“กสทช.” เตือนลงทุนผ่านตู้ “เคธี่ปันสุข K4” เข้าข่ายแชร์ลูกโซ่
“กสทช.” เตือนประชาชนอย่าหลงเชื่อลงทุนผ่าน “เคธี่ปันสุข K4” ชี้ลักษณะธุรกิจเข้าข่ายแชร์ลูกโซ่ ยืนยันตู้เติมเงิน K4 ยังไม่ได้ใบอนุญาตจาก กสทช.
ผู้สื่อข่าวรายงาน วันนี้ (19 ธ.ค.67) นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รองเลขาธิการ รักษาการแทน เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) ไม่ได้นิ่งนอนใจกรณีมีการร้องเรียน บริษัท เคโฟร์ คอมมูนิเคชั่น จำกัด (บริษัท เคโฟร์ฯ) เพราะมีประชาชนโทรศัพท์เข้ามาสอบถามสำนักงาน กสทช. ตั้งแต่เดือน กุมภาพันธ์ 2567 เกี่ยวกับการลงทุนตู้เติมเงินที่ใช้ชื่อ “เคธี่ปันสุข” ที่ให้ผลตอบแทนสูง
โดยบริษัทมีการตั้งกลุ่มไลน์โฆษณาชักชวนให้ลงทุน และแจ้งกับสมาชิกในกลุ่มไลน์ว่า บริษัทได้รับใบอนุญาตจาก สำนักงาน กสทช. เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้ลงทุน จึงมีประชาชนบางรายโทรศัพท์เข้ามาสอบว่าจริงหรือไม่ ซึ่งสำนักงาน กสทช. ได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงควบคู่ไปกับการออกข่าวประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อช่องทางต่าง ๆ ในเดือน กรกฎาคม 2567 พร้อมทั้งมีการหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้ง กรมสอบคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) และได้ให้บริษัท เคโฟร์ฯ เข้าชี้แจง เพื่อรวบรวมข้อเท็จจริงตลอดปี 2567
นายไตรรัตน์ กล่าวว่า สำนักงาน กสทช. ขอชี้แจงว่าธุรกิจของ K4 ที่เกี่ยวข้องกับใบอนุญาตจาก กสทช. มีเพียงอย่างเดียว คือ ธุรกิจซิมการ์ด K4 โดยบริษัท เคโฟร์ฯ เป็นผู้รับใบอนุญาตกิจการโทรคมนาคมแบบที่หนึ่งได้รับอนุญาตเมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2562 เพื่อให้บริการขายต่อบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบโครงข่ายเสมือน หรือบริการ MVNO แต่ธุรกิจอื่นของ บริษัท เคโฟร์ฯ เช่น ธุรกิจตู้เติมเงินชื่อ “เคธี่ปันสุข” และบริการเติมเงินค่าโทรศัพท์ค่าย K4 ธุรกิจในส่วนนี้ ไม่ได้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงาน กสทช. และไม่มีเรื่องการให้ใบอนุญาต
เนื่องจากตู้เติมเงินไม่เข้าข่ายเป็นกิจการโทรคมนาคมตามมาตรา 4 ของ พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 และไม่เข้าข่ายเป็นการประกอบกิจการโทรคมนาคมที่ต้องได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมจาก กสทช. ตามมาตรา 4 ของ พ.ร.บ. การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544
