ดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน เม.ย.ต่ำสุดรอบ 22 ปี เจอผลกระทบ “โควิด” รอบใหม่

"หอการค้า" เผยดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน เม.ย.ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ จากกังวลโควิดระบาดระลอกใหม่


ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน เม.ย.อยู่ที่ 46.0 ลดลงจากเดือนมี.ค.64 ซึ่งอยู่ที่ 48.5 โดยลดลงต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ในรอบ 22 ปี 7 เดือน

ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจโดยรวม อยู่ที่ 40.3 จาก 42.5 ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำ อยู่ที่ 42.9 จาก 45.3 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต อยู่ที่ 54.7 จาก 57.7

สำหรับปัจจัยลบที่สำคัญ ได้แก่ ความวิตกกังวลต่อการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ยังมีการระบาดอยู่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชน การทำธุรกิจและภาวะเศรษฐกิจของประเทศในอนาคตโดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวและบริการต่างๆ, รัฐบาลออกมาตรการควบคุมการระบาดของโรคให้เข้มข้นและมาตรการควบคุมแบบบูรณาการจำแนกตามเขตพื้นที่ ภายใต้ พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน เช่น การปิดสถานบันเทิง ควบคุมเวลาการเปิดปิดห้างสรรพสินค้า/ร้านสะดวกซื้อ ร้านจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่ม เป็นต้น พร้อมขอความร่วมมือประชาชนงดออกนอกเคหสถานในยามค่ำคืน, สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยเหลือโต 2.3% จากเดิมคาด 2.8%

ขณะที่ปัจจัยบวก ได้แก่ ภาครัฐดำเนินการออกมาตรการเพื่อสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจ ประกอบด้วย โครงการ “เราชนะ” “ม33เรารักกัน” “คนละครึ่ง” “เราเที่ยวด้วยกัน” ช่วยกระตุ้นกำลังซื้อให้ปรับดีขึ้นทั่วประเทศ, การส่งออกเดือนมี.ค. ขยายตัว 8.47% ทำให้ช่วง 3 เดือนแรกส่งออกโต 2.27%, ราคาพืชผลทางการเกษตรหลายรายการปรับตัวดีขึ้น หรือทรงตัวในระดับที่ดี โดยเฉพาะข้าวและยางพารา ส่งผลให้เกษตรกรเริ่มมีรายได้สูงขึ้น ทำให้กำลังซื้อในต่างจังหวัดเริ่มปรับตัวดีขึ้น

 

 

Back to top button