“สธ.” โต้ “WHO” ตลาดจตุจักรไม่ใช่ต้นตอโควิด ยันไทยมีระบบควบคุม-เฝ้าระวังโรคเข้มงวด
“สธ.” โต้ "องค์การอนามัยโลก" ตลาดจตุจักรไม่ใช่ต้นตอโควิด ยันไทยมีระบบควบคุม-เฝ้าระวังโรคเข้มงวด
นพ.เฉวตสรร นามวาท รักษาราชการแทน ผอ.กองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ชี้แจงกรณีมีรายงานข่าวว่าไวรัสโควิดที่ไปกระจายที่อู่ฮั่นมีต้นกำเนิดมาจากตลาดจตุจักรว่า ขอเรียนว่าไม่เป็นความจริง
“ตามที่มีประเด็นเกี่ยวเนื่องจากการแถลงข่าวของผู้เชี่ยวชาญขององค์การอนามัยโลก และสำนักข่าวต่างๆ นำมาเสนอ และเชื่อมโยงมาถึงจตุจักรอาจเป็นต้นกำเนิดของเชื้อโควิด-19 ก่อนอู่ฮั่นนั้น ทางกรมฯ ได้ติดตามเรื่องนี้ ขอเรียนว่าไม่เป็นความจริง” นพ.เฉวตสรร กล่าว
ทั้งนี้ ประเทศไทยมีการเฝ้าระวัง โดยนักวิจัยมีการเก็บตัวอย่างเชื้อภายใต้ความร่วมมือของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และศูนย์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ รพ.จุฬาลงกรณ์ ในการศึกษาค้างคาวต่อเนื่องมา 20 ปีว่ามีโอกาสว่าพบการแพร่เชื้อโรคจากสัตว์สู่คนหรือไม่
นพ.เฉวตสรร กล่าวว่า ประเทศไทยมีนักวิจัยที่เก็บตัวอย่างตรวจสอบค้างคาวมงกุฎในไทยช่วงตอนต้นการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เนื่องจากมีข้อสงสัยว่าเชื้อนี้มาจากสัตว์ ซึ่งยังไม่มีหลักฐานใดๆ ชี้ชัดได้ว่ามาจากสัตว์อะไร ข้อสรุปยังไม่ชัดเจน เพราะฉะนั้นจึงต้องดูหลักฐานทางวิชาการ แต่จากผลวิจัยที่ได้พบว่าค้างคาวเป็นแหล่งรังโรคของเชื้อไวรัสหลายชนิด ซึ่งเชื้อไวรัสโคโรนาโคโนน่าที่พบในค้างคาวมงกุฏที่พบในไทย มีรหัสพันธุกรรมคล้ายคลึงกับเชื้อไวรัสโควิด-19 ถึง 91.5% แต่ไม่ติดต่อจากค้างคาวสู่คน
ดังนั้น จากข้อเท็จจริงข้อนี้นำไปสู่ข้อแนะนำประชาชนว่า การไม่กินสัตว์ป่า ล่าสัตว์ป่า รวมทั้งค้างคาว นับเป็นการป้องกันโรคที่ดีที่สุด
“สายพันธุ์โคโรนามีหลายสายพันธุ์ บางสายพันธุ์ก่อโรคในสัตว์และถ่ายทอดในสัตว์ แต่ไม่ถ่ายทอดหาคน เช่น ไวรัสโควิด-19 ในหมา ในแมว ทั่วไปที่เจอไม่มาหาคน แต่เจอในสัตว์อื่นๆ เช่น ค้างคาว” นพ.เฉวตสรร กล่าว
นพ.เฉวตสรร กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากการวิจัยดังกล่าวแล้ว ยังมีความร่วมมืออื่นระหว่าง กรมควบคุมโรคกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ โดยกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และกรมปศุสัตว์ ได้ดำเนินโครงการควบคุมป้องกันโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน เพื่อเฝ้าระวังและค้นหาเชื้อโรคที่แอบแฝง รวมถึงการหารือแผนปฏิบัติการป้องกันกำจัดโรคระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในตลาดค้าสัตว์ป่า โดยกำหนดให้มีการทำความสะอาดพื้นที่ตลาดค้าสัตว์ป่า และ ตลาดค้าสัตว์เลี้ยง 5 แห่งในพื้นที่กทม. เช่น ตลาดจตุจักร ตลาดมีนบุรี ตลาดพุทธมณฑล เป็นประจำ
“ยังต้องติดตามต่อเนื่อง ยังไม่มีหลักฐานประเทศที่เกี่ยวข้อง แต่ประเทศไทยให้ความสำคัญในเรื่องเฝ้าระวังอยู่แล้ว แม้ยังไม่เจอปัญหาไม่มีหลักฐานก็เตรียมการป้องกันอย่างเต็มที่” นพ.เฉวตสรร กล่าว