นายกฯ เปิดทางเอกชน จัดหาวัคซีนทางเลือก 10 ล้านโดส-ตั้งคกก.ร่วมพิจารณา ขีดเส้นใน 1 เดือน
นายกฯ เปิดทางเอกชน จัดหาวัคซีนทางเลือก 10 ล้านโดส-ตั้งคกก.ร่วมพิจารณา ขีดเส้นใน 1 เดือน
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม กล่าวภายหลังการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบค.ชุดเล็ก ร่วมกับคณะแพทย์จากโรงพยาบาลของรัฐและเอกชนว่า วันนี้ (9 เม.ย.64) ได้เชิญทั้งภาครัฐ เอกชน และสาธารณสุข มาหารือถึงหลักการทางการแพทย์ การอำนวยความสะดวก และการจัดหาวัคซีน ถึงหลักการสำคัญ คือจะทำอย่างไร ให้มีวัคซีนเพิ่มขึ้นเพื่อเป็นทางเลือก
ทั้งนี้จะต้องไปแก้ไขกระบวนการนำเข้า เพื่อให้โรงพยาบาลเอกชนที่มีความพร้อมได้จัดหาวัคซีนเอง เพื่อเป็นการช่วยภาครัฐอีกทางหนึ่ง เนื่องจากขณะนี้มีแต่วัคซีนที่รัฐบาลจัดหาในภาวะฉุกเฉิน จึงได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณาในส่วนนี้โดยมีนายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร ที่ปรึกษา ศบค. เป็นประธาน
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า วันนี้ทางโรงพยาบาลเอกชนมีความพร้อมที่จะช่วยเหลือรัฐบาล พร้อมยืนยันว่ารัฐบาลไม่ได้ฉีดวัคซีนล่าช้า เพราะเป็นการจัดซื้อเอง ไม่ได้รับบริจาคเหมือนบางประเทศ พร้อมยืนยันว่าน้ำยาสำหรับตรวจเชื้อโควิดมีเพียงพอ ไม่ได้มีปัญหาอะไร
อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญที่สุดวันนี้ คือการที่มีตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นวันละ 200-400 คน แต่ยังสามารถควบคุมได้ โดยการค้นหาผู้ติดเชื้อ และนำมารักษา และมีการเตรียมสถานที่จัดตั้งโรงพยาบาลสนาม รวมถึงการจัดให้สถานที่กักกันตัวทางเลือก หรือ ASQ เพื่อเป็นสถานที่รองรับการถ้าระบาดที่เพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะในกรุงเทพมหานคร
นายกรัฐมนตรี ย้ำว่า ขอให้ระมัดระวังตนเองให้มากที่สุด ปฏิบัติตามมาตรการสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด หลีกเลี่ยงสถานที่เสี่ยงและสถานที่อโคจร ซึ่งตนคงไม่สามารถสั่งห้ามใครได้ จึงจำเป็นต้องสั่งปิดสถานบริการเหล่านี้ เพื่อความปลอดภัย
ด้านนพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) กล่าวว่า ขณะนี้ภาครัฐมีการจัดเตรียมวัคซีนที่ให้บริการประชาชนไว้ประมาณ 70 ล้านโดส สามารถฉีดได้ประมาณ 35 ล้านคน แต่ยังมีความต้องการวัคซีนอีกประมาณ 5 ล้านโดส ฉีดได้อีก 10 ล้านคน จึงจะสามารถช่วยสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ได้ จึงจำเป็นต้องจัดหาวัคซีนทางเลือกให้กับประชาชน
โดยในการประชุมวันนี้ ทางนายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน เสนอตัวว่ามีความสามารถในการจัดหาวัคซีนได้ เพียงแต่ต้องการให้ภาครัฐช่วยอำนวยความสะดวกให้ ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 1 ชุด โดยให้นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน หารือร่วมกับองค์การอาหารและยา (อย.) และผู้อำนวยการสถาบันวัคซีน ไปหาข้อสรุปและเสนอมายังนายกรัฐมนตรีภายใน 1 เดือน