ก.ล.ต.เปิดเฮียริ่งหลักแก้ไข พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ – ปรับปรุงมาตรการลงโทษ
ก.ล.ต.เปิดเฮียริ่งหลักการแก้ไข พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ ปรับปรุงมาตรการลงโทษ ให้สอดคล้องกับมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญฯ
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เตรียมเสนอแก้ไข พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ ปรับปรุงมาตรการลงโทษให้สอดคล้องกับมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญฯ และสอดคล้องกับร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ. …. เพื่อให้มาตรการบังคับใช้กฎหมายมีความเหมาะสม โดยยังคงมุ่งให้ความคุ้มครองผู้ลงทุน พร้อมกับส่งเสริมการระดมทุนและการประกอบธุรกิจในตลาดทุน
โดย ก.ล.ต. เตรียมเสนอแก้ไขพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 (พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ) โดยปรับปรุงมาตรการลงโทษให้สอดคล้องกับมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ที่วางหลักให้รัฐพึงกำหนดโทษอาญาเฉพาะความผิดร้ายแรง และสอดคล้องกับร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ. …. ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบแล้ว เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2564 เพื่อให้มาตรการบังคับใช้ พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ มีความเหมาะสมกับสภาพความผิด มุ่งเน้นให้เกิดสมดุลของสภาพแวดล้อม (ecosystem) ในตลาดทุน สามารถให้ความคุ้มครองผู้ลงทุน รวมทั้งส่งเสริมการระดมทุนและการประกอบธุรกิจในตลาดทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีหลักการที่เสนอดังนี้
(1) ปรับปรุงมาตรการบังคับใช้กฎหมายของ พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ โดยจะกำหนดโทษอาญาเฉพาะกรณีเป็นการกระทำความผิดร้ายแรง รวมทั้งเสนอให้มีการเปลี่ยนโทษอาญาให้เป็นมาตรการปรับเป็นพินัยสำหรับกรณีความผิดอื่นที่ไม่ได้มีลักษณะเป็นความผิดร้ายแรง
(2) กำหนดอายุความสำหรับคดีความผิดทางพินัยตาม พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ ให้สอดคล้องกับการกำหนดอายุความสำหรับความผิดทางอาญาที่มีโทษปรับสถานเดียวที่ใช้บังคับอยู่ใน พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ ในปัจจุบัน โดยกำหนดให้มีอายุความ 2 ปีนับแต่วันที่ ก.ล.ต. วินิจฉัยว่ามีการกระทำความผิดเกิดขึ้นและรู้ตัวผู้กระทำความผิด และไม่เกิน 5 ปีนับแต่วันที่มีการกระทำความผิดนั้น เพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายหลักทรัพย์มีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับลักษณะทั่วไปของอาชญากรรมทางเศรษฐกิจที่มิใช่ความผิดซึ่งหน้า
ทั้งนี้ ก.ล.ต. ได้เผยแพร่เอกสารรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับการแก้ไขกฎหมายดังกล่าวที่เว็บไซต์ ก.ล.ต. https://www.sec.or.th/TH/Pages/PB_Detail.aspx?SECID=712 และระบบกลางทางกฎหมาย https://lawtest.egov.go.th/ ผู้ที่เกี่ยวข้องและผู้สนใจสามารถแสดงความคิดเห็นได้ที่เว็บไซต์ หรือ ทาง e-mail : [email protected] , [email protected] , [email protected] หรือ [email protected] จนถึงวันที่ 22 พฤษภาคม 2564