“สธ.” ยกทีมแถลงกลางรัฐสภา โต้ฝ่ายค้าน กล่าวหาจัดซื้อวัคซีนโควิดล่าช้า ไม่โปร่งใส

กระทรวงสาธารณสุข ยกคณะตั้งโต๊ะแถลงกลางรัฐสภา ชี้แจงปมวัคซีนโควิด-19 หลังฝ่ายค้านหยิบยกอภิปราย กล่าวหากระบวนการจัดซื้อล่าช้า ไม่โปร่งใส


นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พร้อมด้วย นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค และ นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ร่วมแถลงรายละเอียดข้อมูลการจัดหาวัคซีนที่อาคารรัฐสภา เพื่อชี้แจงเกี่ยวกับประเด็นการจัดหาล่าช้า การจัดซื้อไม่โปร่งใส ประเด็นการเอื้อประโยชน์เอกชน หรือซื้อในราคาแพง ที่ฝ่ายค้านได้หยิบยกขึ้นมาอภิปรายไม่ไว้วางใจ

นพ.นคร กล่าวว่า ได้มีการวางแผนจัดหาวัคซีนตั้งแต่เดือน เม.ย.63 ทั้ง 3 ช่องทาง คือ 1.การวิจัยและพัฒนาในประเทศ 2.การแสวงหาความร่วมมือกับหน่วยงานในต่างประเทศ เช่น อังกฤษ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น เบลเยี่ยม และ 3.การติดตามงานวิจัยและพัฒนาจากผู้ผลิต

โดยในเดือน ก.ค.-ส.ค.63 ได้มีการเจรจาซื้อวัคซีนกับบริษัท แอสตราเซเนกา กับมหาวิทยาลัยอ๊อกฟอร์ด ซึ่งจะมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตให้กับบริษัท สยามไบโอไซแอนซ์ ที่บริษัท แอสตราเซเนกา ได้ประเมินศักยภาพแล้ว โดยบริษัท สยามไบโอไซแอนซ์ เป็น 1 ใน 25 รายที่บริษัท แอสตราเซเนกา คัดเลือกจากผู้ที่เสนอตัวเป็นฐานการผลิตถึง 60 ราย การจองซื้อวัคซีนครั้งนี้จึงมีความแตกต่างไปจากปกติ เพราะมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้ด้วย โดยมีเงื่อนไขที่จะเป็นฐานการผลิตวัคซีนให้กับภูมิภาค

“การจัดซื้อวัคซีนครั้งนี้มีคณะกรรมการตรวจสอบหลายชุด โปร่งใส ไม่ได้มีการปกปิด” นพ.นคร กล่าว

โดยเงินที่ใช้จองวัคซีนจากบริษัท แอสตราเซเนกา จะรวมค่าวัคซีนไปด้วย ขณะที่เงินจองวัคซีนกับโครงการโคแวกซ์ (COVAX) ขององค์การอนามัยโลก จะเป็นเฉพาะค่าบริหารจัดการเท่านั้น ยังไม่รวมค่าวัคซีน อีกทั้งวัคซีนส่วนใหญ่เป็นของบริษัท แอสตราเซเนกา ดังนั้นจึงไม่จำเป็นที่ไทยต้องเข้าไปร่วมโครงการนี้ให้ซ้ำซ้อน และไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเลือกใช้หลากหลายผู้ผลิต ขอแค่ให้ได้วัคซีนมาใช้งานเท่านั้น ส่วนกรณีมีข่าวไทยปฏิเสธซื้อวัคซีนของบริษัท แอสตราเซเนกา จากบริษัทอินเดียนั้นเป็นข่าวเท็จ แต่เป็นการเสนอความร่วมมือทำงานวิจัยกับผู้ผลิตวัคซีนอีกราย

