BCPG ดัน 4 โครงการร่วมมือกกพ. หนุนโปรเจค “ERC Sandbox” บริหารพลังงานมีประสิทธิภาพสูงสุด
BCPG ดัน 4 โครงการร่วมมือกกพ. หนุนโปรเจค “ERC Sandbox” บริหารพลังงานมีประสิทธิภาพสูงสุด
นายบัณฑิต สะเพียรชัย กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) หรือ BCPG เปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้สมัครเข้าร่วมโครงการทดสอบนวัตกรรมที่นำเทคโนโลยีสนับสนุนการให้บริการด้านพลังงาน (ERC Sandbox) ต่อคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) และได้รับคัดเลือกให้เข้าร่วมโครงการดังกล่าว จำนวน 4 โครงการ ได้แก่
- โครงการบริหารจัดการพลังงาน Town 77 โดยบีซีพีจีและบริษัทในเครือ ได้ร่วมมือกับบริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) พัฒนาพื้นที่ Town 77 บริเวณอ่อนนุช ให้เป็นต้นแบบในการเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือแนวทางการเปลี่ยนแปลงของกิจกรรมการซื้อขายไฟฟ้าระหว่างกันแบบ Peer to Peer ด้วยเทคโนโลยีบล็อคเชน ของผู้ใช้ไฟฟ้าขนาดกลาง ถึงขนาดใหญ่ ภายในเขตนครหลวง
- โครงการพัฒนาต้นแบบเมืองอัจฉริยะ (Smart City) โดยบีซีพีจี และบริษัทในเครือ ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่และพันธมิตร ร่วมพัฒนามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ให้เป็นต้นแบบเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ด้านพลังงานสะอาด (Smart Energy) ของประเทศ และต่อยอดสู่การพัฒนาเมืองอัจฉริยะหรือ Smart City ของจังหวัดเชียงใหม่ ที่เน้นการนำเทคโนโลยีเข้ามาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาและแก้ปัญหาต่างๆ โดยเฉพาะด้านสิ่งแวดล้อม
- โครงการ Sun Share Smart Green Energy Community โดยบีซีพีจีได้ร่วมมือกับ บริษัท เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) พัฒนาระบบโครงข่ายไฟฟ้า Smart Grid บนพื้นที่ครอบคลุมกว่า 200 ไร่ ที่มีการใช้งานพลังงานไฟฟ้าของภาคครัวเรือนและ Community Mall เพื่อให้เป็นต้นแบบชุมชนสีเขียวแห่งอนาคต (Smart Green Energy Community)
- โครงการลมลิกอร์ โดยบริษัท ลมลิกอร์ จำกัด บริษัทผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลม ในเครือบีซีพีจี ได้ทำการศึกษาวิจัยร่วมกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อให้โครงการลมลิกอร์ ซึ่งตั้งอยู่ที่ ตำบลท่าพยา อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นต้นแบบสำหรับการนำเทคโนโลยีการบริหารจัดการพลังงาน (Energy Management System) ด้วยการนำระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage) มาใช้กับพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานลม ช่วยลดปัญหาความผันผวนของพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตจากกังหันลม และนำพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตได้ มาใช้ในเวลาที่เหมาะสม เพื่อเป็นการรองรับธุรกิจนวัตกรรมด้านพลังงานทดแทนและการบริหารระบบโครงข่ายในอนาคต
ทั้งนี้ หากการดำเนินโครงการดังกล่าวบรรลุผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์ที่วางไว้ จะทำให้การบริหารจัดการพลังงานสองคล้องกับแผนปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน และนโยบายของรัฐ อันก่อให้เกิดประโยชน์แก่ส่วนรวมและประเทศชาติสูงสุดในด้านต่างๆ ดังนี้
1) การปฏิรูปด้านไฟฟ้า ปฏิรูปโครงสร้างการบริหารจัดการไฟฟ้า เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการไฟฟ้าและการลงทุนของประเทศ ลดภาระของภาครัฐในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ทำให้เกิดการผลิตไฟฟ้าแบบกระจาย หรือ Distributed Generation (DG) ซึ่งช่วยลดการพึ่งพาการผลิตไฟฟ้าแบบรวมศูนย์ (Centralized Generation)
2) การสนับสนุนพลังงานทดแทนเพื่อส่งเสริมการแข่งขัน และสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรฐกิจ ด้วยการส่งเสริมการติดตั้งโซลาร์รูฟเสรี เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถผลิตไฟฟ้าใช้เองได้ และยังสามารถนำไฟฟ้าส่วนที่เหลือจากการผลิตมาทำการแลกเปลี่ยนซื้อขายกับเอกชนและหน่วยงานอื่นๆ ได้ต่อไปในอนาคต ซึ่งทางภาครัฐสามารถนำข้อมูลผลการศึกษาที่ได้รับจากโครงการ มาออกกเป็นนโยบายกำกับดูแล การซื้อขายไฟฟ้าระหว่างกัน
3) ด้านเทคโนโลยี นวัตกรรม และโครงสร้างพื้นฐาน ด้วยการส่งเสริมเทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงานมาใช้พัฒนาโครงข่ายไฟฟ้าของประเทศอย่างเป็นรูปธรรม โดยการนำระบบกักเก็บพลังงานมาใช้ในการพัฒนาระบบโครงข่ายไฟฟ้าของประเทศ ซึ่งจะเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน และลดภาระของภาครัฐในการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานพลังงาน และสามารถกำหนดแผนการนำมาใช้ในระบบสายส่งในภาคพลังงานต่อไป
สำหรับโครงการที่ได้รับคัดเลือกจะต้องจัดทำแผนปฏิบัติการร่วมกับสำนักงาน กกพ. จนได้ข้อสรุป ซึ่ง กกพ. ได้ให้ระยะเวลาดำเนินการแต่ละโครงการไม่เกิน 3 ปี ซึ่งบีซีพีจีมั่นใจว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จตามกำหนดเวลาอย่างแน่นอน
“บริษัทฯ มีความตั้งใจในการดำเนินการทุกโครงการ เพื่อสนับสนุนนโยบายของรัฐบาล ที่ต้องการเน้นการมีส่วนร่วมของประชาชน พัฒนาพลังงานทดแทนเพื่อเป็นทางเลือกให้ประชาชนมีอิสระด้านพลังงาน ในการผลิตเอง ใช้เอง เหลือขาย ส่งเสริมการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพในทุกภาคส่วน เอี้อประโยชน์ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการเป็นเจ้าของพลังงานมากขึ้น ภายใต้แนวคิด Democratization of Energy ของบริษัทฯ” นายบัณฑิตกล่าว