ก.ล.ต.ลงโทษอดีตผู้ช่วยผู้สอบบัญชี “อีวาย” 3 ราย ฐานอินไซด์หุ้น พร้อมสั่งแบน 10 ปี
ก.ล.ต.ลงโทษอดีตผู้ช่วยผู้สอบบัญชี "อีวาย" 3 ราย ฐานอินไซด์หุ้น พร้อมสั่งแบน 10 ปี
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยการดำเนินคดีกับอดีตผู้ช่วยผู้สอบบัญชี สังกัด บริษัท สำนักงาน อีวาย จำกัด (อีวาย) 3 ราย ประกอบด้วย (1) นายวโรตม์ หน่อแก้ว (2) นางสาวจีรนันท์ บูรณรักษ์ กรณีนำข้อมูลร่างงบการเงินของบริษัทจดทะเบียนที่เป็นลูกค้าซึ่งผ่านการสอบบัญชีแล้ว แต่ยังไม่ได้เปิดเผย ไปใช้ซื้อขายหลักทรัพย์และสัญญาซื้อขายล่วงหน้า และ (3) นางสาวจีราภรณ์ บูรณรักษ์ กรณีนำข้อมูลดังกล่าวไปเปิดเผยต่อบุคคลอื่น
ทั้งนี้การกระทำข้างต้นเป็นการใช้ข้อมูลภายในที่เกี่ยวข้องกับบริษัทจดทะเบียนรวม 12 บริษัท และเป็นความผิดที่ต้องรับโทษตามมาตรการลงโทษทางแพ่ง ทั้งนี้ ก.ล.ต. ได้ติดตาม และบริษัท อีวาย ได้ปรับปรุงระบบควบคุมคุณภาพงานสอบบัญชีให้รัดกุมขึ้นแล้ว
โดย ก.ล.ต.เปิดเผยว่า ได้รับข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) และเข้าตรวจสอบเชิงลึกเพิ่มเติม พบการซื้อขายหลักทรัพย์และสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่ผิดปกติของนายวโรตม์ และนางสาวจีรนันท์ อดีตผู้ช่วยผู้สอบบัญชี สังกัด บริษัท อีวาย ซึ่งเกิดจากการเข้าถึงระบบข้อมูลร่างงบการเงินที่ผ่านการสอบบัญชีแล้วที่สายงานของนายวโรตม์และนางสาวจีราภรณ์รับผิดชอบ แต่ยังไม่ได้เปิดเผย และนำไปซื้อขายหลักทรัพย์หรือสัญญาซื้อขายล่วงหน้า รวม 12 บริษัท ในช่วงปี 2558-2560
สำหรับร่างงบการเงินดังกล่าวส่วนมากแสดงถึงผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ อันน่าจะเป็นผลให้ราคาหลักทรัพย์สูงขึ้น การใช้ข้อมูลภายในซื้อขายหลักทรัพย์หรือสัญญาซื้อขายล่วงหน้าดังกล่าว ส่วนหนึ่งเกิดจากการที่ นางสาวจีราภรณ์ อดีตผู้ช่วยผู้สอบบัญชี ซึ่งเป็นพี่สาวของนางสาวจีรนันท์ ได้เปิดเผยข้อมูลร่างงบการเงินที่สายงานของตนรับผิดชอบให้แก่นางสาวจีรนันท์ โดยรู้หรือควรรู้ว่าบุคคลดังกล่าวจะนำข้อมูลนั้นไปใช้ประโยชน์ ทั้งนี้ สรุปรายละเอียดการกระทำความผิดได้ ดังนี้
1.) ระหว่างวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2558 ถึงวันที่ 29 กรกฎาคม 2559 นายวโรตม์ ซึ่งเป็นผู้ช่วยผู้สอบบัญชีระดับผู้จัดการ ได้อาศัยข้อมูลภายในเกี่ยวกับผลการดำเนินงานงวดไตรมาส 4/57 – ไตรมาส 2/59 ของบริษัทจดทะเบียนที่เป็นลูกค้าของบริษัท อีวาย จำนวน 5 บริษัท เข้าซื้อหลักทรัพย์ของบริษัทดังกล่าวในช่วงที่ร่างงบการเงินถูกบันทึกเข้าระบบ และขายหลักทรัพย์ดังกล่าวทั้งหมดภายหลังจากที่บริษัทดังกล่าวได้เปิดเผยงบการเงินผ่านตลาดหลักทรัพย์
โดยเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 241 มีระวางโทษตามมาตรา 296 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะกระทำความผิด (พระราชบัญญัติหลักทรัพย์ก่อนแก้ไขโดยฉบับที่ 5) ซึ่งยังคงเป็นความผิดตามมาตรา 242 และมีบทกำหนดโทษตามมาตรา 296 และมาตรา 296/2 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2559 (พระราชบัญญัติหลักทรัพย์ที่แก้ไขโดยฉบับที่ 5) จำนวน 5 กระทง
