“เครือซีพี” ผนึกพันธมิตรลด “ก๊าซเรือนกระจก” ดันตลาดคาร์บอนเครดิตโต

“เครือซีพี” ร่วมเป็น 1 ใน 53 องค์กรพันธมิตร จับมือ “อบก.” เปิดตัว "เครือข่ายคาร์บอนนิวทรัลประเทศไทย" หวังลดก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ พร้อมเปิดแพลตฟอร์ม “Thailand Carbon Credit Exchange” ดันตลาดคาร์บอนเครดิตเติบโต


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2564 ที่ผ่านมา องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. พร้อมด้วยคณะผู้บริหารจากองค์กรพันธมิตร อาทิ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.), การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.), มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงในพระบรมราชูปถัมภ์, สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.), บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด หรือ CPF, บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด(มหาชน) หรือ SCC, บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด, บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ BCP, บริษัท ไพรซ์วอเทอร์เฮาส์คูเปอส์ จำกัด (PwC) เป็นต้น 

ทั้งนี้ได้ร่วมแถลงข่าวเปิดตัว “เครือข่ายคาร์บอนนิวทรัลประเทศไทย” หรือ Thailand Carbon Neutral Network : TCNN ซึ่งจัดตั้งขึ้นโดยการรวมตัวขององค์กรธุรกิจและหน่วยงานต่างๆกว่า 53 องค์กรที่มีแนวคิดและจุดยืนความรับผิดชอบต่อการมุ่งมั่นรักษาสิ่งแวดล้อม ตลอดจนตระหนักถึงปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) โดยภาคีเครือข่ายจะร่วมมือกันขับเคลื่อนประเทศไทยเพื่อให้บรรลุสู่เป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ซึ่งได้รับเกียรติจาก นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานในพิธี

นอกจากนี้ยังมีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินงานพัฒนาตลาดคาร์บอนภายในประเทศเพื่อขับเคลื่อนการมีส่วนร่วมในการลดก๊าซเรือนกระจกของภาคเอกชนไทยระหว่าง อบก. เครือข่าย TCNN กับ ส.อ.ท. โดยเปิดตัวแพลตฟอร์ม Thailand Carbon Credit Exchange ซึ่งทำหน้าที่เป็นตัวกลางตลาดซื้อขายแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิตออนไลน์ครั้งแรกในประเทศไทย

โดยนายวราวุธ  ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า เครือข่าย Thailand Carbon Neutral Network จะมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่เป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกที่สอดคล้องกับเป้าหมายการรักษาอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเพิ่มขึ้นไม่เกิน 1.50 – 2 องศาเซลเซียสตามประชาคมโลก ซึ่งภาคีสมาชิกของเครือข่ายนี้จะเป็นส่วนสำคัญในการสร้างระบบนิเวศน์สำหรับการใช้กลไกราคาคาร์บอนเพื่อขับเคลื่อนให้เกิดการแลกเปลี่ยนคุณค่าของคาร์บอนเครดิตซึ่งกันและกัน สร้างความโปร่งใสและยุติธรรมในตลาดคาร์บอน 

รวมทั้งร่วมสนับสนุนโครงการภาคป่าไม้ประเภทต่างๆตามนโยบายของประเทศไทย เพื่อส่งเสริมแหล่งดูดซับก๊าซเรือนกระจก สร้างผลประโยชน์ร่วมให้แก่ทั้งเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งนำไปสู่การลดต้นทุนการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศโดยรวมให้ต่ำที่สุด โดยผ่านแพลตฟอร์มการซื้อขายหรือแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิต (Thailand Carbon Credit Exchange Platform) ที่อบก. และส.อ.ท.ร่วมกันพัฒนาขึ้น

ด้านนายเกียรติชาย ไมตรีวงษ์ ผู้อำนวยการ อบก. เปิดเผยว่า การจัดตั้งเครือข่ายคาร์บอนนิวทรัลประเทศไทย หรือ TCNN เป็นการส่งเสริมความร่วมมือของทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ เอกชน และท้องถิ่นในการร่วมรับผิดชอบการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ Net zero ให้เกิดขึ้นในประเทศไทยภายในปี 2573 และยังสอดคล้องกับการขับเคลื่อนของกลุ่มองค์กรระดับโลกตามข้อตกลงปารีสอย่าง Race To Zero 

โดยขณะนี้มีองค์กรที่สนใจเข้าร่วมเครือข่าย TCNN รวม 53 องค์กร และ อบก. ได้ร่วมมือกับ ส.อ.ท.พัฒนาแพลตฟอร์ม Thailand Carbon Credit Exchange ทำหน้าที่เป็นตัวกลางตลาดซื้อขายแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิตที่โปร่งใสเชื่อถือได้สามารถรายงานระดับราคาที่ยุติธรรม ซึ่งองค์กรในเครือข่ายจะได้มาทำการแลกเปลี่ยนซื้อขายคาร์บอนเครดิตร่วมกัน นำไปสู่การลดต้นทุนการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศโดยรวมให้ต่ำที่สุด และในอนาคตจะพัฒนาไปสู่การซื้อขายในระดับสากล

ส่วน นายนพปฏล เดชอุดม ประธานคณะผู้บริหารด้านความยั่งยืนองค์กร CPF เปิดเผยว่า เครือซีพีตระหนักถึงบทบาทของประเทศไทยที่จะร่วมเป็นหนึ่งในประชาคมโลก ที่จะร่วมจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยโลกให้ไม่เกิน 1.50 องศาเซลเซียส ซึ่งถือเป็นหนึ่งในวาระเร่งด่วนสำคัญของโลกขณะนี้ โดยเครือซีพีร่วมเป็นหนึ่งในองค์กรธุรกิจของไทยที่จะขับเคลื่อนไปกับภาครัฐในการช่วยลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทยให้บรรลุเป้าหมาย ซึ่งองค์กรพันธมิตรเครือข่าย Carbon Neutral Thailand ที่มีกว่า 53 องค์กร เป็นองค์กรมีศักยภาพและมีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมจะเป็นแนวร่วมสำคัญในการช่วยการลดก๊าซเรือนกระจกในประเทศไทย สอดคล้องกับเครือซีพีที่ตั้งเป้าสู่องค์กรปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2573 

ขณะเดียวกันการผนึกกำลังสร้างเครือข่ายนี้ยังนำไปสู่การผลักดันให้ตลาดคาร์บอนเครดิตในประเทศไทยเติบโต ซึ่งจะช่วยสร้างแรงจูงใจให้กลุ่มธุรกิจ องค์กร และหน่วยงานต่างๆทุกภาคส่วนหันมาใช้เรื่องตลาดคาร์บอนเครดิตลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ สร้างสังคม Net Zero ให้เกิดขึ้นในประเทศไทยต่อไป

Back to top button