“จิรายุ” ชำแหละแผน 16 วันทันใจนาย ล้มประมูลสายสีส้ม! “ศักดิ์สยาม” ซัดกลับ อย่าจินตนาการ
“จิรายุ ห่วงทรัพย์” ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย ชำแหละ ปฏิบัติการ 16 วันทันใจนาย ล้มประมูลสายสีส้ม! “ศักดิ์สยาม” ซัดกลับ อย่าจินตนาการ
นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส.กทม.พรรคเพื่อไทย อภิปรายไม่ไว้วางใจโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม มูลค่า 1.2 แสนล้านบาทว่า การประมูลโครงการดังกล่าว มีการดำเนินการตาม พ.ร.บ.ร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน ตั้งคณะกรรมการ 8 อรหันต์ ตามมาตรา 36 ส่วนใหญ่เป็นคนในกระทรวงคมนาคม มีอำนาจสามารถแก้ไข้เปลี่ยนแปลงการประกวดราคาได้ โดยมีการจัดตาม “ปฏิบัติการ 16 วันทันใจนาย” พร้อมใช้ทฤษฎีสมคบคิดแบ่งงานกันทำ มีเจตนาพิเศษ
โดยนายจิรายุ ระบุว่า วันที่ 7 ส.ค.63 บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล็อปเมนต์ (ITD) ยื่นเรื่องขอเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการเปิดประมูลว่าทำไม่ได้ ต่อมาวันดีเดย์ 21 ส.ค.63 จึงมีการแก้ไขเงื่อนไขการเปิดประมูล ได้เชิญนายภคพงษ์ ศิริกันธรมาศ ผู้ว่าการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) มาร่วมประชุม ซึ่งไม่ใช่คณะกรรมการตามมาตรา 36 และจากนั้นจึงมีการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการประกวดราคาสายสีส้มในเวลาต่อมา บันทึกการประชุมวันที่ 21 ส.ค. มีเนื้อหาว่าคณะกรรมการบางคน ทักว่าทำได้หรือไม่ และจะเอื้อประโยชน์ให้ใครหรือไม่ แต่ผู้ว่าฯ รฟม.บอกว่าเราสงวนสิทธิไปแล้วว่าเปลี่ยนแปลงได้ ไฮไลต์สำคัญคือตัวแทนจากบริษัทที่ปรึกษา เป็นตัวแปรสำคัญของเรื่องนี้ ตอบว่าเปลี่ยนเงื่อนไขการประกวดราคาได้ กระทั่งที่ประชุมมีมติแก้ไขเงื่อนไขการประมูล เว้นแต่ผู้แทนจากสำนักงบประมาณเท่านั้นที่ไม่เห็นด้วย
ดังนั้น จึงอยากถามว่าทำไมผู้ว่าฯ รฟม.เพิ่งมาคิดเปลี่ยนแปลง มีอะไรไม่ชอบมาพากลหรือไม่ ต่อมา บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS) เอกชนที่ซื้อซองประมูลไปแล้ว ฟ้องศาลปกครอง แต่คณะกรรมการทั้ง 8 คนก็ล้มประมูล ไม่รอการตัดสินของศาล
“ถือเป็นเรื่องที่น่าสงสัย เพราะโครงการสีส้มเป็นโครงการใหญ่ แล้วทำกันอย่างนี้หรือ นักลงทุนที่ไหนจะกล้ามาลงทุน เพราะเปิดประมูลไม่ตรงไปตรงมา แบ่งงานกันทำ และเอื้อประโยชน์ให้พวกพ้อง ไม่เห็นประโยชน์ของประเทศชาติและพี่น้องประชาชนใช่หรือไม่ และอยากเตือนเอาไว้ว่า ก่อนหน้านี้ศาลก็ได้ตัดสินจำคุก 6 ปี อดีตผู้ว่าฯ รฟท.คดีแอร์พอร์ตลิงก์เอาไว้เป็นอุทาหรณ์ จึงเป็นเหตุให้ตนไม่ไว้วางใจนายกฯ และรมว.คมนาคม” นายจิรายุ กล่าว
ด้านนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม กล่าวชี้แจงว่า โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ 1.ส่วนตะวันออก (ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี) ระยะทาง 22.5 กม. จำนวน 17 สถานี (สถานีใต้ดิน 10 สถานี และ สถานียกระดับ 7 สถานี) โดยในขณะนี้ มีความก้าวหน้า 76% คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2567 เปิดให้บริการช่วง ต.ค. 2567