2.) ระหว่างวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2560 ถึงวันที่ 10 พฤศจิกายน 2560 นายวโรตม์และนางสาวจีรนันท์ได้รู้หรือครอบครองข้อมูลภายในเกี่ยวกับผลการดำเนินงานงวดไตรมาส 4/59 – ไตรมาส 3/60 ของบริษัทจดทะเบียนที่เป็นลูกค้าของบริษัท อีวาย จำนวน 7 บริษัท จากการที่นายวโรตม์มีสิทธิเข้าดูร่างงบการเงินในระบบ และจากการได้รับการเปิดเผยข้อมูลภายในจากนางสาวจีราภรณ์ ซึ่งเป็นผู้ช่วยผู้สอบบัญชีระดับผู้จัดการอาวุโสของอีกสายงานหนึ่ง
โดยนายวโรตม์และนางสาวจีรนันท์ได้ร่วมกันซื้อหลักทรัพย์และเข้าผูกพันในสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่อ้างอิงราคาหลักทรัพย์ของบริษัทดังกล่าวในช่วงที่ร่างงบการเงินถูกบันทึกเข้าระบบ และขายหลักทรัพย์และปิดสถานะสัญญาซื้อขายล่วงหน้าดังกล่าวทั้งหมดภายหลังจากที่บริษัทดังกล่าวได้เปิดเผยงบการเงินผ่านตลาดหลักทรัพย์ อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 242(1) และมีบทกำหนดโทษตามมาตรา 296 และมาตรา 296/2 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์ที่แก้ไขโดยฉบับที่ 5 จำนวน 7 กระทง
3.) ระหว่างวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2560 ถึงวันที่ 12 กรกฎาคม 2560 นางสาวจีราภรณ์ได้รู้หรือครอบครองข้อมูลภายในเกี่ยวกับผลการดำเนินงานของบริษัทที่สายงานของนางสาวจีราภรณ์รับผิดชอบในการตรวจสอบและสอบทาน ซึ่งนางสาวจีราภรณ์มีสิทธิดูร่างงบการเงินของบริษัทดังกล่าวในระบบ และได้เปิดเผยข้อมูลภายในดังกล่าวจำนวน 3 บริษัท ให้แก่นางสาวจีรนันท์ โดยรู้หรือควรรู้ว่าบุคคลดังกล่าวจะนำข้อมูลนั้นไปใช้ประโยชน์ในการซื้อขายหลักทรัพย์หรือเข้าผูกพันตามสัญญาซื้อขายล่วงหน้า อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 242(2) และมีบทกำหนดโทษตามมาตรา 296 และมาตรา 296/2 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์ที่แก้ไขโดยฉบับที่ 5 จำนวน 3 กระทง
ทั้งนี้คณะกรรมการพิจารณามาตรการลงโทษทางแพ่ง (ค.ม.พ.) มีมติให้ ก.ล.ต. นำมาตรการลงโทษทางแพ่งมาใช้บังคับกับผู้กระทำความผิดทั้ง 3 ราย โดยกำหนดให้
(1) นายวโรตม์ ชำระค่าปรับทางแพ่ง ส่งคืนผลประโยชน์ที่ได้รับจากการกระทำความผิด และชดใช้ค่าใช้จ่ายเนื่องจากการตรวจสอบการกระทำความผิด รวมเป็นเงินจำนวน 7,660,441 บาท
(2) นางสาวจีรนันท์ ชำระค่าปรับทางแพ่ง ส่งคืนผลประโยชน์ที่ได้รับจากการกระทำความผิด และชดใช้ค่าใช้จ่ายเนื่องจากการตรวจสอบการกระทำความผิด รวมเป็นเงินจำนวน 4,645,951 บาท
และ (3) นางสาวจีราภรณ์ ชำระค่าปรับทางแพ่งและชดใช้ค่าใช้จ่ายเนื่องจากการตรวจสอบการกระทำความผิด รวมเป็นเงินจำนวน 1,530,485 บาท
นอกจากนี้ ค.ม.พ. ได้กำหนดห้ามบุคคลทั้ง 3 ราย เป็นกรรมการหรือผู้บริหารของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์หรือบริษัทหลักทรัพย์กระทงละ 5 ปี อย่างไรก็ดี เมื่อคำนึงถึงระยะเวลาสูงสุดในการห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหารตามมาตรา 317/4(4) แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์ที่แก้ไขโดยฉบับที่ 5 ค.ม.พ. กำหนดระยะเวลาห้ามผู้กระทำความผิดทั้ง 3 ราย เป็นกรรมการหรือผู้บริหารของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์หรือบริษัทหลักทรัพย์ เป็นเวลารายละ 10 ปี