ศาลสั่งประหารชีวิต “บรรยิน” คดีฆ่า “เสี่ยชูวงษ์” ชี้หลักฐานมัดแน่น-จำเลยไม่สำนึก

ศาลอาญาพระโขนง สั่งประหารชีวิต “บรรยิน” คดีฆ่า “เสี่ยชูวงษ์” ชี้หลักฐานมัดแน่น-จำเลยไม่สำนึก


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (20 ม.ค.64) ศาลอาญาพระโขนงอ่านคำพิพากษาคดีที่ นางศิริรัตน์ แซ่ตั๊ง ภรรยาของ นายชูวงษ์ แซ่ตั๊ง และพนักงานอัยการร่วมกันเป็นโจทก์ฟ้อง พ.ต.ท.บรรยิน ตั้งภากรณ์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ (รมช.พาณิชย์) และ อดีต ส.ส.นครสวรรค์ เป็นจำเลย ในความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน และร่วมกันฆ่าผู้อื่นเพื่อจะเอาหรือเอาไว้ซึ่งประโยชน์อันเกิดแต่การที่ตนได้กระทำความผิดอื่น เพื่อปกปิดความผิดอื่นของตน หรือเพื่อหลีกเลี่ยงให้พ้นอาญาในความผิดอื่นที่ตนได้กระทำไว้

กรณีเมื่อวันที่ 26 มิ.ย.2558 นายชูวงษ์ แซ่ตั้ง หรือ เสี่ยจืด นักธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง เสียชีวิตจากอุบัติเหตุรถยนต์หรูยี่ห้อเลกซัสสีดำ ทะเบียน ภฉ 1889 กทม. ชนต้นไม้ มีพ.ต.ท.บรรยิน เป็นคนขับ มีนายชูวงษ์นั่งข้าง ๆ โดยชนต้นไม้ริม ถ.เฉลิมพระเกียรติ ร.9 ระหว่างซอย 48 กับซอย 50 แขวงดอกไม้ เขตประเวศ กทม. เป็นเหตุให้นายชูวงษ์ ถึงแก่ความตาย ซึ่งโจทก์มีพยานหลักฐานเชื่อได้ว่าเป็นการฆาตกรรมอำพรางนายชูวงษ์ แต่พ.ต.ท.บรรยิน ให้การปฏิเสธอ้างเป็นอุบัติเหตุ

วันนี้ศาลอ่านคำพิพากษาให้ พ.ต.ท.บรรยิน ฟังผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์จากเรือนจำ เนื่องจากจำเลยถูกจำคุกในคดีปลอมเอกสารโอนหุ้นของนายชูวงษ์และคดีอุ้มฆ่าพี่ชายของผู้พิพากษา ซึ่งเป็นคดีอุกฉกรรจ์ อีกทั้งอยู่ในช่วงการระบาดของโควิด-19 โดยมี นางวันเพ็ญ ธนธรรมสิริ พี่สาวของ นายชูวงษ์ รวมถึงญาติของพ.ต.ท.บรรยิน อาทิ นางวราภรณ์ ตั้งภากรณ์ ภรรยา และนายวรภัทร์ ตั้งภากรณ์ ลูกชายของ พ.ต.ท.บรรยิน พร้อมทีมทนายความมายังศาลด้วย

เมื่อศาลขึ้นบัลลังก์ ใช้เวลาอ่านคำพิพากษากว่า 2 ชม. โดยบรรยายถึงพฤติการณ์และพยานหลักฐาน ทั้งหลักฐานภาพจากกล้องวงจรปิด พยานผู้เชี่ยวชาญทางวิทยาศาสตร์ และพยานแวดล้อม โดยพิสูจน์ได้ว่าการกระทำของ พ.ต.ท.บรรยิน และพวกมีพิรุธ และนายชูวงษ์ ไม่ได้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุ แต่ถูกจำเลยร่วมกับผู้อื่นฆ่าตาย และจำเลยไม่มีความสำนึก จึงไม่มีเหตุปราณี พิพากษาว่าจำเลย กระทำความผิดตามฟ้อง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 ให้ประหารชีวิต

ทั้งนี้ จำเลยไม่มีความสำนึก จึงไม่มีเหตุปราณี พิพากษาว่าจำเลย กระทำความผิดตามฟ้อง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 ให้ประหารชีวิต

Back to top button