“คลัง” เร่งหาแนวทาง ช่วยคนไม่มีสมาร์ทโฟน เข้าถึง “เราชนะ” เล็งแยกลงทะเบียน-แจกคูปองแทน

“คลัง” เร่งหาแนวทาง ช่วยคนไม่มีสมาร์ทโฟน เข้าถึง “เราชนะ” เล็งแยกลงทะเบียน-แจกคูปองแทน


นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้กระทรวงการคลังไปพิจารณาแนวทางดูแลผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ที่ไม่สามารถเข้าถึงมาตรการเราชนะได้ จากที่ไม่มีมือถือสมาร์ทโฟน ให้เป็นกลุ่มที่ต้องดูแลเป็นพิเศษ ซึ่งกระทรวงการคลัง เตรียมจะเปิดรับลงทะเบียนในกลุ่มนี้วันที่ 15 ก.พ.64 ส่วนวิธีการหรือแนวทางการจ่ายเงินเยียวยายังอยู่ระหว่างการพิจารณา เช่น จะสามารถจัดหามือถือได้อย่างไร หรือจะมีการแจกบัตรพิเศษ ก็ต้องไปดูรายละเอียด เพราะมีกระบวนการ มีขั้นตอนทางกฎหมายอยู่

“ที่ต้องแยกการลงทะเบียนของกลุ่มที่ต้องดูแลเป็นพิเศษ เพราะจะลดความแออัดของคนไปที่สาขา และไม่ว่าจะเป็นการจัดหามือถือ หรือออกบัตรพิเศษให้ หลักการใช้จ่ายก็ต้องเหมือนเดิม ขอไปคุยกับธนาคารก่อนว่าขั้นตอนออกบัตรจะเป็นอย่างไร เพราะมีรายละเอียดต้องพิจารณา” รมว.คลังกล่าว

สำหรับการลงทะเบียนกลุ่มผู้ไม่มีสมาร์ทโฟน จะเปิดรับลงทะเบียนที่สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ เบื้องต้นจะเป็น 3 ธนาคารหลัก คือ ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และธนาคารกรุงไทย เนื่องจากมีสาขาครอบคลุมทั่วประเทศ รวมทั้งจะขอความร่วมมือจากกระทรวงมหาดไทย ให้เข้ามาช่วยรับลงทะเบียนแก่ผู้ที่อยู่ในกลุ่มนี้ด้วย

นายอาคม กล่าวว่า นายกรัฐมนตรี ยังสั่งการให้ดูแลกลุ่มข้าราชการชั้นผู้น้อย ลูกจ้าง พนักงานรัฐวิสาหกิจ ต้องมีมาตรการเยียวยา ซึ่งคลังอยู่ระหว่างพิจารณาเกณฑ์รายได้ที่เหมาะสม และการจ่ายเงินให้กลุ่มนี้ มีขั้นตอน ข้อกฎหมายที่ต้องดูรายละเอียดให้รอบคอบ ซึ่งจะเป็นชุดมาตรการที่แยกออกมาจากมาตรการเราชนะ ส่วนข้อเสนอให้เยียวยากลุ่มประกันสังคมตามมาตรา 33 ในกลุ่มนี้ มีผู้ได้รับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐอยู่กว่า 1.1 ล้านคน ก็สามารถใช้สิทธิได้อยู่แล้ว

รมว.คลัง กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบให้เพิ่มบริการขนส่งสาธารณะให้เข้าร่วมโครงการเราชนะได้ โดยครอบคลุมนิติบุคคล คือ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ, รถร่วมขสมก., รถไฟฟ้า, และรถไฟ และขนส่งส่วนบุคคล เช่น แท็กซี่ สามล้อ วินมอเตอร์ไซค์รับจ้าง ซึ่งต้องมาลงทะเบียนร้านค้า มีแอปพลิเคชันถุงเงิน จึงจะใช้สิทธิได้ ส่วนการใช้จ่ายเราชนะ สำหรับค่าเช่าบ้าน เช่น กรณีอพาร์ตเม้นท์ ก็สามารถทำได้ ถ้าเจ้าของไม่เป็นนิติบุคคล และมาลงทะเบียนร้านค้าไว้