ด้านนพ.โอภาส กล่าวว่า เป้าหมายการใช้วัคซีนคือ ลดอัตราการป่วยและการตาย รักษาความมั่นคงของระบบสาธารณสุข สร้างภูมิคุ้มกันหมู่ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมมากที่สุด ซึ่งตั้งเป้าไว้ 10 ล้านโดส/เดือน โดยจะเริ่มฉีดกลุ่มแรกให้กลุ่มเสี่ยง/พื้นที่เสี่ยง/อาชีพเสี่ยง ในเดือน ก.พ.-เม.ย.64 หลังจากนั้นเมื่อมีวัคซีนเพียงพอจะเริ่มฉีดในเดือน มิ.ย.64 ซึ่งได้มีการซักซ้อมการฉีดวัคซีนไว้เรียบร้อยแล้ว โดยจะมีการติดตามผลข้างเคียงทุกขั้นตอนหลังฉีดแล้วต่อเนื่องไปเป็นระยะ 1 เดือน ส่วนผู้ที่ได้รับผลข้างเคียงรุนแรงจะได้รับเงินชดเชยหากเจ็บป่วยรุนแรงหรือเสียชีวิตจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า การนำวัคซีนป้องกันโควิด-19 มาใช้งานเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ในระดับประเทศ ซึ่งมุ่งดูแลทั้งเรื่องสุขภาพและระบบเศรษฐกิจควบคู่กันไป โดยจะเร่งดำเนินการฉีดให้กับประชาชนทั่วประเทศเร็วที่สุดจำนวน 63 ล้านโดสภายในปีนี้ ถึงแม้ปัจจุบันจะสามารถควบคุมสถานการณ์โรคได้ดีแล้วแต่เราต้องการนำวัคซีนมาใช้เพื่อให้สามารถควบคุมโรคได้ดีขึ้น

ทั้งนี้ การแถลงชี้แจงของกระทรวงสาธารณสุข สืบเนื่องจากกรณีที่ นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และนายอนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข โดยเน้นไปที่ประเด็นการบริหารจัดการวัคซีนที่ผิดพลาด เอาประชาชนไปกระจุกเสี่ยงจากวัคซีนแหล่งเดียว ไม่สนใจคำแนะนำของบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความรู้ความสามารถ ขาดความโปร่งใส ขัดขวางกลไกการตรวจสอบ ทั้งที่เงินทุกบาทที่ซื้อวัคซีนล้วนเป็นเงินภาษีของประชาชน และการฉีดวัคซีนล่าช้าจะส่งผลให้ปัญหาปากท้องลากยาวไม่จบสิ้น ประชาชนทุกข์ยากแสนสาหัส คนตกงาน สูญเสียอาชีพ รายได้ฝืดเคือง และทำมาหากินด้วยความยากลำบาก

นายวิโรจน์ กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ และนายอนุทิน รู้อยู่ตลอด เพราะรัฐบาลนี้เป็นคนคาดการณ์ว่าหากฉีดวัคซีนล่าช้า 1 เดือน ความเสียหายทางเศรษฐกิจจะเท่ากับ 2.5 แสนล้านบาท ดังนั้นทุกวันที่ พล.อ.ประยุทธ์ บริหารประเทศ ประเทศชาติจะเสียหายเป็นมูลค่า 8,300 ล้านบาท คิดเป็นชั่วโมง ชั่วโมงละ 347 ล้าน เป็นความผิดที่ พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) และนายอนุทิน จะปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้ เพราะไม่ใช่แค่เรื่องของการป้องกันโรค แต่ความสำคัญ คือ การกอบกู้เศรษฐกิจ และเยียวยาปัญหาปากท้องของคนไทยทั้งประเทศ จึงไม่แปลกใจที่เห็นประเทศอื่นเร่งฉีดวัคซีนให้กับประชาชนของเขา ประเทศในอาเซียนก็เริ่มฉีดวัคซีนกันแล้ว อาทิ อินโดนีเซีย เริ่มฉีดเมื่อวันที่ 13 ม.ค. 64 เมียนมา และลาว เริ่มฉีดไปแล้วเมื่อวันที่ 27 ม.ค.64 กัมพูชา เริ่มฉีดไปแล้วเมื่อวันที่ 10 ก.พ. 64

