“วิษณุ” ปัดครม. ถกขึ้น VAT 10% ชี้ยังไม่ใช่จังหวะเหมาะสม

“วิษณุ” ปัดครม. ถกขึ้น VAT 10% ชี้ยังไม่ใช่จังหวะเวลาเหมาะสม


นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ยืนยันว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วานนี้ (30 มี.ค.64) ยังไม่มีการพิจารณาเรื่องการปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จาก 7% เป็น 10% ตามที่มีข่าว และยังไม่มีการหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาหารือกันด้วย ซึ่งหากจะมีการพิจารณาเรื่องนี้ทางกระทรวงการคลังต้องผู้ชี้แจงและเสนอเรื่องให้ที่ประชุม ครม.พิจารณา

สำหรับการปรับขึ้นภาษีดังกล่าวนั้นจะต้องดูจังหวะเวลาที่เหมาะสม จากเดิมเคยจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม 10% และมีการปรับลดเหลือ 7% มานานแล้ว แต่เมื่อมีแนวโน้มว่าจะปรับขึ้นก็เกิดสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ประกอบกับสภาพเศรษฐกิจไม่ดีจึงต้องชะลอไว้ก่อน

ส่วนกรณีที่มีข่าวนายกรัฐมนตรีกำชับให้พรรคร่วมรัฐบาลร่วมกันพิจารณากฎหมายสำคัญต่างๆ นั้น นายวิษณุ กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีน่าจะหมายถึงกฎหมายประชามติ ซึ่งไม่ได้กังวลว่าร่างกฎหมายฉบับนี้จะผ่านหรือไม่ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา แต่กังวลว่าเมื่อร่างนี้ผ่านความเห็นชอบแล้ว แต่ไม่เป็นไปตามร่างที่รัฐบาลเสนอ ทั้งที่ผ่านการพิจารณามาอย่างรอบคอบแล้วก็เท่ากับว่ารัฐสภาไม่เห็นพร้อมกัน

ส่วนการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น นายกรัฐมนตรีย้ำในที่ประชุม ครม.ว่า รัฐบาลมีความประสงค์ให้เดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ขอให้ไปคิดแนวทางให้ตกผลึกแล้วมาแจ้งต่อรัฐบาล แต่ยังไม่ได้ระบุว่ารัฐบาลจะเป็นเจ้าภาพเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเองหรือไม่

สำหรับร่างประมวลจริยธรรมของข้าราชการการเมืองที่ผ่านความเห็นชอบจาก ครม.นั้น เป็นการกำหนดหลักเกณฑ์ในการประพฤติปฏิบัติอย่างมีคุณธรรมของข้าราชการการเมือง ซึ่งร่างกฎหมายดังกล่าวผ่านการพิจารณาจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเรียบร้อยแล้ว โดยจะบังคับใช้กับข้าราชการการเมืองเท่านั้น ซึ่งคือผู้ที่มีตำแหน่งทางกฎหมาย เช่น นายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รวมถึงเลขานุการและผู้ช่วยรัฐมนตรี แต่ไม่รวม ส.ส.และส.ว. เพราะไม่ใช่ข้าราชการการเมืองโดยตรง ซึ่ง ส.ส.และ ส.ว.มีข้อบังคับมาตรฐานจริยธรรมต่างหากในการควบคุมดูแล

ขณะที่การกำหนดโทษของข้าราชการการเมืองนั้นจะไม่เหมือนกับบทลงโทษของ ส.ส.และ ส.ว. เพราะประมวลจริยธรรมฉบับนี้จะระบุเพียงมาตรฐานในการประพฤติปฏิบัติที่พึงกระทำและควรละเว้น แต่หากมีการฝ่าฝืนเกิดขึ้นก็จะบังคับใช้กฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องแทน เช่น ตั้งกรรมการสอบสวน หรือปรับออกจากตำแหน่ง และหากผิดกฎหมายอาญาก็จะถูกส่งเรื่องไปยังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) หรือตำรวจดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

Back to top button