ภารกิจกู้เรือสินค้ายักษ์ ขวางคลองสุเอซ ยังไร้วี่แวว ทำขนส่งโลกปั่นป่วน
ภารกิจกู้เรือสินค้ายักษ์ ขวางคลองสุเอซ ยังไร้วี่แวว ทำขนส่งโลกปั่นป่วน
คลองสุเอซ (Suez Canal) หนึ่งในเส้นทางขนส่งสินค้าสายคึกคักที่สุดของโลก กลายเป็น “คลองตัน” หลังจากหนึ่งในเรือขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ขนาดใหญ่ที่สุดของโลก “Ever Given” (เอเวอร์ กิฟเวน) ขนาดใหญ่น้ำหนักกว่า 224,000 ตัน แล่นชนฝั่งและติดค้างกั้นกลางคลองขุดฝีมือมนุษย์นี้ เมื่อวันอังคารที่ 23 มี.ค.64 ที่ผ่านมา จนทำให้เรือลำอื่นๆ ไม่สามารถสัญจรผ่านได้
ทั้งนี้ สำนักข่าวซินหัว ได้เรียบเรียงไทม์ไลน์ของเหตุการณ์ที่กลายเป็นข่าวฮือฮา และสร้างปัญหาชะงักงันแก่การขนส่งสินค้าทางเรือทั่วโลกมานานหลายวัน
วันที่ 23 มี.ค. 2021
— เอเวอร์ กิฟเวน (Ever Given) เรือขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ ขนาด 224,000 ตัน ถูกกระแสลมแรงจัดจากพายุฝุ่นพัดพาลำเรือแล่นชนฝั่งคลองสุเอซ
— อียิปต์เผชิญพายุทรายลูกมหึมา ซึ่งมีกระแสลมแรงจัด โดยมีความเร็วลมสูงสุด 40 นอต (ราว 74 กิโลเมตรต่อชั่วโมง)
วันที่ 24 มี.ค. 2021
— แถลงการณ์จากองค์การคลองสุเอซ (SCA) ของอียิปต์ ระบุการเบี่ยงเส้นทางเดินเรือของเรือสินค้าลำอื่นๆ ไปยังช่องทางเดินเรือสายเก่าของคลองสุเอซ
— ราคาน้ำมันโลกเริ่มปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากเหตุการณ์นี้รบกวนการขนส่งน้ำมันผ่านคลองสุเอซ
— เรือลากจูง 8 ลำ พยายามฉุดดึงลำเรือเอเวอร์ กิฟเวน ออกจากการเกยฝั่ง
— จีเอซี (GAC) บริษัทขนส่งสินค้า เปิดเผยผ่านเว็บไซต์ช่วงเที่ยงวันว่าเรือเอเวอร์ กิฟเวน ลอยตามกระแสน้ำบางส่วนและติดค้างขวางกลางเต็มลำคลองแล้ว
วันที่ 25 มี.ค. 2021
— องค์การฯ ระบุว่ามีการระงับการเดินเรือผ่านคลองสุเอซชั่วคราวจนกว่าภารกิจกู้เรือเอเวอร์ กิฟเวน ที่ค้างเติ่งกลางลำน้ำจะสำเร็จลุล่วง
— เรือลากจูง 9 ลำ ที่มีกำลังลากจูง 160 ตัน และเรือขุด 2 ลำ เดินหน้างานกู้เรือเอเวอร์ กิฟเวน ที่ลำเรือกว้าง 59 เมตร และยาว 400 เมตร
— โอซามา เรบี ประธานองค์การฯ กล่าวว่างานกู้เรือจะดำเนินไปตลอด 24 ชั่วโมง
— โบสกาลิส (Boskalis) บริษัทสัญชาติเนเธอร์แลนด์ที่เชี่ยวชาญการกู้เรือ มาถึงคลองสุเอซ โดยปีเตอร์ เบอร์ดาวสกี ประธานบริษัทฯ เผยว่าเรือเอเวอร์ กิฟเวน เหมือนเป็น “วาฬตัวใหญ่ยักษ์เกยตื้นบนชายหาด”
อย่างไรก็ตาม จนถึงขณะนี้ (26 มี.ค.) ยังไม่สามารถกู้เรือได้ โดยหน่วยงานดูแลคลองสุเอซ (Suez Canal Authority-SCA) ออกแถลงการณ์ที่ระบุว่า อาจต้องใช้เวลาหลายวัน หรืออาจจะหลายสัปดาห์ในการกู้เรือ “Ever Given” โดยล่าสุดทาง SCA สั่งระงับการเดินเรือผ่านคลองสุเอซแล้วจนกว่าจะสามารถกู้เรือได้สำเร็จ ส่งผลให้เรือสินค้าที่รอใช้เส้นทางกว่า 160 ลำ ต้องตัดสินใจเปลี่ยนไปใช้เส้นทางอื่นแล้ว
