ธปท. มั่นใจ “สินเชื่อฟื้นฟู” ตอบโจทย์ช่วยธุรกิจ หนุนแบงก์ปล่อยกู้ลูกหนี้เสี่ยงสูงมากขึ้น

ธปท. มั่นใจ “สินเชื่อฟื้นฟู” ตอบโจทย์ช่วยธุรกิจ หนุนแบงก์ปล่อยกู้ลูกหนี้เสี่ยงสูงมากขึ้น


น.ส.สุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายและกำกับสถาบันการเงิน 2 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติอนุมัติหลักการ ร่าง พ.ร.ก.การให้ความช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2564 (พ.ร.ก.ฟื้นฟูฯ) ซึ่งประกอบด้วย 2 มาตรการ คือ 1.มาตรการสนับสนุนการให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบธุรกิจ (สินเชื่อฟื้นฟู) และ 2.มาตรการสนับสนุนการรับโอนทรัพย์สินหลักประกันเพื่อชำระหนี้ (โครงการพักทรัพย์ พักหนี้) นั้น

ขณะนี้ พ.ร.ก.ฟื้นฟูฯ ได้ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 10 เม.ย.64 แล้ว ซึ่ง ธปท.ได้ออกประกาศ 2 ฉบับ เพื่อกำหนดขอบเขตคุณสมบัติของผู้ประกอบธุรกิจที่สามารถเข้าร่วมโครงการ หลักการ และเงื่อนไขที่เกี่ยวข้อง เพื่อรองรับการให้ความช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจภายใต้ พ.ร.ก. ดังกล่าว โดยสถาบันการเงินสามารถยื่นคำขอกู้เงินจาก ธปท. ตามมาตรการสนับสนุนการให้สินเชื่อฟื้นฟู และโครงการพักทรัพย์พักหนี้ ได้ตั้งแต่วันที่ 26 เมษายน 2564 เป็นต้นไป

สำหรับ พ.ร.ก.ฟื้นฟูฯ นี้ จะตอบโจทย์การช่วยเหลือฟื้นฟูภาคธุรกิจ ทั้งผู้ประกอบการรายย่อย, SMEs และผู้ประกอบการรายใหญ่ โดยมีหลักการสำคัญคือมีความยืดหยุ่นรองรับความไม่แน่นอนที่อาจจะเกิดขึ้นได้ ครอบคลุมการแก้ไขปัญหาที่หลากหลาย และตอบโจทย์ลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบทุกกลุ่มทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ภายใต้สถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ ที่ ธปท.ประเมินว่าจะไม่รุนแรงเท่ารอบแรกที่มีการล็อกดาวน์ และงดกิจการ/กิจกรรมทางเศรษฐกิจ แต่การระบาดรอบนี้อาจจะซ้ำเติมบางกลุ่มธุรกิจที่มีสายป่านสั้นอยู่แล้วให้เดือนร้อนมากยิ่งขึ้น รวมไปถึงภาคครัวเรือนด้วย

โดยแบ่งเป็น 2 มาตรการ คือ 1.มาตรการสนับสนุนสินเชื่อแก่ผู้ประกอบธุรกิจ (สินเชื่อฟื้นฟู) ที่เตรียมวงเงินไว้ 2.5 แสนล้านบาท และ 2.มาตรการรับโอนทรัพย์สินหลักประกันเพื่อชำระหนี้ (โครงการพักทรัพย์ พักหนี้) โดยเตรียมวงเงินไว้ 1 แสนล้านบาท ซึ่งหากวงเงินในมาตรการใดใช้ไม่หมด ก็สามารถโยกไปใช้กับอีกมาตรการได้ แต่วงเงินสินเชื่อรวมทั้งหมดจะต้องไม่เกิน 3.5 แสนล้านบาท

น.ส.สุวรรณี กล่าวว่า ธปท.ไม่ได้คาดหวังว่าเม็ดเงินจะออกไปอย่างรวดเร็วในช่วงแรกที่เริ่มใช้มาตรการ เพราะรอบนี้ได้ออกแบบมาตรการให้สถาบันการเงินยื่นคำขอกู้เงินจาก ธปท.ได้ในระยะยาวขึ้นถึง 2 ปี และอายุเงินกู้ก็ยาวขึ้น ดังนั้น เม็ดเงินจะค่อยๆ ทยอยออกไปตามความต้องการใช้เงินของผู้ประกอบธุรกิจ

