“อาเซียน” เปิดฉากถกแผนปี 64 ฟื้นฟู ศก.-ท่องเที่ยว หลังพ้นโควิด เร่งสางปมขัดแย้งปท.สมาชิก
“อาเซียน” เปิดฉากถกแผนปี 64 ฟื้นฟู ศก.-ท่องเที่ยว หลังพ้นโควิด เร่งสางปมขัดแย้งประเทศสมาชิก
นายดวงอาทิตย์ นิธิอุทัย รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านเศรษฐกิจอาเซียน หรือ SEOM ครั้งที่ 1/52 และการประชุมคณะกรรมการรายสาขาด้านเศรษฐกิจของอาเซียน หรือ Committee of the Whole (CoW) ครั้งที่ 11 ระหว่างวันที่ 23-27 มกราคม 2564 ผ่านระบบการประชุมทางไกล ซึ่งบรูไนดารุสซาลามทำหน้าที่ประธานอาเซียนว่า การประชุม SEOM ได้หารือแผนการทำงานด้านเศรษฐกิจที่อาเซียนจะดำเนินการให้สำเร็จ ในปี 2564 จำนวน 10 ประเด็น ครอบคลุมยุทธศาสตร์ 3 ด้าน ดังนี้
1) ด้านฟื้นฟู อาทิ การจัดทำเครื่องมือประเมินประสิทธิภาพของมาตรการที่มิใช่ภาษี (NTMs) ของประเทศสมาชิกอาเซียน การจัดทำแผนฟื้นฟูการท่องเที่ยวหลังสถานการณ์โควิด-19 และการประกาศเจรจาจัดทำ FTA อาเซียน-แคนาดา
2) ด้านดิจิทัล อาทิ การจัดทำแผนงานเพื่อดำเนินการตามความตกลงว่าด้วยพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของอาเซียน ปี 2564-2568 และ
3) ด้านความยั่งยืน อาทิ การจัดทำกรอบการส่งเสริม MSMEs (วิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม รายย่อย) ของอาเซียน เรื่องอาหาร การเกษตร และป่าไม้ รวมถึงการจัดทำกรอบเศรษฐกิจหมุนเวียนของอาเซียน
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้หารือและติดตามความคืบหน้าประเด็นสำคัญ อาทิ การทำงานขององค์กรรายสาขาที่อยู่ภายใต้เสาเศรษฐกิจ การจัดตั้งคณะกรรมการอิสระด้านมาตรการที่ไม่ใช่ภาษี (NTMs) เพื่อแก้ปัญหาข้อขัดแย้งระหว่างอาเซียน ติดตามเร่งรัดประเทศอาเซียนที่ยังไม่ได้ให้สัตยาบันความตกลง E-commerce ซึ่งปัจจุบันเหลือเพียงอินโดนีเซีย เพื่อให้ความตกลงมีผลใช้บังคับโดยเร็ว การขยายบัญชีสินค้าจำเป็นที่อาเซียนจะไม่จำกัดการส่งออกในช่วงโควิดเพิ่มเติมจากยา และเวชภัณฑ์ การสมัครเข้าเป็นสมาชิกอาเซียนของติมอร์-เลสเต และกำหนดแผนการประชุมกับประเทศคู่เจรจา ได้แก่ แคนาดา สหรัฐฯ จีน อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สหภาพยุโรป รัสเซีย และฮ่องกง
นายดวงอาทิตย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการประชุมคณะกรรมการ CoW เป็นการประชุมร่วมกันระหว่างองค์กรรายสาขาที่อยู่ภายใต้เสาเศรษฐกิจ เจ้าหน้าที่อาวุโสของ 3 เสาอาเซียน และภาคเอกชนอาเซียน โดยประเด็นที่เกี่ยวข้องกับ 3 เสา อาทิ จำเป็นต้องมีแผนยุทธศาสตร์สำหรับรับมือการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 (4IR) อย่างจริงจังและครอบคลุม ซึ่งอยู่ระหว่างยกร่างยุทธศาสตร์ดังกล่าว รวมทั้งการทบทวนแผนงานระยะกลางของอาเซียน เพื่อประเมินผลการทำงานและกำหนดทิศทางในอนาคต และการลดผลกระทบการจ้างงานยุคดิจิทัล ซึ่งภาครัฐและเอกชนจะต้องทำงานร่วมกันต่อไป
ทั้งนี้ ในปี 2563 การค้าระหว่างไทยกับอาเซียน มีมูลค่า 94,838.07 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยไทยส่งออกไปอาเซียน 55,469.59 ล้านเหรียญสหรัฐ และไทยนำเข้าจากอาเซียน 39,368.47 ล้านเหรียญสหรัฐ ตลาดสำคัญ เช่น มาเลเซีย สิงคโปร์ เวียดนาม อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ เป็นต้น