จับตา “รมว.พลังงาน” หารือ “กกพ.-กฟผ.” ปมร้อน ปชช.ร้องค่าไฟพุ่ง วันนี้!

จับตา "นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์" รมว.พลังงาน" นัดหารือ "กกพ.-กฟผ." ปมร้อน ปชช.ร้องค่าไฟพุ่ง วันนี้!


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (20 เม.ย.63)​ นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เรียกประชุมปลัดกระทรวงพลังงาน คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อหารือแนวทางมาตรการลดค่าครองชีพประชาชนเรื่องค่าไฟฟ้า ภายหลังจากที่มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่าค่าไฟฟ้าปรับเพิ่มสูงขึ้นมากในระหว่างที่ประชาชนหลายคนต้องทำงานอยู่ที่บ้าน (work from home) จากนโยบาย “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ”

อย่างไรก็ตาม ก่อนที่ผลการหารือจะออกมาชี้แจงชัดเจน วานนี้ (19 เม.ย.)​ ทางเพจเฟซบุ๊กชื่อว่า “โธ่ ชีวิตพนักงานไฟฟ้า” ได้มาตอบคำถาม และอธิบายตัวอย่าง 4 สูตรการคำนวณค่าไฟ และเครื่องใช้ไฟฟ้า ที่ทำให้ค่าไฟพุ่งขึ้น ดังนี้

1. การไฟฟ้า คิดเงินแบบอัตราก้าวหน้ามาตลอด ใช้เยอะจ่ายเยอะ ประโยคนี้คือ ความจริง (จะอ้างไม่รู้ไม่ได้นะคะ หรือจะบอกว่าสุดท้ายไฟฟ้าก็เอาเปรียบอยู่ดีไม่ได้ ไฟฟ้าไม่ได้ไปใช้ไฟกับคุณ)

2. ตัวแปรของค่าไฟฟ้าที่สูงขึ้น คือ หน่วยการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น พูดง่าย ๆ ก็ คือ คุณใช้ไฟฟ้ามากขึ้นเลยทำให้ราคามันก้าวกระโดด

3. หลายคนคงสงสัย ทำไมหน่วยการใช้ไฟฟ้าถึงขึ้นได้มากขนาดนี้ ? ไฟฟ้ามาทำอะไรกับมิเตอร์รึเปล่า ?

คำตอบ คือ ไฟฟ้าไม่มีใครไปทำอะไรกับมิเตอร์ลูกค้าหรอกค่ะ เอาจริง ๆ นะ พนักงานแผนกมิเตอร์จำนวน 7 คน ต่อผู้ใช้ไฟฟ้าหลักแสนราย

ทีนี้เราต้องมาดูพฤติกรรมของตัวเองและคนในบ้าน ที่บอกว่าฉันใช้ไฟเท่าเดิม ลองคิดนะ

เปิดแอร์ เวลาเดิมทุกวัน 8.00 – 12.00 น. คุณเย็นเท่าเดิมจริง แต่ตัวที่ทำให้มิเตอร์ขึ้นหน่วยไวแค่ไหน อยู่ที่คอมเพรสเซอร์ข้างนอก ถ้าอากาศข้างนอกร้อนแค่ไหน หน่วยการใช้ไฟก็ขึ้นไวเท่านั้น เพราะคอมเพรสเซอร์คุณทำงานหนัก ยิ่งถ้าเปิดแอร์พร้อมกันนะ เสียงคอมฯดังนานแค่ไหนนั่นแหละคือ ทำใจไว้เลย มิเตอร์กำลังหมุนอย่างแรง และนั่นคือ เงินที่คุณต้องจ่ายไป

เครื่องฟอกอากาศอีก แทบทุกยี่ห้อกินไฟ ลองดูนะที่บอกประหยัดไฟคือไม่ประหยัดเลย ยิ่งเปิดพร้อมแอร์ คูณกำลัง 2 ไปเลย

