KBANK ประเมิน GDP ไทยปีนี้เหลือโต 1.1% หากกระจายวัคซีนต่ำเป้า

KBANK ประมาณการ GDP ปี 64 ไว้ที่ 1.80% เล็งทบทวนใหม่เดือน มิ.ย. มองกรณีดีสุดโต 2% หากกระจายวัคซีนเกินเป้า เลวร้ายสุดเหลือโต 1%


นายกอบสิทธิ์ ศิลปชัย ผู้บริหารงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK มองว่า จากที่ประเทศไทยเผชิญกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดระลอก 3 อยู่ในขณะนี้ โดยมีนโยบายหลักซึ่งเป็นตัวแปรที่สำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย คือ นโยบายด้านสาธารณสุข โดยเฉพาะการกระจายวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ในประเทศให้ได้เร็วที่สุด ในขณะที่นโยบายการเงิน และนโยบายการคลังจะเป็นเพียงตัวประกอบเท่านั้น

ทั้งนี้ มีความเห็นที่สอดคล้องกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในเรื่องการกระจายวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ต่อการขายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่ง ธปท. ได้ให้สมมติฐานไว้ 3 กรณี โดยกรณีดีที่สุด หากปีนี้สามารถกระจายวัคซีนได้ 100 ล้านโดส จะมีผลให้ GDP ปี 2564 ขยายตัวได้ราว 2.00% ส่วนปี 2565 ขยายตัวได้ 4.70% ส่วนกรณีทั่วไปหากปีนี้สามารถกระจายวัคซีนได้ 100 ล้านโดส จะมีผลให้ GDP ปี 2564 ขยายตัวได้ราว 2.00% ส่วนปี 2565 ขยายตัวได้ 4.70% และกรณีแย่สุด หากปีนี้สามารถกระจายวัคซีนได้ไม่ถึง 64.60 ล้านโดส จะมีผลให้ GDP ปี 2564 ขยายตัวได้ 1.00% ส่วนปี 65 ขยายตัวได้ 1.10%

อย่างไรก็ดี ขณะนี้ยังคงประมาณการ GDP ในปี 2564 ไว้ที่ 1.80% โดยคาดว่าศูนย์วิจัยกสิกรไทย จะมีการทบทวนประมาณการเศรษฐกิจไทยใหม่อีกครั้งในเดือนมิถุนายน
สำหรับพัฒนาการและความสามารถในการรับมือกับการระบาดของไวรัสโควิดในแต่ละประเทศที่แตกต่างกันไปนั้นย่อมมีผลต่อพลวัตทางเศรษฐกิจของแต่ละประเทศที่แตกต่างกันไปด้วย ซึ่งในปัจจุบันสถานการณ์โควิดในสหรัฐอเมริกา, อังกฤษ และจีนมีทิศทางที่เริ่มคลี่คลาย เนื่องจากมีการกระจายวัคซีนได้อย่างรวดเร็ว โดยสหรัฐอเมริกา สามารถฉีดวัคซีนให้กับประชากรไปแล้วถึง 36% ส่วนอังกฤษ 29% เป็นต้น ทั้งนี้เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของทั่วโลก ที่มีการฉีดวัคซีนไปแล้ว 4.50% ของประชากรโลก จะถือได้ว่าทั้งสหรัฐอเมริกา และอังกฤษทำได้ดีกว่าค่าเฉลี่ยของโลก จึงทำให้ได้เห็นการเปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศเหล่านี้กันบ้างแล้ว

ขณะที่ประเทศไทย การกระจายวัคซีนยังทำได้ในระดับต่ำเพียง 1.10% ของจำนวนประชากรในประเทศเท่านั้น ดังนั้นหากประเทศใดที่สามารถฉีดวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ได้ไว และลดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดได้ดีกว่า ก็จะส่งผลให้เกิดความชัดเจนต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และสามารถเปิดประเทศได้เร็วขึ้น

ส่วนแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐอเมริกา ที่จะมีผลต่อการกำหนดทิศทางนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ตลอดจนธนาคารกลางประเทศอื่นๆ ตามมานั้น เฟดเองก็เชื่อว่าเงินเฟ้อของสหรัฐอเมริกา ที่ปรับตัวสูงขึ้นในช่วงนี้ น่าจะเป็นผลจากการเปรียบเทียบกับฐานที่ต่ำในช่วงเดียวกันของปีก่อน รวมถึงภาวะตลาดแรงงานในสหรัฐอเมริกา ก็ยังไม่พร้อมที่จะทำให้เงินเฟ้ออยู่ในระดับที่ฟื้นตัวอย่างยั่งยืนได้ ดังนั้นจึงทำให้เฟดมองว่า ภาวะอัตราเงินเฟ้อสูงในขณะนี้จึงเป็นเพียงสถานการณ์ชั่วคราว และยังไม่น่าจะส่งผลให้เฟดทำมาตรการลดขนาดงบดุล (QT) ภายในปีนี้ แต่อาจจะได้เห็นในช่วงท้ายของปี 2565 แทน