อนึ่ง ปัญหาที่เกิดจากเรือบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์ “Ever Given” เกยตื้นขวางทางน้ำในคลองสุเอซ ส่งผลให้อัตราค่าขนส่งของเรือบรรทุกน้ำมันเพิ่มขึ้นเกือบสองเท่าในสัปดาห์นี้ และเรือจำนวนมากต้องเปลี่ยนเส้นทางเนื่องจากจนถึงขณะนี้ยังไม่สามารถลากเรือออกไปได้
ขณะที่ข้อมูลของลอยด์ ลิสต์ ชี้ว่า เรือที่เกยตื้นกำลังทำให้การค้าเสียหาย ประมาณ 400 ล้านดอลลาร์ต่อชั่วโมง เมื่ออิงจากมูลค่าสินค้าสูงสุดที่มีการเคลื่อนย้ายผ่านคลองสุเอซทุกวัน
ด้านนักวิเคราะห์คาดว่าผลกระทบในวงกว้างขึ้นที่มีต่อผลิตภัณฑ์น้ำมันและเรือขนส่งน้ำมันขนาดเล็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งออกเนฟทาจากยุโรปไปยังเอเชีย หากคลองสุเอซยังคงปิดอยู่เป็นเวลาหลายสัปดาห์
โดยข้อมูลของเรฟินิทีฟชี้ว่า มีเรือบรรทุกน้ำมันมากกว่า 30 ลำ รอที่จะข้ามคลองคลองสุเอซทั้งสองฝั่งมาตั้งแต่วันอังคาร โดยเรือบรรทุกน้ำมัน Long-Range 2 จำนวนอย่างน้อยสี่ลำที่อาจมุ่งหน้าจากแอ่งแอตแลนติกไปยังคลองสุเอซ ในขณะนี้ มีแนวโน้มที่จะไปใช้เส้นทางรอบแหลมกู๊ดโฮป ซึ่งเรือ Long-Range 2 แต่ละลำบรรทุกน้ำมันประมาณ 75,000 ตัน ความต้องการน้ำมันดิบจากแอ่งแอตแลนติกภายในยุโรป ก็จะทำให้การใช้เรือบรรทุกขนาดเล็กเพิ่มขึ้น และทำให้อัตราค่าระวางเรือสูงขึ้น
ข้อมูลของเรฟินิทีฟ ชี้ว่า ต้นทุนผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดเรือ เช่น น้ำมันดีเซลและน้ำมันเบนซิน จากท่าเรือ Tuapseของรัสเซียในทะเลดำไปยังฝรั่งเศสตอนใต้ เพิ่มขึ้นจาก 1.49 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในวันที่ 22 มีนาคมเป็น 2.58 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในวันที่ 25 มีนาคม ซึ่งเพิ่มขึ้น 73%
ดัชนีมาตรฐานการขนส่งสำหรับเรือ LR2 จากตะวันออกกลางไปยังญี่ปุ่นหรือที่เรียกว่า TC1 ได้เพิ่มขึ้นเป็น 137.5 worldscale points (เครื่องมือในอุตสาหกรรมเรือที่ใช้คำนวณอัตราค่าระวางเรือ) เมื่อเช้าต้นวันศุกร์ เทียบกับที่อยู่ที่ 100 ในสัปดาห์ที่แล้ว
ในทำนองเดียวกัน ดัชนีค่าระวางเรือ Long-Range 1 (LR1) บนเส้นทางเดียวกัน ที่เรียกว่า TC5 อยู่ที่ 130 worldscale pointsในวันศุกร์ เพิ่มจาก 125 เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา
นักวิเคราะห์กล่าวว่าผลกระทบของการขนส่งล่าช้าในตลาดพลังงาน มีแนวโน้มที่จะบรรเทาลงเนื่องจากความต้องการน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) อยู่ในช่วงโลว์ซีซั่น
เรือบรรทุกก๊าซ LNG หลายลำได้เปลี่ยนเส้นทาง ส่งผลให้อัตราค่าขนส่งของเรือบรรทุก LNG เพิ่มขึ้นหลังจากที่เกิดอุบัติเหตุ ผู้ซื้อในยุโรปจำนวนหนึ่งคาดว่า ความล่าช้าในการส่ง LNGจากกาตาร์ อาจต้องพิจารณาทางเลือกอื่นๆ เช่น ซื้อในตลาดสปอต อย่างไรก็ดี ดีมานด์ LNG ในช่วงโลว์ซีซั่น อาจจะทำให้มีผลกระทบไม่มาก
หากเรือ “Ever Given” ยังไม่สามารถลากออกจากทางน้ำได้นาน 2 สัปดาห์ อาจทำให้การส่งก๊าซ LNG ไปยังยุโรปจำนวน 1 ล้านตัน ล่าช้า แต่ในสถานการณ์ที่เลวร้ายสุด หากเรือยังขวางคลองสุเอซนาน 4 สัปดาห์ อาจทำให้การส่งมอบล่าช้ามากกว่าสองเท่าเป็นมากกว่า 2 ล้านตัน