นายกฯ สั่งเข้มผับ-บาร์-คาราโอเกะ หากพบคนติดโควิด ปิดยาวอย่างน้อย 2 สัปดาห์
นายกฯ สั่งเข้มผับ-บาร์-คาราโอเกะ พบติดโควิดปิดยาว อย่างน้อย 2 สัปดาห์
นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ห่วงใยประชาชนในสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ยังคงมีอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานบริการต่างๆ รัฐบาลจึงเน้นมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 ในสถานบริการ สถานประกอบการที่มีลักษณะคล้ายสถานบริการ ผับ บาร์ คาราโอเกะ โดยเริ่มแล้วตั้งแต่วันที่ 5 เมษายน 2564 เป็นต้นไป โดยมีรายละเอียดดังนี้
1) กรณีพบผู้ติดเชื้อในสถานประกอบการแห่งใดแห่งหนึ่ง ให้ปิดสถานประกอบการนั้น ๆ เป็นเวลาอย่างน้อย 2 สัปดาห์
2) กรณีพบผู้ติดเชื้อในสถานประกอบการหลายแห่งให้พื้นที่ใกล้เคียงกัน ให้ปิดสถานประกอบการในพื้นที่นั้น ๆ เป็นเวลาอย่างน้อย 2 สัปดาห์
3) กรณีมีการแพร่ระบาดในสถานประกอบการหลายแห่งในพื้นที่จังหวัดใด ให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด/กทม. พิจารณาปิดสถานประกอบการในพื้นที่ทั้งจังหวัด/กทม. เป็นเวลาอย่างน้อย 2 สัปดาห์
โฆษกรัฐบาล เผยว่าศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง (ศปม.) ได้เพิ่มความเข้มข้นและความถี่ในการตรวจกำกับดูแล ให้สถานประกอบการดำเนินมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 ตามที่กำหนดให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย
ส่วนการจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่ม ยังเปิดดำเนินการได้ตามที่กำหนดในแต่ละพื้นที่ โดยให้เน้นย้ำมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 อย่างเคร่งครัด อย่างไรก็ตาม ในกรณีตรวจพบผู้ติดเชื้อในร้านอาหารหรือเครื่องดื่มในสถานประกอบการใด ให้ปิดสถานที่นั้น ๆ เพื่อจัดระเบียบและระบบป้องกันโรคโควิด-19 อย่างน้อย 2 สัปดาห์
หรือหากพบว่ามีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในร้านอาหารหรือเครื่องดื่มหลายแห่งในพื้นที่จังหวัดใด ให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด/กทม. พิจารณาเพิ่มการปิดร้านอาหารที่มีความเสี่ยง ได้แก่ สถานประกอบการที่เป็นห้องแอร์ สถานประกอบการที่ไม่ดำเนินการตามมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 เป็นเวลาอย่างน้อย 2 สัปดาห์ ด้วยเช่นกัน
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรียังกล่าวว่า นายกรัฐมนตรีได้ย้ำถึงมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 ตาม พ.ร.บ. โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 มาตรา 35 ที่สามารถดำเนินการได้ในปัจจุบัน ซึ่งระบุว่า กรณีที่มีเหตุจำเป็นเร่งด่วนเพื่อเป็นการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดต่ออันตรายหรือโรคระบาด ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด หรือผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร มีอำนาจสั่งปิดตลาด สถานที่ประกอบหรือจำหน่ายอาหาร สถานที่ผลิตหรือจำหน่ายเครื่องดื่ม โรงงาน สถานที่ชุมนุมชน โรงมหรสพ สถานศึกษา หรือสถานที่อื่นใดไว้เป็นการชั่วคราว
พร้อมทั้งสั่งให้ผู้ที่เป็นหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นโรคติดต่ออันตราย/โรคระบาดหยุดการประกอบอาชีพเป็นการชั่วคราว และสั่งห้ามผู้ที่เป็นหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นโรคติดต่ออันตรายหรือโรคระบาดเข้าไปในสถานที่ชุมนุมชน โรงมหรสพ สถานศึกษา หรือสถานที่อื่นใด เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อด้วย
อนึ่ง วานนี้ (7 เม.ย.64) นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการพบเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์อังกฤษในคลัสเตอร์สถานบริการว่า “อะไรจะเกิด ก็ต้องเกิด” เพราะเป็นเรื่องของคนจำนวนมาก ซึ่งต้องหาทางแก้ไข และเป็นช่วงของการกลับภูมิลำเนา ซึ่งแต่ละจังหวัดก็มีมาตรการคัดกรอง กักตัว ซึ่งรัฐบาลพยายามดำเนินการ เพราะหากรัฐบาลจะปิดทั้งหมดแล้วให้อยู่บ้านก็ทำได้ แต่ถามว่าจะเอาหรือไม่ล่ะ หากจะสั่งล็อกดาวน์เป็นเรื่องง่ายแต่อาจจะส่งผลกระทบต่ออีกส่วนหนึ่ง ซึ่งจะแก้ไขปัญหาให้ได้ แม้จะตายก็ยอม
“วันนี้อีกกลุ่มนึงเรียกร้องให้แก้ปัญหาโควิดให้ได้ ให้ปิดเมือง แต่อีกส่วนหนึ่งบอกปิดไม่ได้ ถ้าปิดก็ตายกันพอดี ผมก็ต้องมานั่งชั่งน้ำหนักว่าจะแก้ไขปัญหายังไงซึ่งถ้าหากจะสั่งปิดก็มันง่ายนิดเดียว แล้วมันแก้ไขปัญหาได้จริงหรือเปล่า มันอยู่ที่คนจะควบคุมตัวเองได้แค่ไหน ปีหน้าก็ยังมีสงกรานต์ ไม่ใช่มีแค่ปีนี้ปีเดียว เปิดให้เดินทางไปเยี่ยมพ่อเยี่ยมแม่ คารวะกันไม่ใช่เอาโควิดไปฝากพ่อแม่หรือเอาโควิดกลับมาให้ครอบครัวที่กรุงเทพฯ อย่าคิดถึงแต่ประโยชน์ตัวเองต้องคิดถึงคนอื่นด้วย” นายกฯ กล่าว