“พอมาดูแผนการฉีดวัคซีนของประเทศไทย ภายใต้วิสัยทัศน์ของ พล.อ.ประยุทธ์ ได้แต่ถอนหายใจ…จากการนำเสนอของกรมควบคุมโรค ในที่ประชุมคณะกรรมาธิการสาธารณสุข สภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 26 พ.ย.63 ได้กำหนดแผนการจัดหาวัคซีนเอาไว้ 65 ล้านโดส ภายใน 3 ปี นี่คือแผนเดิมที่ พล.อ.ประยุทธ์ วางเอาไว้ให้กับประชาชนคนไทย ตามแผนเดิม ปี 64 จะฉีดให้กับประชาชนแค่ 11 ล้านคน ปี 65 ฉีดอีก 11 ล้านคน และปี 66 ฉีดอีก 10 ล้านคน นี่แสดงว่าความตั้งใจเดิมของ พล.อ.ประยุทธ์ นั้นวางแผนการฉีดวัคซีนได้ล่าช้ามากๆ กว่าจะครอบคลุมประชากรครึ่งหนึ่งของประเทศ หรือ 32.5 ล้านคน นี่ต้องใช้เวลาถึง 3 ปี แล้วอย่างนี้จะสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ คืนปากท้องและการดำเนินชีวิตที่ใกล้เคียงกับปกติได้อย่างไร เรื่องสำคัญที่ทั่วโลกตื่นตัว เป็นความอยู่รอดของประชาชนทั้งประเทศ แต่ พล.อ.ประยุทธ์ กลับทำงานหวานเย็น เช้าช้อนเย็นช้อน แถมยังเป็นช้อนกาแฟ จากแผนหวานเย็นเดิม ที่รัฐบาลวางแผนจะฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมประชาชน 50% ณ สิ้นปี 66 เพิ่งจะเร่งขึ้นมาเป็นสิ้นปี 64 ในวันที่ 5 ม.ค. 64 นี้เอง ผมก็ต้องตั้งคำถามให้ พล.อ.ประยุทธ์ ตอบอยู่ดีว่ามาปรับแผนแบบปุ๊บปั๊บแบบนี้ จะหาวัคซีนมาได้อย่างไร” นายวิโรจน์ กล่าว

นอกจากนี้ นายวิโรจน์ ยังกล่าวถึงกรณีการสั่งซื้อวัคซีนจากซิโนแวคของรัฐบาลด้วยว่า เมื่อรัฐบาลเลือกที่จะเอาเงินภาษี 1,228 ล้านบาท ไปซื้อวัคซีนจากจีน มาแก้ขัดแล้วเหตุใดถึงไม่ตัดสินใจซื้อวัคซีนซิโนฟาร์ม ที่ผลิตด้วยเทคโนโลยีเดียวกัน และได้รับการขึ้นทะเบียนสำหรับใช้งานทั่วไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ 31 ธ.ค. 63 และมีผลการทดสอบเฟส 3 ในคนสูงถึง 79.34% และมีผลการทดสอบที่ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ มีประสิทธิภาพสูงถึง 86% และเป็นวัคซีนหลักที่ประเทศจีนใช้ฉีดให้กับประชาชน แต่ พล.อ.ประยุทธ์ กลับเลือกซื้อวัคซีนจากซิโนแวค ที่ปรากฏเป็นข่าวว่ามีนายทุนรายหนึ่งเข้าไปลงทุนด้วยเม็ดเงิน 1.54 หมื่นล้านบาท เพื่อถือหุ้น 15% ซึ่ง ณ ขณะที่มีมติ ครม.ให้ซื้อวัคซีนซิโนแวค ในวันที่ 5 ม.ค. 64 วัคซีนซิโนแวคยังไม่ได้มีผลการทดสอบในเฟส 3 แต่อย่างใด