“แต่ละคนต้องมีเงิน 2 กระเป๋า คือ กระเป๋าตัวเอง และเป๋าตัง และต้องเข้าใจวิธีการใช้เงินด้วย ทุกคนมีเงินอยู่แล้ว เราสามารถใช้เงินกระเป๋าตัวเองจ่ายค่าเช่าห้อง และใช้เงินจากแอปเป๋าตัง ที่ได้จากมาตรการเราชนะ ไปใช้จ่ายค่าครองชีพก็ได้ มันก็เป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายได้” นายอาคม กล่าว

สำหรับการลงทะเบียนมาตรการเราชนะ จะเริ่มให้ลงทะเบียนได้ตั้งแต่วันที่ 29 ม.ค.-12 ก.พ.64 สำหรับกลุ่มที่ไม่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และไม่ได้เข้าร่วมโครงการเราชนะ โดยจะต้องลงทะเบียนผ่านหน้าเว็บไซต์ www.เราชนะ.com จากนั้นเข้ากรอกข้อมูล ประกอบด้วย ชื่อ-นามสกุล เลขบัตรประจำตัวประชาชน รหัสหลังบัตรประจำตัวประชาชน วันเดือนปีเกิด และเบอร์โทรศัพท์ กดยืนยัน และรอรับรหัส OTP จากระบบ และรอตรวจสอบสิทธิอีกครั้งในวันที่ 8 ก.พ.64 ถ้าผ่านสิทธิ ก็จะเริ่มรับเงินตั้งแต่ 18 ก.พ.สัปดาห์ละ 1,000 บาท โดยจะโอนเงินทุกวันพฤหัส

ส่วนกลุ่มผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จะไม่ต้องลงทะเบียน รัฐบาลจะจัดสรรวงเงินรอบแรกให้เป็นรายสัปดาห์ทุกวันศุกร์ สัปดาห์ละ 675 หรือ 700 บาทเริ่มตั้งแต่วันที่ 5 ก.พ.เป็นต้นไป สะสมได้จนถึง 31 พ.ค. ส่วนกลุ่มผู้เข้าร่วมมาตรการคนละครึ่ง และมีแอปพลิเคชั่นเป๋าตังเดิม ตรวจสอบสิทธิได้ตั้งแต่วันที่ 5 ก.พ. และระบบจะเริ่มโอนเงินให้ตั้งแต่วันที่ 18 ก.พ. สัปดาห์ละ 1,000 บาท โดยจะโอนเงินทุกวันพฤหัส

ทั้งนี้ กลุ่มผู้ได้รับสิทธิเราชนะ สามารถใช้จ่ายผ่านแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” ซึ่งจะเพิ่มหัวข้อ “เราชนะ” ให้สามารถใช้สิทธิได้ วิธีการใช้จ่ายเหมือนคนละครึ่ง คือ เปิดแอปพลิเคชันเพื่อสแกนคิวอาร์โค๊ดจากร้านค้า ส่วนร้านค้าธงฟ้า จะเริ่มรับจ่ายผ่านบัตร ผ่านเครื่อง EDC ตั้งแต่วันที่ 5 ก.พ.นี้ ขณะเดียวกัน ในส่วนร้านค้าจะมีแอปพลิเคชันถุงเงินธงฟ้า เพื่อใช้สแกนรับจ่ายจากบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่ได้สิทธิในมาตรการเราชนะด้วย

ด้านน.ส.กุลยา ตันติเตมิท รักษาการผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า กลุ่มที่ต้องดูแลเป็นพิเศษ จะใช้งบจากมาตรการเราชนะ ที่ ครม.อนุมัติไว้ที่ 31.1 ล้านคน 2.1 แสนล้านบาทได้ ไม่ต้องมีการเสนอขอตั้งงบประมาณจ่ายเงินเยียวยาเพิ่มใหม่ ส่วนกลุ่มข้าราชการชั้นผู้น้อย จะเป็นโครงการใหม่ซึ่งไม่ใช่โครงการเราชนะ

Back to top button