“คลัง” เร่งเคาะเยียวยาผู้ประกันตน ม.33 ยึดโมเดล “เราชนะ” โอนเงินผ่านแอปฯ-เล็งช่วยอสังหาฯ
“คลัง” เร่งเคาะเยียวยาผู้ประกันตน ม.33 ยึดโมเดล “เราชนะ” โอนเงินผ่านแอปฯ-เล็งช่วยอสังหาฯ
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ( รมว.คลัง) คาดว่า เร็วๆ นี้จะมีข้อสรุปมาตรการแจกเงินเยียวยาให้กับผู้ประกันตน ตามมาตรา 33 ของ พ.ร.บ.ประกันสังคม ซึ่งจะต้องใช้ฐานข้อมูลจากสำนักงานประกันสังคมทั้งหมดมาพิจารณาว่าจะต้องช่วยเหลือแรงงานในกลุ่มใดบ้าง โดยรูปแบบการจ่ายเงินเยียวยาจะเป็นในลักษณะเดียวกับโครงการ “เราชนะ” ที่โอนวงเงินผ่านแอปพลิเคชันเราชนะ แต่รายละเอียดกำลังหารือกันต่อ ซึ่งจะได้ข้อสรุปในเร็ว ๆ นี้
รมว.คลัง ยังกล่าวถึงการหารือกับสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยว่า สภาหอการค้าฯ ได้ขอเข้าหารือโดยต้องการให้ช่วยเหลือผู้ประกอบการหลายเรื่อง โดยเฉพาะผู้ประกอบการท่องเที่ยว และธุรกิจเอสเอ็มอี ซึ่งขณะนี้ธุรกิจโรงแรมเริ่มมีปัญหาขาดสภาพคล่องและไม่สามารถแบกรับภาระได้ไหวแล้ว เพราะภาคการท่องเที่ยวยังไม่กลับมา ดังนั้นจึงขอยกเว้นการเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีเงินได้นิติบุคคล ซึ่งที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) สัปดาห์ที่ผ่านมาก็มีมติให้เลื่อนยื่นแบบเสียภาษีออกไปอีก 3 เดือนแล้ว
ด้านนายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ต้องการให้รัฐบาลกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ โดยขอให้ยกเลิกการบังคับใช้มาตรการ LTV เป็นการชั่วคราว เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนที่มีกำลังซื้อสามารถซื้อที่อยู่อาศัยเพื่อการลงทุนได้มากขึ้น และช่วยเหลือผู้ประกอบการด้านก่อสร้าง เช่น โครงการบ้านดีมีดาวน์ รวมทั้งแนวทาง warehousing (โกดังเก็บหนี้) ซึ่ง รมว.คลัง รับปากว่าภายใน 2 สัปดาห์ จะทราบความคืบหน้ารายละเอียดแนวทางว่าเป็นอย่างไรบ้าง
นอกจากนี้ ยังมีข้อเสนอเรื่องการเสริมสร้างขีดความสามารถของธุรกิจค้าปลีก โดยขอให้ร้านค้าที่จดทะเบียนนิติบุคคลสามารถเข้าร่วมโรงการคนละครึ่งได้ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงสินค้าที่หลากหลาย รวมถึงการป้องกันการทุจริตจัดซื้อจัดจ้าง ตาม พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 การเสริมสร้างขีดความสามารถธุรกิจพาณิชย์นาวี แนวพัฒนาด้านการค้าชายแดน และการเพิ่มช่องทางให้เข้าถึงแหล่งหางานทำ เช่น การโปรโมทงานบนช่องทางออนไลน์ของรัฐ เนื่องจากช่วง มี.ค.-ก.ค. เป็นฤดูเก็บเกี่ยวผลไม้ ซึ่งจะใช้หางานให้กับผู้ที่ว่างงานด้วย
ส่วนความคืบหน้าในเรื่องข้อเสนอให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) สนับสนุนการจ้างงานภาคท่องเที่ยวรูปแบบร่วมจ่าย (Co-pay) นั้น ขณะนี้ได้ส่งรายชื่อโรงแรมให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาเรียบร้อยแล้ว แต่จะต้องไปหารือกันต่อกับกระทรวงแรงงานเรื่องมาตรการดังกล่าว ซึ่งยังไม่ได้ข้อสรุปว่าจะร่วม Co-pay กันอย่างไร โดยข้อเสนอเหล่านี้ กระทรวงการคลังจะกลับไปพิจารณาแล้วจะกลับมาหารือร่วมกันอีกครั้งใน 1 เดือนข้างหน้า ว่าจะมีมาตรการส่วนใดบ้างที่สามารถดำเนินการได้