นายวิโรจน์ กล่าวว่า อะไรทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ และนายอนุทิน ใจกล้าขนาดที่จะไม่ให้ประเทศไทยเข้าร่วมโครงการโคแวกซ์ (COVAX) ขณะที่หลายๆ ประเทศ ต่างก็เข้าร่วม โดยองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้เขียนไว้ชัดเจนว่า “COVAX เป็นโครงการจัดหาวัคซีนระดับโลก ที่มุ่งทำให้ทุกๆ ประเทศเข้าถึงวัคซีนอย่างรวดเร็ว และเท่าเทียมกัน โดยไม่จำกัดระดับรายได้ของประเทศ” ซึ่งประเทศในอาเซียนที่ไม่เข้าร่วมกับ COVAX มีอยู่ประเทศเดียว คือ ประเทศไทย แต่ไปกระจุกความเสี่ยง รอการผลิตวัคซีนแอสตราเซเนกา จากบริษัทเอกชนที่ไม่เคยผลิตวัคซีนมาก่อน

นายวิโรจน์ กล่าวด้วยว่า ข้ออ้างที่ออกมาบอกกันว่าหากประเทศไทยจะเข้าร่วม COVAX จะต้องนำเงินไปจ่ายล่วงหน้า ถ้าวัคซีนไม่สำเร็จก็จะไม่ได้เงินคืน จึงเกิดคำถามว่า เหตุใด พล.อ.ประยุทธ์ ถึงได้กล้าอนุมัติให้นำเอาเงิน 2,379 ล้านบาท ไปจองวัคซีนล่วงหน้ากับแอสตราเซเนกา เงื่อนไขก็เหมือนกันคือ ถ้าวัคซีนไม่สำเร็จก็จะไม่ได้รับวัคซีน ซึ่งในเวลานั้น แอสตราเซเนกา ยังไม่ทราบผลการทดลองของวัคซีนในเฟส 3 เลยด้วยซ้ำ

นายวิโรจน์ ยังอภิปรายย้ำด้วยว่า เจตนาของตนเองไม่ใช่ต้องการให้ประเทศไทยไปพึ่งพา COVAX ทั้งหมด แต่การที่ปฏิเสธ COVAX ไปเลย ทั้งๆ ที่มีถึง 172 ประเทศทั่วโลกเข้าร่วมกัน แต่รัฐบาลกลับเอาประชาชนทั้งประเทศไปเดิมพันกับวัคซีนแอสตราเซเนกา จะเอาแต่แอสตราเซเนกาเจ้าเดียว แถมเป็นแอสตราเซเนกา Made in Thailand ที่ผลิตโดยบริษัทเอกชนที่เพิ่งรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีมา และน่าจะไม่เคยผลิตวัคซีนมาก่อนเสียด้วย เป็นการกระทำที่เสี่ยงมากๆ

นอกจากนี้ รัฐบาลยังให้ประชาชนที่อายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป ฉีดวัคซีนแอสตราเซนเนกาอยู่หรือไม่ เพราะที่ประเทศเยอรมนี ฝรั่งเศส และสวีเดน ประกาศไม่แนะนำให้ใช้วัคซีนแอสตราเซเนกากับผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป เนื่องจากวัคซีนแอสตราเซนเนกามีจำนวนผลการทดสอบวัคซีนในกลุ่มผู้สูงอายุที่ไม่มากพอ และประเทศอื่นในยุโรป อาทิ เดนมาร์ก เบลเยียม และเนเธอร์แลนด์ ต่างก็ทยอยออกมาประกาศจำกัดการใช้วัคซีนแอสตราเซเนกาในกลุ่มผู้สูงอายุ โดยประเทศไทย มีผู้สูงอายุที่มีอายุ 65 ปี ขึ้นไป จำนวน 7.87 ล้านคน ซึ่งต้องใช้วัคซีนถึง 15.74 ล้านโดส

“ถ้าไม่เอาแอสตราเซเนกา จะไปเอาวัคซีนอื่นที่ไหน ซิโนแวคก็มีแค่ 2 ล้านโดส COVAX ก็ไม่เข้าร่วม คือ พล.อ.ประยุทธ์ จะบังคับให้ ผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป ต้องฉีดแอสตราเซเนกาเท่านั้นใช่หรือไม่” นายวิโรจน์ กล่าว

Back to top button