ปตท.ปิ๊งไอเดีย! ผุดกิจกรรม Spark the Local 2024 by PTT ปั้นให้ปัง…จุดพลังให้สินค้าชุมชน
ผ่านไปแล้วกับกิจกรรมดีๆ กับการประกวด Spark the Local 2024 by PTT ปั้นให้ปัง...จุดพลังให้สินค้าชุมชน การประกวดพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชน
ผ่านไปแล้วกับกิจกรรมดี ๆ กับการประกวด Spark the Local 2024 by PTT ปั้นให้ปัง…จุดพลังให้สินค้าชุมชน การประกวดพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชน ประเภทอาหารแปรรูป ภายใต้ธีม “ปรับปรุง แปลงโฉม ปั้นแบรนด์” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ในชุมชนได้ใช้ศักยภาพและความคิดสร้างสรรค์มาพัฒนา ต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์/สินค้าชุมชน และเพื่อขยายโอกาสในการสร้างฐานลูกค้าและผู้บริโภคกลุ่มใหม่ให้กับสินค้าชุมชน พร้อมทั้งสร้างโอกาสทางธุรกิจให้กับสินค้าชุมชน
สำหรับกิจกรรมการประกวดในครั้งนี้ มีผลงานส่งเข้าร่วมการประกวดกว่า 300 ผลงาน ซึ่งได้มีการคัดเลือกอย่างเข้มข้นจนเหลือ 5 ทีมสุดท้าย และได้ประกาศผลในการแข่งขันรอบ Final ไปแล้วเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2567 ที่ผ่านมา ณ ร้านเด็ดแฟร์ 6 ณ สยามสแควร์ ทั้งนี้ นอกจากผู้ชนะจะได้รับเงินรางวัล พร้อมเกียรติบัตรแล้ว ยังได้รับโอกาสในการเข้าร่วมโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนร่วมกับ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT อีกด้วย
โดยโจทย์การประกวดนั้น ผู้เข้าแข่งขันจะต้องสร้างแผนพัฒนาสินค้าและการตลาดผลิตภัณฑ์ชุมชน ประเภท “อาหารแปรรูป” ภายใต้แนวคิด “ปรับปรุง แปลงโฉม ปั้นแบรนด์” กล่าวคือ “ปรับและปรุง” ผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูปของไทยให้ถูกใจ และถูกปากลูกค้าได้มากขึ้น พร้อม “แปลง” โฉมสินค้า ให้บรรจุภัณฑ์ทันสมัย เพิ่มมูลค่าในราคาเหมาะสม และ “ปั้น” แบรนด์ให้ปัง เล่าเรื่องราวสะท้อนเอกลักษณ์ชุมชนและความโดดเด่นของสินค้าให้เป็นที่จดจํา
ทั้งนี้ การแข่งขันรอบ Final ได้รับเกียรติจากคณะกรรมการกูรูผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาสินค้าชุมชน ได้แก่ อาจารย์ขาบ – สุทธิพงษ์ สุริยะ Food Stylist ผู้ออกแบบแนวคิด “นำ Local สู่ เลอค่า” คุณตั้ม – นิพนธ์ พิลา เกษตรกรดีไซน์เนอร์ ผู้ก่อตั้งวิสาหกิจชุมชนพิลาฟาร์มสตูดิโอ คุณมยุรา ปรารถนาเปลี่ยน ผู้จัดการแผนกออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ สถาบันอาหาร คุณซ้อบรีม – ศิริพร มัจฉิม ผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาดใน TikTok ที่มีผู้ติดตามกว่า 1.2 ล้านคน และคุณวรุตม์สุรางค์ ธรรมอารี ผู้จัดการฝ่ายกิจการเพื่อสังคม บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)
สำหรับทีมที่ได้รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ ทีม Samui Sigma นักศึกษาจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับเงินรางวัล 100,000 บาท โดยได้เลือกเอาผลิตภัณฑ์ไอศกรีมกะทิ จากวิสาหกิจชุมชนกลุ่มแปรรูปผลิตภัณฑ์มะพร้าวสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี มาปรับปรุงเป็นไอศกรีมกะทิพรีเมียมแบบถ้วย ภายใต้ชื่อแบรนด์ Creamui ที่สะท้อนเอกลักษณ์ของเกาะสมุย หรืออัญมณีอ่าวไทย
รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 1 ได้แก่ ทีม KOS นักศึกษาจากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ได้รับเงินรางวัล 70,000 บาท โดยได้เลือกพัฒนาผลิตภัณฑ์ คอมบูชาจากใบขลู่ จากวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์ควนเนียงสวนลุงจิม จังหวัดสงขลา
รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 2 ได้แก่ ทีม NAGOYASH นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น รับเงินรางวัล 50,000 บาท โดยได้เลือกพัฒนาผลิตภัณฑ์ POP RICE ขนมข้าวพองอบกรอบ แบรนด์ นาโกย๊าช จากวิสาหกิจชุมชนกลุ่มข้าวอินทรีย์เป็นสุขนาโก จังหวัดกาฬสินธุ์
รางวัลชมเชย รับเงินรางวัลทีมละ 10,000 บาท ได้แก่ ทีม สาธุ นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ชาหน่อกะลาปรุงสำเร็จ แบรนด์ Koh Chá จากวิสาหกิจชุมชนชาวเกราะเกร็ด จังหวัดนนทบุรี และทีม หมายจันทร์ นักศึกษาจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมพัฒนาผลิตภัณฑ์ กัมมี่มะปี๊ด แบรนด์ CHAMY จาก วิสาหกิจชุมชนสภากาแฟฅนจันทบูร จังหวัดจันทบุรี (แบรนด์ Rabbit Chan)
ทั้งนี้ ขอแสดงความยินดีกับทุกทีมอีกครั้ง ทั้งหมดนี้คือพลังของคนรุ่นใหม่ ที่จะช่วยขับเคลื่อนและเป็นพลังใหักับชุมชน โดย ปตท. พร้อมที่จะเป็นอีกแรงสนับสนุนเพื่อร่วมสร้างสังคมไทยที่แข็งแรงและยั่งยืนตลอดไป