ตู้เย็น เห็นตั้งนิ่ง ๆ แบบนั้น กินไฟเราแบบเงียบ ๆ นะคะ หน้าที่ของตู้เย็นคือต้องทำความเย็นในช่องแช่อาหาร ตามอุณหภูมิที่เรากำหนด เช่น เราตั้งไว้ที่ 1 องศา หลักการทำงานของมันคือ ต้องทำยังไงก็ได้ให้ 1 องศาตลอดเวลา นั่นก็ คอมเพรสเซอร์หลังตู้เย็นไงที่เป็นตัวทำงาน

– ปิดตู้เย็นบ่อย ๆ เปลืองไฟจริง เพราะตู้เย็นสูญเสียอุณหภูมิตอนเปิด

– แช่ของแบบไม่คิด ยัด ๆ เข้าไปก็เปลืองไฟจริง ต้องจัดระเบียบตู้เย็นกันบ้าง

บ้านที่มีปัญหาเรื่องค่าไฟฟ้าส่วนมาก จะมีเครื่องใช้ไฟฟ้าดังนี้

1. แอร์ พร้อม คอมเพรสเซอร์

2. เครื่องฟอกอากาศ

3. พัดลมไอน้ำ

4. ตู้เย็น ยิ่งอัดของเยอะ คอมเพรสเซอร์ตู้เย็นที่ดังตลอดเวลานั่นแหละคือ กำลังกินไฟคุณ

ตู้เย็นที่ประหยัดไฟคือตู้เย็นที่แช่แค่เครื่องดื่มไม่เกิน 5 ขวดเท่านั้น ถึงจะได้จ่ายราคาต่อปีตามที่ร้านโฆษณา

สรุปคือ ไฟฟ้าไม่ได้ปรับ หรือ ทำอะไรทั้งนั้น ไม่ได้คิดจะทำอะไรด้วย ไม่ฉวยโอกาสอะไรทั้งนั้น ไฟฟ้าการรันตีราคาให้แบบนี้

– ใช้ไปหน่วยที่ 0- 150 หน่วย จ่ายราคาหน่วยละ 3.2484 บาท

– ใช้ไปหน่วยที่ 151 – 400 หน่วย จ่ายราคาหน่วยละ 4.2218 บาท

– ใช้ไปหน่วยที่ 400 ขึ้นไป จ่ายราคาหน่วยนะ 4.4217 บาท

ยกตัวอย่างการคิดแบบคร่าวๆ

ตัวอย่างที่ 1

ใช้ไฟฟ้าไป 200 หน่วย เราจะคิดค่าไฟแบบนี้
150 หน่วยแรก × 3.2484 = 487.26 บาท
50 หน่วยที่เหลือ × 4.2218 = 211.09 บาท
รวมเป็นเงิน = 698.35 บาท
(ราคายังไม่รวม vat 7 %, ค่าบริการ, หักส่วนลดค่า FT)

ตัวอย่างที่ 2

ใช้ไฟฟ้าไป 400 หน่วย เราจะคิดค่าไฟแบบนี้
150 หน่วยแรก × 3.2484 = 487.26 บาท
250 หน่วยที่เหลือ × 4.2218 = 1,055.45 บาท
รวมเป็นเงิน = 1,542.41 บาท
(ราคายังไม่รวม vat 7 %, ค่าบริการ, หักส่วนลดค่า FT)

ตัวอย่างที่ 3

ใช้ไฟฟ้าไป 600 หน่วย เราจะคิดค่าไฟแบบนี้
150 หน่วยแรก × 3.2484 = 487.26 บาท
250 หน่วยถัดมา × 4.2218 = 1,055.45 บาท
200 หน่วยที่เหลือ × 4.4217 = 884.34 บาท
รวมเป็นเงิน = 2,427.05 บาท
(ราคายังไม่รวม vat 7 %, ค่าบริการ, หักส่วนลดค่า FT)

ตัวอย่างที่ 4

ใช้ไฟฟ้าไป 1,000 หน่วย เราจะคิดค่าไฟแบบนี้
150 หน่วยแรก × 3.2484 = 487.26 บาท
250 หน่วยถัดมา × 4.2218 = 1,055.45 บาท
600 หน่วยที่เหลือ × 4.4217 = 2,653.02 บาท
รวมเป็นเงิน = 4,195.73 บาท
(ราคายังไม่รวม vat 7 %, ค่าบริการ, หักส่วนลดค่า FT)

Back to top button