และ 2.ส่วนตะวันตก (ช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมฯ) ระยะทาง 13.4 กม. จำนวน 11 สถานี (สถานีใต้ดินตลอดสาย) ในขณะนี้อยู่ระหว่างการคัดเลือกเอกชน ตาม พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 และให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อปี 2563 ที่ให้ดำเนินการโครงการรูปแบบ PPP Net Cost รอหาเอกชนมาร่วมลงทุน โดยคาดว่าจะเปิดให้บริการ เม.ย. 2570
อย่างไรก็ตาม ในส่วนตะวันออก จะเป็นสัญญาก่อสร้างงานโยธาเป็นหลัก แต่ขณะที่ส่วนตะวันตก จะรวมการเดินรถเข้าไปด้วย ทั้งนี้ หากส่วนตะวันตกไม่สามารถดำเนินการได้ จะส่งผลให้ส่วนตะวันออกจะยังไม่เปิดให้บริการ
นายศักดิ์สยาม กล่าวถึงประเด็นการคัดเลือกเอกชนว่า ได้ดำเนินการตาม พ.ร.บ.ร่วมลงทุนฯ พ.ศ.2562 โดยเมื่อวันที่ 14 ก.พ. 2563 รฟม. มีคำสั่งที่ 67/2563 แต่งตั้งคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 ขณะเดียวกัน เพื่อให้เกิดความชัดเจนตามมติ ครม.ที่อนุมัติโครงการฯ เมื่อวันที่ 28 ม.ค. 2563 ที่ผ่านมา กระทรวงคมนาคมจึงได้ทำหนังหารือไปยังสำนักเลขาธิการ ครม. โดยเป็นการอนุมัติหลักการโครงการเท่านั้น ทั้งนี้ ตนได้กำชับให้ รฟม. ดำเนินการตามระเบียบ และกฎหมายที่เกี่ยวข้องโดยเคร่งครัด และตามหลักธรรมาภิบาล
“ผมยืนยันว่า การดำเนินการโดยใช้ราคาและคุณภาพนั้น เพราะเป็นเรื่องการขุดอุโมงค์ และที่ผ่านมา การก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ก็มีปัญหาเรื่องสิ่งปลูกสร้างแตกร้าว เช่น มีน้ำรั่วไหลเข้าไปในสถานีสามยอด ทำให้เทคนิคการก่อสร้างมีความสำคัญ เพราะโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก ต้องผ่านชุมชนหนาแน่น ซึ่งเป็นย่านเศรษฐกิจ การค้า รวมถึงพื้นที่สำคัญอื่นๆ ส่วนการยกเลิกเมื่อวันที่ 3 ก.พ. 2564 ที่ผ่านมานั้น ก็เป็นการดำเนินการตามกฎหมายที่มีการสงวนให้มีการยกเลิกได้ โดยผู้ยื่นข้อเสนอไม่สามารถเรียกร้องค่าเสียได้ และได้มีการหารือสำนักนายกฯ แล้ว พร้อมทั้งสั่งการให้ รฟม.ดำเนินการตามระเบียบ” นายศักดิ์สยาม กล่าว
สำหรับการดำเนินการคัดเลือกเอกชนครั้งใหม่ ภายหลังการยกเลิกประกาศเชิญชวนฯ และการคัดเลือกเอกชน เมื่อวันที่ 3 ก.พ. 2564 ที่ผ่านมา โดยภายใน ก.พ.นี้ รฟม. จะจัดรับฟังความเห็นความสนใจการลงทุนของภาคเอกชน (Market Sounding) และสาระสำคัญของเอกสารการคัดเลือกเอกชน (RFP) จากนั้นคณะกรรมคัดเลือกจะเห็นชอบประกาศเชิญชวน, RFP และร่างสัญญาฯ
ขณะเดียวกัน รฟม.จะออกประกาศเชิญชวน และขายเอกสาร RFP ภายใน มี.ค. 2564 ก่อนที่จะเปิดให้เอกชนยื่นข้อเสนอในช่วง มี.ค.-พ.ค. 2564 หลังจากนั้นคณะกรรมการคัดเลือกฯ ประเมินข้อเสนอ-เจรจาต่อรอง ช่วง พ.ค.-ก.ค. 2564 ก่อนส่งต่อให้อัยการสูงสุดตรวจร่างสัญญาฯ และคาดว่าจะเสนอให้ ครม. พิจารณาเห็นชอบผลการคัดเลือกฯ และลงนามสัญญาภายใน ก.ค. 2564 อย่างไรก็ตาม เมื่อยกเลิกการประมูลแล้วคัดเลือกใหม่นั้น จะใช้เวลา 6 เดือน ช่วยลดระยะเวลาได้ 1 ปี หรือหากรอให้ข้อพิพาทถึงที่สุด จะใช้ระยะเวลา 18 เดือน
“ที่กล่าวหาว่า การดำเนินการเอื้อประโยชน์ ผมขอถามกลับว่าเอื้อประโยชน์ใคร ใครได้ประโยชน์ เพราะโครงการนี้ ยังไม่มีการประกาศผลว่าใครชนะ ยังไม่มีการเปิดซอง ยืนยันว่ากระทรวงคมนาคมดำเนินการตามกฎหมายที่ให้อำนาจหน้าที่ และท่านนายกฯ สั่งการมาตลอด ผมต้องถามว่า ผิดกฎหมายตรงไหน แล้วเกี่ยวกับรัฐมนตรีว่าคมนาคมตรงไหนที่ไม่กำกับดูแล และผู้อภิปรายท่านเอาข่าวมาปะติดปะต่อ และใช้จินตนาการ” นายศักดิ์สยาม กล่าว