“คลัง” เล็งอัพเป้าจีดีพี เดือนเม.ย. ชี้เศรษฐกิจไทยส่งสัญญาณฟื้น หลังโควิดเริ่มคลี่คลาย

“คลัง” เล็งอัพเป้าจีดีพี เดือนเม.ย. ชี้เศรษฐกิจไทยส่งสัญญาณฟื้น หลังโควิดเริ่มคลี่คลาย


นายวุฒิพงศ์ จิตตั้งสกุล ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะรองโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ส่งสัญญาณปรับตัวดีขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป จากการฟื้นตัวของการลงทุนภาคเอกชน และการส่งออกที่ไม่รวมทองคำ

นอกจากนี้ความเชื่อมั่นที่สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค และดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมปรับตัวดีขึ้น ตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ระลอกใหม่ภายในประเทศที่มีแนวโน้มคลี่คลายลง การฉีดวัคซีนที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และมาตรการของภาครัฐที่มีส่วนสำคัญในการพยุงกำลังซื้อของผู้บริโภค

ทั้งนี้ กระทรวงการคลังจะปรับประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ของไทยปี 2564 ใหม่ในเดือน เม.ย.นี้ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์จริง จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ 2.8% เนื่องจากภาพรวมเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มดีขึ้น ทั้งจากการส่งออก การนำเข้าสินค้าทุน และการลงทุน รวมถึงการใช้จ่ายภายในประเทศที่ได้รับอานิสงส์จากมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายของรัฐ ซึ่งเป็นตัวช่วยพยุงการใช้จ่ายภายในประเทศได้เป็นอย่างดี โดยจะต้องมีการพิจารณาเครื่องชี้เศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องทั้งหมดประกอบด้วย

สำหรับเป้าหมาย GDP ในปี 2564 ที่ 4% ของรัฐบาลนั้น ยอมรับว่าเป็นตัวเลขที่เติบโตค่อนข้างก้าวกระโดดจากคาดการณ์ในปัจจุบัน แต่ไม่ได้บอกว่าจะเป็นไปไม่ได้ คงต้องพิจารณาหลายปัจจัยประกอบด้วย อาทิ ตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติ ภาพรวมการส่งออก ทิศทางการใช้จ่ายและการลงทุน ซึ่งหากมีแนวโน้มขยายตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง ก็จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยสนับสนุนให้ตัวเลขเศรษฐกิจในปีนี้เติบโตได้แข็งแกร่ง

“ต้องดูในหลายปัจจัยประกอบ ทั้งในมุมของมาตรการด้านสาธารณสุข โดยเฉพาะสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ปัจจุบันคลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้น การกระจายวัคซีนที่ทำได้อย่างต่อเนื่อง รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในภาพใหญ่ ทั้งหมดมีผลกับการเชื่อมั่นต่าง ๆ รวมถึงการเบิกจ่าย พ.ร.ก.กู้เงินฉุกเฉิน วงเงิน 1 ล้านล้านบาท ที่คาดว่าจะเบิกจ่ายได้เต็มจำนวน ไม่ติดขัด รวมถึงการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณปกติ ขณะที่มาตรการช่วยเหลือภาคธุรกิจของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) วงเงิน 3.5 แสนล้านบาทนั้น จะเอื้อให้ภาคธุรกิจเข้าถึงสินเชื่อและจะส่งผลให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ รักษาการจ้างงาน เป็นการช่วยเศรษฐกิจทางอ้อม” นายวุฒิพงศ์ กล่าว

Back to top button