รัฐฯ แจงงบฟื้นฟูโควิด-19 กว่าแสนลบ. จ่ายแล้ว 8.79 หมื่นลบ. ตุนเงินสำรองอีก 3 หมื่นลบ.

รองโฆษกรัฐบาล ชี้แจงวงเงินที่ใช้ในการบริหารจัดการโควิด-19 เบื้องต้น 1.17 แสนล้านบาท ใช้จ่ายไปแล้วกว่า 8.79 หมื่นล้านบาท และมีเงินสำรองอีก 3 หมื่นลบ. มั่นใจงบประมาณเพียงพอในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ-จัดซื้ออุปกรณ์การแพทย์-วัคซีน


นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า จากที่ได้ติดตามการอภิปรายร่างพระราชบัญญัติงบประมาณแผ่นดินประจำปี 2565 ซึ่งพบว่ายังมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนในเรื่องการจัดสรรงบประมาณด้านสาธารณสุขให้แก่การป้องกันและแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 จึงขอชี้แจงเพื่อให้ประชาชนได้สบายใจว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับเรื่องนี้อย่างสูงสุดและได้จัดสรรวงเงินที่จะใช้ในการบริหารจัดการสถานการณ์โควิด-19 เฉพาะที่เกี่ยวข้องกับด้านสาธารณสุข เบื้องต้นจำนวนทั้งสิ้น 1.17 แสนล้านบาท

อีกทั้งในส่วนของร่างพ.ร.บ.งบประมาณประจำปี 2565 ยังจัดงบประมาณด้านการแพทย์และสาธารณสุขตามภารกิจของหน่วยงาน ที่ประกอบด้วยงบของกระทรวงสาธารณสุข กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กองทุนการแพทย์ฉุกเฉิน กองทุนภูมิปัญหาการแพทย์แผนไทย วงเงินรวมอีก  2.95 แสนล้านบาท

ทั้งนี้ ในช่วงปีงบประมาณ 2563 ถึง 2564 รัฐบาลจัดสรรวงเงินงบประมาณจากทั้งงบกลาง กรณีฉุกเฉิน และพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ไปแล้วทั้งสิ้น จำนวน 8.79 หมื่นล้านบาท

โดยแบ่งเป็น ค่าตอบแทนเสี่ยงภัยให้กับบุคลากรทางการแพทย์ เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานภาคสนาม และ อสม. 2.21 หมื่นล้านบาท, การจัดซื้อจัดหาครุภัณฑ์และอุปกรณ์ทางการแพทย์ 1.82 พันล้านบาท, ค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยโควิด 2.93 หมื่นล้านบาท, ค่าใช้จ่ายด้านวัคซีน ทั้งการวิจัยพัฒนาในประเทศ รวมไปถึงค่ารักษากรณีอาการไม่พึงประสงค์จากวัคซีนด้วย 2.11 หมื่นล้านบาท, การเฝ้าระวัง ป้องกันและค้นหาเชิงรุก 6.48 พันล้านบาท, การจัดตั้งสถานกักตัวของรัฐ (State Quarantine – SQ) และ สถานที่กักกันโดยองค์กรต่าง ๆ (Organizational Quarantine – OQ) 6.45 พันล้านบาท และการเตรียมความพร้อมด้านสาธารณสุขสำหรับสถานการณ์ฉุกเฉิน 5.19 ร้อยล้านบาท

นอกจากนี้ ยังมีเงินกู้ตามพระราชกำหนด ฉบับเพิ่มเติม ที่มีผลบังคับใช้แล้ว เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคมที่ผ่านมา อีกจำนวน 3 หมื่นล้านบาท (จากกรอบวงเงินกู้ 5 แสนล้านบาท) เพื่อเตรียมพร้อมรับความไม่แน่นอนของการระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งการใช้เงินเพื่อแก้ปัญหาโควิด-19 จากพ.ร.ก.เงินกู้ จะทำได้เร็วกว่าและทันสถานการณ์มากกว่าการรอใช้จาก พ.ร.บ. งบประมาณปี 2565 ที่กว่าจะเริ่มใช้ในเดือนตุลาคม 2564

ขอให้ความมั่นใจว่า รัฐบาลให้ความสำคัญและมีงบประมาณเพียงพอในการจัดการสถานการณ์โควิด-19  ทั้งการจัดซื้ออุปกรณ์การแพทย์ วัคซีนเพื่อบริการฉีดวัคซีนแก่ประชาชน การรักษาผู้ป่วยติดเชื้อโควิด19 และการดูแลบุคลากรทางการแพทย์และเจ้าหน้าที่สาธารณสุข  ซึ่งนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้เน้นย้ำว่า รัฐบาลจัดสรรงบประมาณโดยคำนึงถึงการบริหารประเทศทั้ง 2 ช่วงเวลา ทั้งช่วงสถานการณ์การระบาดโควิด-19 และหลังสถานการณ์  เพี่อขับเคลื่อนประเทศต่อเนื่องในทุกมิติทั้งความมั่นคง เศรษฐกิจ สังคมและสุขภาพ” นางสาวรัชดา กล่าว

Back to top button