“การที่สหรัฐจะปรับนโยบายการเงินให้แข็งค่าเพียงคนเดียว สิ่งที่จะตามมา คือดอลลาร์จะแข็งค่าเกินไป ผลสุดท้ายเศรษฐกิจสหรัฐจะชะลอ เพราะการที่ดอลลาร์แข็งค่ามากไปจะเสียความสามารถในการแข่งขัน และจะมีผลกระทบในด้านภาวะเศรษฐกิจ ราคาน้ำมันในรูปของดอลลาร์จะลดลง และเงินเฟ้อจะน้อยลง หรืออาจเป็นกึ่งๆ เงินฝืดได้”  นายกอบสิทธิ์ กล่าว

ทั้งนี้ ในแง่ของอัตราแลกเปลี่ยนจะพบว่าเงินบาทในปีที่ผ่านมาอ่อนค่ามาก จากผลกระทบต่อเศรษฐกิจจากการระบาดของโควิดในรอบแรก แต่ในปีนี้เริ่มกลับมาแข็งค่า 1.80% เมื่อเทียบกับดอลลาร์ และหากเทียบกับช่วงต้นปีที่แล้ว เงินบาทอ่อนค่ามากกว่าสกุลเงินของประเทศอื่นจากผลของการกลับมาระบาดในรอบที่สาม อย่างไรก็ดี เงินบาทที่อ่อนค่าในช่วงเมษายน ถึง พฤษภาคม นี้ จะถือว่าเป็นช่วงฤดูกาล เนื่องจากเป็นช่วงที่บริษัทต่างชาติที่มาเปิดกิจการในไทย มีการนำส่งเงินรายได้จากผลประกอบการกลับสู่ประเทศ
“ช่วงเดือนเมษายนถึงเดือนพฤษภาคม บาทจะอ่อนค่ากว่าปกติ เป็นเพราะการจ่ายเงินปันผลของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ที่เจ้าของเป็นบริษัทต่างชาติ ซึ่งสัปดาห์นี้น่าจะมีการจ่ายปันผล 18,000-19,000 ล้านบาท ส่วนสัปดาห์หน้าอีกราว 6,500 ล้านบาท หลังจากนั้นก็จะหมด จึงเป็นตัวสะท้อนดุลบัญชีเดินสะพัดส่วนหนึ่ง และทำให้เงินบาทอ่อนค่าในช่วงนี้ ซึ่งเป็นภาวะของฤดูกาล

อย่างไรก็ตาม KBANK ยังคงมุมมองอัตราแลกเปลี่ยนในช่วงครึ่งปีแรก (สิ้นมิ.ย.) ไว้ที่ 31.10 บาท/ดอลลาร์ ส่วน ณ สิ้นปี 2564 คาดว่าจะเฉลี่ยที่ระดับ 29.80 บาท/ดอลลาร์ ทั้งนี้กรณีวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้า ถ้ามีการส่งมอบได้ตามเป้าหมายก็จะเป็นข่าวดี ทั้งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจก็จะค่อยๆ ดีขึ้น และสนับสนุนให้เงินบาทกลับไปแข็งค่าขึ้นช้าๆ ไม่ก้าวกระโดดเมื่อเทียบกับดอลลาร์

ส่วนการปรับตัวลดลงของตลาดคริปโตเคอร์เรนซี จะมีผลต่อตลาดทุนไทยอย่างไรนั้น นายกอบสิทธิ์ มองว่า อาจจะมองเป็นแง่ดีได้ เพราะการลงทุนในคริปโตเคอร์เรนซีในประเทศไทยยังไม่กว้างขวางนัก เพราะไม่เช่นนั้นแล้วจะส่งผลกระทบให้กำลังซื้อและความมั่งคั่งหายไป ซึ่งภาวะที่เกิดขึ้นกับคริปโตเคอร์เรนซี ในขณะนี้น่าจะเป็นการปรับฐาน และยิ่งทำให้เห็นว่าการจะเลือกลงทุนในคริปโตเคอร์เรนซี ต้องมีการไตร่ตรองให้รอบคอบก่อน
โดยการลงทุนในคริปโตเคอร์เรนซีไม่ใช่แค่รับรู้แต่ด้านกำไรอย่างเดียว ต้องรับรู้ด้านความเสี่ยงด้วย เพราะยิ่งความเสี่ยงที่สูงขึ้นนั้น (high risk) ก็ยิ่ง มีผลตอบแทนที่มากขึ้น (high return)

ทั้งนี้ พร้อมเสนอให้ทางการพิจารณาว่าก่อนที่จะให้นักลงทุนเปิดรับการลงทุนในคริปโตเคอร์เรนซีอย่างกว้างขวางนั้น ควรต้องมีโครงสร้างในการกำกับดูแลที่มากขึ้น และสร้างองค์ความรู้ให้กับผู้ที่เกี่ยวข้องกับคริปโตเคอร์เรนซี ให้มากพอสมควร เพราะการรับรู้เพียงแค่กำไรหรือผลประโยชน์จากการลงทุนเพียงด้านเดียว โดยไม่พิจารณาความเสี่ยงควบคู่ไปด้วย อาจจะนำไปสู่วิกฤติทางการเงินได้ เช่นเดียวกับวิกฤติซับไพร์มในสหรัฐฯ เป็นต้น เพราะในที่สุดแล้วของฟรีไม่มีในโลก ถ้ากล้าได้ก็ต้องกล้าเสีย

Back to top button