“ราชทัณฑ์” แจง “โควิดแอฟริกาใต้” ในเรือนจำแค่ข่าวลือ! ของจริง “คลัสเตอร์ตากใบ”

“อธิบดีกรมราชทัณฑ์ราชทัณฑ์” แจง "โควิดแอฟริกาใต้" ในเรือนจำนราธิวาสแค่ข่าวลือ! ของจริงพบ 3 ราย ใน "คลัสเตอร์ตากใบ" ด้าน "แพทย์ศิริราช" เตือน "โควิด แอฟริกาใต้" มีแค่ "Pfizer" ที่เอาอยู่!


จากกรณีที่มีสื่อมวลชนหนึ่งเผยแพร่ข้อมูลผ่านออนไลน์ว่า มีการพบโควิด สายพันธุ์แอฟริกา เกิดขึ้นเป็นคลัสเตอร์ในเรือนจำจังหวัดนราธิวาส นั้น ล่าสุด นายอายุตม์ สินธพพันธุ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ เปิดเผยว่า ข้อมูลดังกล่าวไม่เป็นความจริง เนื่องจากในปัจจุบัน เรือนจำจังหวัดนราธิวาส ไม่มีผู้ติดเชื้อโควิด-19

“ขอชี้แจงว่า ข้อมูลดังกล่าวไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด เนื่องจากในปัจจุบัน เรือนจำจังหวัดนราธิวาส ไม่พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 แม้แต่รายเดียว ทั้งเจ้าหน้าที่และผู้ต้องขังที่เคยติดเชื้อได้รับการรักษาจนหายหมดทุกรายแล้ว และไม่ปรากฏยอดผู้ติดเชื้อเพิ่ม จึงขอเรียนพี่น้องประชาชนอย่าได้หลงเชื่อข้อมูลที่ไม่เป็นความจริง โดยสามารถติดตามข้อมูลข่าวสารจากกรมราชทัณฑ์อย่างต่อเนื่อง เพื่อมิให้เกิดความเข้าใจผิด” นายอายุตม์ กล่าว

 

ด้านแฟนเพจ “สวท.สุไหงโก-ลก” ได้โพสต์ข้อความชี้แจงว่า พนักงานสาธารณสุขจังหวัดนราธิวาส รายงานพบผู้ติดเชื้อโควิด19 สายพันธุ์แอฟริกาใต้ จำนวน 3 ราย จากคลัสเตอร์ตำบลเกาะสะท้อน อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส ที่ติดเชื้อแล้ว 81 ราย

โดย สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนราธิวาส ชี้แจงกรณีพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์แอฟริกาใต้ จากคลัสเตอร์ตำบลเกาะสะท้อน อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส ซึ่งมีการระบุว่าได้มีการตรวจพบผู้ป่วยรายแรกที่เป็นคลัสเตอร์ของอำเภอตากใบ เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2564 เป็นเพศชายอายุ 32 ปีอาศัยอยู่หมู่ 9 ตำบลเกาะสะท้อน อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส

ทั้งนี้ จากการสอบสวนโรคพบว่ามารดา ภรรยา และบุตร ลักลอบจากประเทศมาเลเซียเข้ามาพักอาศัยร่วมด้วยตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน ถึงวันที่ 4 พฤษภาคม 2564 จากนั้นผู้ป่วยเริ่มมีอาการไข้ เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2564 ได้เข้ารักษาตัวที่คลีนิคและสถานพยาบาลหลายแห่ง ซึ่งได้เก็บสิ่งส่งตรวจไปตรวจหาเชื้อโควิด-19 และได้รับรายงานผลว่าตรวจพบเชื้อโควิค-19 ในวันที่ 4 พฤษภาคม 2564จึงได้ทำการค้นหาผู้สัมผัสเสี่ยงสูง จำนวน 698 ราย พบเชื้อจำนวน 79 ราย และค้นหาเชิงรุกในชุมชน จำนวน 160 ราย พบเชื้อ 2 ราย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสมาชิกในครอบครัวและเครือญาติ โดยบุคคลกลุ่มดังกล่าวมีการปกปิดประวัติในกลุ่มผู้สัมผัสเสี่ยง มีการจัดกิจกรรม ได้แก่ การละหมาดในมัสยิดร่วมกันการสูบบารากู่

ข้อมูลล่าสุด วันที่ 22 พฤษภาคม 2564 เวลา 15.00 น. พบผู้ป่วยในคลัสเตอร์นี้จำนวน 81 ราย เป็นผู้ป่วยตำบลเกาะสะท้อน จำนวน 74 ราย ตำบลไพรวัน จำนวน 2 ราย ตำบลศาลาใหม่ จำนวน 5 ราย

สำหรับมาตรการทางสังคมเพื่อควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้ดำเนินการเชิงรุกติดตามผู้สัมผัสเสี่ยงสูงเข้าสถานกักกัน Local Quarantine อีกทั้งได้มีคำสั่งจังหวัดนราธิวาส ปิดทั้งตำบล คำสั่งที่ 2568/2564 ลงวันที่ 9 พฤษภาคม 2564 มีผลจนถึงวันที่ 22 พฤษภาคม 2564 และติดต่อเนื่องรวมทั้งตั้งจุดตรวจเป็นรายหมู่บ้านในหมู่ 4 หมู่ 7 หมู่8 และ 4 และหมู่ 9 ตำบลเกาะสะท้อน ตั้งแต่วันที่ 23พฤษภาคมจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย อีกทั้งได้ดำเนินคดีทางกฎหมายกับผู้ป่วยรายแรกที่ปกปิดข้อมูลด้วย

 

ขณะที่ ศ.นพ.มานพ พิทักษ์ภากร หัวหน้าศูนย์วิจัยเป็นเลิศด้านการแพทย์แม่นยำ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัว “มานพ พิทักษ์ภากร” โดยได้ระบุถึงกรณีดังกล่าวว่าใจความสำคัญว่า วัคซีนที่จะสามารถใช้ได้ผลกับเชื้อโควิด19 สายพันธุ์แอฟริกาใต้มีเพียงแค่ Pfizer และอาจรวมถึง Moderna 

โดยระบุข้อความว่า “มีข่าวว่า B.1.351 (South African variant) มาเยือนเมืองไทยแล้ว สายพันธุ์นี้ป้วนเปี้ยนแถวชายแดนใต้มาเป็นเดือนเนื่องจากมีการระบาดในมาเลเซีย ขออย่าให้เข้ามาระบาดถึงใจกลางเมืองหลวงแบบ B.1.617.2 (Indian variant) นะครับ เพราะวัคซีนที่ได้ผลกับสายพันธุ์นี้มีแค่ Pfizer (และอาจรวมถึง Moderna ด้วย) ที่ 75%, J&J ที่ 64-66% และ Novavax ที่ 60.1% (สำหรับ non-HIV)

ส่วน AstraZeneca เหลือแค่ 10.4% สำหรับ Sinovac ถ้าเทียบระดับ antibody ที่ขึ้นหลังฉีดแล้วคาดว่าคงแทบไม่ได้ผลเช่นกัน อาจถึงเวลาที่ภาครัฐจะต้องเปลี่ยนนโยบาย เร่งนำเข้า Pfizer, Moderna และ J&J vaccine มาให้เพียงพอและครอบคลุมประชากรครับ ถ้าปล่อยให้ B.1.351 ระบาดนี่อาจดูไม่จืดเลย”

Back to top button