ระยะแรกคาดว่าจะถูกนำไปใช้ในการเติมสภาพคล่อง เช่น การจ่ายค่าจ้างแรงงาน ค่าสาธารณูปโภคต่างๆ ส่วนระยะที่สอง จะเป็นการใช้สำหรับการกลับมาเปิดธุรกิจหลังจากที่ปิดไปชั่วคราวก่อนหน้านี้ และระยะที่สาม จะเป็นการใช้สำหรับการกลับสู่การดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้อย่างปกติ เช่น การฟื้นฟู หรือการปรับปรุงกิจการ

“พ.ร.ก.ซอฟท์โลนเดิม เมื่อไม่มีการต่ออายุ ก็จะสิ้นสุดการยื่นคำขอไปเมื่อวันที่ 19 เม.ย.64 และล่าสุด ธปท.ได้ออกประกาศ 2 ฉบับ รองรับการปฏิบัติตามาตรการดังกล่าวว่าจะมีหลักเกณฑ์ เงื่อนไขอย่างไร ซึ่งมีผลไปแล้ว 20 เม.ย. โดยหลังจากนี้ ธปท.จะเปิดให้สถาบันการเงินมายื่นคำขอครั้งแรก คือ 26 เม.ย. เชื่อว่าช่วงแรกๆ คำขอจะค่อยทยอยมา เพราะสถาบันการเงินจะต้องเข้าไปเจรจาตกลงเงื่อนไขต่าง ๆ กับลูกค้าก่อน…ดังนั้นวงเงิน 250,000 ล้านบาท และ 100,000 ล้านบาทนี้ จะไม่ได้เห็นว่ามีการเบิกใช้อย่างเยอะในช่วงต้นๆ ในคราวเดียว” น.ส.สุวรรณี กล่าว

พร้อมระบุว่า ประกาศ 2 ฉบับของ ธปท.นี้ เพื่อกำหนดขอบเขตคุณสมบัติของผู้ประกอบธุรกิจที่สามารถเข้าร่วมโครงการ หลักการ และเงื่อนไขที่เกี่ยวข้อง ในทั้ง 2 มาตรการ (มาตรการสินเชื่อฟื้นฟู และโครงการพักทรัพย์ พักหนี้) ตาม พ.ร.ก.ฟื้นฟูฯ ซึ่งได้ลงประกาศไว้ในเว็บไซต์ของธนาคารแห่งประเทศไทยแล้ว (www.bot.ro.th)

น.ส.สุวรรณี กล่าวด้วยว่า แม้ขณะนี้จะยังไม่เปิดให้ยื่นกู้ แต่ ธปท.ได้กำชับไปยังสถาบันการเงินว่าหากมีลูกค้าติดต่อเข้ามา ให้รับคำขอของลูกค้าไว้ก่อน ซึ่งเบื้องต้นทราบว่าพอจะมีการตกลงเงื่อนไขกันบ้างแล้ว โดยเชื่อว่ามาตรการช่วยเหลือเพิ่มเติมทั้ง 2 มาตรการนี้ จะช่วยให้สถาบันการเงินสามารถปล่อยเม็ดเงินลงไปในลูกหนี้ที่มีความเสี่ยงสูงได้มากกว่า พ.ร.ก.ซอฟท์โลน เดิมได้

อย่างไรก็ดี ขณะนี้ ธปท.อยู่ระหว่างการประเมินความเปราะบางของธุรกิจ SMEs จากผลกระทบการระบาดของไวรัสโควิดระลอกใหม่ที่กระจายไปในวงกว้างกว่ารอบที่ผ่านมา ส่วนผลกระทบจะมีมากน้อยเพียงใดนั้น ต้องขอไปรวบรวมข้อมูลให้ชัดเจนก่อน พร้อมมองว่า หากมีความจำเป็นต้องปรับหลักเกณฑ์ หรือเงื่อนไขต่างๆ เพื่อให้สอดคล้องกับความจำเป็นสถานการณ์จริงที่เกิดขึ้นนั้น ธปท. ก็สามารถปรับปรุงแก้ไขได้ในชั้นของประกาศ ธปท.ได้เลย

“ปัจจุบัน ธปท.เตรียมทีมงานมอนิเตอร์สิ่งที่เราได้ออกไปว่ามาตรการที่ออกไปมี feedback กลับมาอย่างไร มอนิเตอร์ลูกหนี้ ตลอดจนข้อร้องเรียนจากลูกค้า เพื่อทบทวนว่าเราจะต้องปรับมาตรการอย่างไรหรือไม่” น.ส.สุวรรณี กล่าว

Back to top button