฉลากโซล่าร์สหกรณ์ฯซึ่ง IFEC ผ่านคัดเลือก 6MW และ ความล่าช้าของโครงการลมในประเทศ 2 แห่ง 180MW เนื่องจากทางการได้ถอนคำขอขายไฟฟ้าของผู้เล่นทุกรายออกมา เพื่อเตรียมเปิดประมูล FiT Bidding ใหม่ทั้งระบบ อย่างไรก็ตาม พัฒนาการก่อนหน้า (วัดลม, ประชาพิจารณ์, BOI) ทำให้ IFEC ยังถือว่าเป็นผู้เล่นที่มีโอกาสสูง แต่เพื่อสะท้อนความล่าช้านี้ จึงลดความน่าจะเป็นลงมาเหลือ 50% ระหว่างรอความชัดเจนจากภาครัฐ
อันดับที่ 6 บริษัท กรุงเทพประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) หรือ BLA รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 1/59 สิ้นสุดวันที่ 31 มี.ค.59 (รวมบริษัทย่อย) มีผลขาดทุนสุทธิ 6.89 พันล้านบาท หรือขาดทุนสุทธิ 4.04 บาทต่อหุ้น เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 765.25 ล้านบาท หรือมีกำไรสุทธิ 0.45 บาทต่อหุ้น โดยผลการดำเนินงานในไตรมาสดังกล่าวที่พลิกขาดทุนเนื่องจากการลดลงของอัตราดอกเบี้ย ทำให้บริษัทมีภาระต้องตั้งเงินสำรองพิเศษเพิ่มขึ้นจำนวน 10,380 ล้านบาท และสะท้อนเป็นค่าใช้จ่ายอยู่ในงบกำไรขาดทุนของบริษัท
บล.กสิกรไทย ปรับเพิ่มคำแนะนำสำหรับ BLA จากถือ เป็น “ซื้อ” และปรับเพิ่มราคาเป้าหมายเป็น 47.00 บาท (จาก 40.50 บาท) เนื่องจากการปรับเพิ่มประมาณการอัตราดอกเบี้ยพันธบัตร 10 ปี สำหรับสิ้นปี 59 ของ KBANK จาก 1.90% เป็น 2.25% สืบเนื่องมาจากตัวเลขเศรษฐกิจภายในประเทศที่ปรับดีขึ้น และมุมมองคุมอัตราดอกเบี้ย (hawkish) ของ Fed จึงเชื่อว่าช่วงที่ไม่ดีจากการตั้งสำรองนั้นได้ผ่านไปแล้ว
และคาดว่ากำไรของ BLA จะเริ่มฟื้นตัวจากจุดต่ำสุดในไตรมาส 1/59 เนื่องจาก bond yield ที่สูงขึ้นนั้นคาดว่าจะทำให้มีการบันทึกกลับสำรอง (LAT reserve) ที่ตั้งไว้ในไตรมาส 1 (1 หมื่นล้านบาท) ออกมาได้ส่วนหนึ่ง ทั้งนี้ แม้ฝ่ายวิจัยจะปรับลดประมาณการกำไรสุทธิปี 59 ลง 215% เพื่อสะท้อนถึง LAT reserve ที่สูงกว่าคาดที่บันทึกในไตรมาส 1/59 แต่มองภาพระยะยาวถึงการฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งในปี 2560
ส่วนอันดับ 7-13 ได้แก่ บริษัท อาร์ ซี แอล จำกัด (มหาชน) หรือ RCL, บริษัท ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) หรือ STA, บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ NOK, บริษัท โซลาร์ตรอน จำกัด (มหาชน) หรือ SOLAR, บริษัท เด็มโก้ จำกัด (มหาชน) หรือ DEMCO, บริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน) หรือ TPIPL และบริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GRAMMY
ทั้งนี้ มีความเป็นไปได้ทั้ง 2 ด้าน ที่ บจ. ข้างต้นจะขาดทุนต่อเนื่อง หรือพลิกกลับมาทำกำไรได้ การเก็งกำไรในกลุ่มดังกล่าวนักลงทุนจึงควรศึกษาข้อมูลพื้นฐานของบริษัทก่อนตัดสินใจเข้าลงทุน เนื่องจากบริษัทบางรายที่มีกำไรลดลงหรือผลประกอบการขาดทุน อาจเกิดจากการใช้เงินเพื่อการลงทุนในธุรกิจต่างๆ ซึ่งอาจจะส่งผลดีต่อบริษัทหลังจากนี้ ขณะที่บางบริษัทอาจเกิดจากการบริหารที่ผิดพลาด หรือได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจ ซึ่งปัจจัยดังกล่าวล้วนสะท้อนภาพให้เห็นถึงความสามารถของผู้บริหาร และความแข็งแกร่งของตัวธุรกิจในอนาคตเอง
*ข้อมูลที่มีการนำเสนอข้างต้น เป็นเพียงข้อแนะนำจากข้อมูลพื้นฐานเพื่อประกอบการตัดสินใจของนักลงทุนเท่านั้น และมิได้เป็นการชี้นำ หรือเสนอแนะให้ซื้อหรือขายหลักทรัพย์ใดๆการตัดสินใจซื้อหรือขายหลักทรัพย์ใดๆ ของผู้อ่าน ไม่ว่าจะเกิดจากการอ่านบทความในเอกสารนี้หรือไม่ก็ตาม ล้วนเป็นผลจากการใช้วิจารณญาณของผู้อ่า