“นายกฯ” กำชับผบ.เหล่าทัพ เกาะติดสถานการณ์เมียนมา-คุมเข้มชายแดน-หนุนแก้โควิด
“นายกฯ” กำชับผบ.เหล่าทัพ เกาะติดสถานการณ์เมียนมา-คุมเข้มชายแดน-หนุนแก้โควิด
พล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม เปิดเผยว่า การประชุมสภากลาโหมที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เป็นประธาน ได้มอบนโยบายให้ผู้บัญชาการเหล่าทัพติดตามสถานการณ์ในเมียนมา รวมถึงพื้นที่ชายแดน โดยให้ประสานการทำงานกับหน่วยงานความมั่นคงในพื้นที่ เพิ่มความเข้มงวดกวดขันตามแนวชายแดนทุกช่องทาง พร้อมกำชับถึงการแสดงท่าทีในเวทีระหว่างประเทศเกี่ยวกับสถานการณ์เมียนมาให้เป็นไปตามแนวทางของกระทรวงการต่างประเทศ และแนวทางของอาเซียน รวมถึงเตรียมความพร้อมรับการอพยพของคนไทยในเมียนมากรณีเกิดสถานการณ์รุนแรง และเตรียมพร้อมรับผู้หนีภัยความไม่สงบตามแนวชายแดน โดยยึดหลักเมตตาธรรม และหลักสิทธิมนุษยชน
นายกรัฐมนตรียังกำชับภารกิจป้องกันประเทศและการรักษาความมั่นคงภายในประเทศ โดยปรับแผนความมั่นคงในประเทศให้ทันสมัย เตรียมกำลังให้พร้อมในการฝึกระดับต่างๆ เพื่อให้พร้อมสนับสนุนทุกภารกิจหลัก ซักซ้อมแผนเผชิญเหตุอย่างสม่ำเสมอ และสนับสนุนรัฐบาลในการแก้ปัญหายาเสพติด การลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมาย ประมงผิดกฎหมาย เพราะยังเป็นปัญหาที่สำคัญของประเทศ
สำหรับการปฏิรูปกองทัพนั้น ย้ำการพัฒนาด้านเทคโนโลยีสอดคล้องยุทธศาสตร์ชาติและความมั่นคงของประเทศ โดยนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ และจัดการข้อมูลขนาดใหญ่ เพื่อให้การทำงานของกองทัพให้มีประสิทธิภาพ พร้อมรับภัยคุกคามในรูปแบบต่างๆ
ส่วนการสนับสนุนการแก้ไขปัญหาโควิด-19 นายกรัฐมนตรี ย้ำให้กองทัพเข้าไปสนับสนุนกระทรวงสาธารณสุข และทุกหน่วยราชการในการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคให้ประชาชนปลอดภัย พร้อมขอบคุณการทำงานของทุกเหล่าทัพที่ผ่านมา กำชับให้ทุกเหล่าทัพ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) สนับสนุนพื้นที่การคัดกรองคนที่เดินทางมาจากต่างประเทศในทุกช่องทาง และเตรียมความพร้อมในการรับคนไทยที่จะเดินทางกลับจากมาเลเซียที่มีจำนวนมาก และสกัดกั้นผู้หลบหนีเข้าเมืองผิดกฎหมาย
ขณะที่การจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม ให้เตรียมการขยายให้มีจำนวนเตียงรับผู้ป่วยมากขึ้น และขยายขีดความสามารถของโรงพยาบาลให้รองรับผู้ป่วยเข้ามารักษาได้ และสนับสนุนบุคลากรทางการแพทย์ที่จะสนับสนุนกระทรวงสาธารณสุข เช่น การจัดรถเสริมรับส่งผู้ป่วย การบริหารจัดการวัคซีนให้กำลังพลทหารและตำรวจปฎิบัติงานอย่างทั่วถึง และเร่งดำเนินการฉีดในพื้นที่เสี่ยง
ปัจจุบันมีพื้นที่ตั้งโรงพยาบาลสนามของกองทัพ 22 แห่ง จำนวน 3,456 เตียง และพร้อมขยายโรงพยาบาลสนามในพื้นที่ กทม. และปริมณฑลอีก 3 แห่ง ส่วนในต่างจังหวัดอีก 18 แห่ง 2,886 เตียง