ภัยคุกคามใหม่! “กสทช.-ตำรวจไซเบอร์” ทลายแก๊งคอลเซ็นเตอร์เบอร์ 02 โทรลวงกว่า 750 ล้านครั้ง

“สำนักงาน กสทช.” ร่วมปฏิบัติการ “ตำรวจไซเบอร์” ดำเนินคดีกลุ่มบุคคลใช้เบอร์ 02 กว่า 1 หมื่นเลขหมาย โทรหลอกลวงประชาชนกว่า 750 ล้านครั้ง เพื่อก่ออาชญากรรมทางเทคโนโลยี และเข้าข่ายเป็นแก๊งคอลเซนเตอร์


นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รองเลขาธิการ รักษาการแทน เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) ได้ร่วมกับกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) หรือ ตำรวจไซเบอร์ ตรวจพบกลุ่มบุคคลใช้โทรศัพท์ประจำที่หมายเลข 02 ติดต่อหลอกลวงประชาชนในลักษณะอาชญากรรมทางเทคโนโลยี

โดยจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทนิติบุคคลที่ไม่มีการประกอบธุรกิจจริงจำนวน 3 บริษัท และขอใช้หมายเลขโทรศัพท์ประจำที่หมายเลข 02 จำนวน 11,201 เลขหมาย จากผู้ให้บริการโทรศัพท์รายหนึ่ง ใช้งานในช่วงเดือน ม.ค.- มิ.ย. 2567 โทรหาบุคคลอื่นจำนวนกว่า 750 ล้านครั้ง ซึ่งเป็นจำนวนการใช้โทรศัพท์ที่มากผิดปกติ สำนักงาน กสทช. จึงได้ส่งเบอร์ให้สำนักงานตรวจแห่งชาติช่วยตรวจสอบ พบว่าบางเลขหมายในกลุ่มนี้ เป็นหมายเลขโทรศัพท์ที่มีประชาชนแจ้งความพยายามโทรหาบ่อยครั้ง ซึ่งอาจเข้าข่ายเป็นแก๊งคอลเซนเตอร์

นายไตรรัตน์ กล่าวว่า การใช้หมายเลขโทรศัพท์ประจำที่ที่ขึ้นต้นด้วยหมายเลข 02 ของบริษัทดังกล่าว ผ่านเทคโนโลยี SIP Trunk ซึ่งเป็นระบบบริหารจัดการหมายเลขโทรศัพท์ภายในองค์กรเพื่อให้บริการลูกค้า โดยใช้เครือข่ายอินเทอร์เน็ตในการเชื่อมต่อระบบโทรศัพท์ และสามารถโทรได้จากต่างประเทศ แม้จะเป็นเลขหมายที่ขึ้นต้นด้วย 02 โดยหมายเลขที่แสดง ณ เครื่องรับปลายทางจะแสดงเป็นหมายเลข 02 ทำให้ผู้สายปลายทางเข้าใจว่าเป็นการโทรภายในประเทศ

อย่างไรก็ดี ภายหลังที่ตรวจสอบพบว่าบริษัทที่ขอใช้หมายเลขโทรศัพท์ประจำที่ผ่านระบบ SIP Trunk เป็นบริษัทที่จดทะเบียนโดยชาวจีนซึ่งไม่มีการประกอบธุรกิจอยู่จริง สำนักงาน กสทช. จึงกำหนดมาตรการให้ผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมพิจารณาความเหมาะสมในการขอใช้งานหมายเลขโทรศัพท์ว่ามีความเหมาะสมและสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ในการประกอบธุรกิจหรือไม่ โดยในอนาคตจะต้องประสานงานข้อมูลจากหน่วยงานรัฐอื่น ๆ เพื่อนำข้อมูลที่เกี่ยวข้องมาประกอบการพิจารณาก่อนการให้บริการ รวมทั้ง ภายหลังการให้บริการหมายเลขโทรศัพท์จะต้องตรวจสอบปริมาณการใช้บริการโทรศัพท์ดังกล่าวว่ามีปริมาณการใช้งานที่ผิดปกติหรือไม่สอดคล้องกับการประกอบธุรกิจหรือไม่อย่างไร เพื่อร่วมมือกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติในการสนับสนุนการแก้ปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ มิจฉาชีพ และอาชญากรรมข้ามชาติอย่างจริงจังต่อไป

“สำนักงาน กสทช. ต้องขอขอบคุณสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนที่ร่วมมือกันดำเนินการแก้ปัญหามิจฉาชีพ คอลเซ็นเตอร์ แม้ยังมีอยู่ แต่พวกเราก็ต้องทำงานอย่างหนักกันต่อ เพื่อสร้างความปลอดภัยให้กับประชาชน ซึ่งทุกคนก็อยากได้ความปลอดภัยพื้นฐานในชีวิตประจำวัน ผมเชื่อว่าปัญหาเหล่านี้จะดีขึ้นได้ถ้าทุกหน่วยงานร่วมมือกันทำให้กับประชาชน” นายไตรรัตน์ กล่าว

Back to top button