ทั้งนี้ สำนักงาน กสทช. ขอฝากประชาชนพิจารณาการลงทุนหากมีการชักชวนลงทุนที่เกี่ยวกับตู้เติมเงิน และได้รับผลตอบแทนสูง ในลักษณะธุรกิจเครือข่าย ก็อาจมีความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาในอนาคตได้ และหากพบว่าบริษัทมีการกล่าวอ้างถึงใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมของ กสทช. เพื่อแสวงหาประโยชน์จากการชักชวนประชาชนลงทุนตู้เติมเงิน หากตรวจสอบแล้วพบว่า มีการกระทำดังกล่าวและเกิดความเสียหายร้ายแรงต่อประโยชน์สาธารณะ จะถือเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับตามประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการพักใช้และเพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม โดยสำนักงานกสทช. จะติดตามตรวจสอบอย่างใกล้ชิด เพื่อพิจารณาการพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาตการประกอบกิจการโทรคมนาคมต่อไป
นายไตรรัตน์ กล่าวเสริมว่า สำนักงาน กสทช. ได้มีการตรวจสอบข้อมูลการประกอบกิจการโทรคมนาคมของบริษัท เคโฟร์ฯ ที่ได้รับการจัดสรรเลขหมายจากผู้ให้บริการโครงข่ายพบว่า ปัจจุบันบริษัท เคโฟร์ฯ ได้รับจัดสรรประมาณ 331,000 เลขหมาย โดยช่วง 3 เดือนหลัง ได้แก่ เดือน ก.ย. 2567 มีเลขหมายที่ใช้งานจริงประมาณ 33,000 เลขหมาย มียอดการเติมเงินออนไลน์ประมาณ 1,286,000 บาท เดือน ต.ค. 2567 มีเลขหมายใช้งานจริงประมาณ 42,000 เลขหมาย ยอดการเติมเงินออนไลน์ประมาณ 1,020,000 บาท และเดือน พ.ย. 2567 ใช้งานจริงประมาณ 46,000 เลขหมาย ยอดการเติมเงินออนไลน์ 1,742,000 บาท ซึ่งหากนำยอดการใช้จ่ายจริงในเดือน พ.ย. มาคำนวณจะพบว่ามีการเติมเงินเฉลี่ยเพียงเลขหมายละ 38 บาท
นอกจากนี้ ประกอบกับในปี 2566 บริษัท เคโฟร์ฯ ได้ชำระค่าธรรมเนียมจากการประกอบกิจการโทรคมนาคมให้กับสำนักงาน กสทช. เพียง 7,000 บาท ซึ่งคำนวณจากรายได้ประกอบกิจการโทรคมนาคมประมาณ 5 ล้านบาท จึงมีข้อสังเกตว่าในการประกอบกิจการโทรคมนาคม ระหว่างปี 2566-2567 บริษัท เคโฟร์ฯ มีการเพิ่มทุนจดทะเบียนบริษัทอย่างต่อเนื่องเป็นเงินจำนวนมาก จากเดิมที่มีทุนจดทะเบียนเริ่มต้นเพียง 5 ล้านบาทในปี 2565 เพิ่มทุนจดทะเบียนในปี 2567 เป็น 500 ล้านบาท การเพิ่มทุนจดทะเบียนดังกล่าวมีพื้นฐานรายได้จากการประกอบกิจการโทรคมนาคมตามที่ได้รับใบอนุญาตจาก กสทช. หรือเป็นการประกอบธุรกิจประเภทอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับใบอนุญาตของ กสทช.
ทั้งนี้ หากมีการประกอบธุรกิจประเภทอื่นจะต้องพิจารณาต่อไปว่าการประกอบธุรกิจดังกล่าวนั้นมีพฤติกรรมที่เข้าข่ายจูงใจให้ผู้ใช้บริการของตนโดยมอบผลประโยชน์ตอบแทนให้แก่ผู้ใช้บริการอันเป็นการแสวงหาผลประโยชน์อื่นใดนอกเหนือจากการให้บริการโทรคมนาคม อันเป็นข้อห้ามตามประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตคมนาคมข้อ 12.17 และประกาศ กสทช. เรื่อง เงื่อนไขมาตรฐานใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม ข้อ 16 ด้วยหรือไม่
อย่างไรก็ตาม จากการลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบศูนย์บริการของ K4 ของสำนักงาน กสทช. ภาค และสำนักงาน กสทช. เขต พบว่า ศูนย์บริการบางแห่งมีการปิดล๊อกประตูเข้า-ออก บางแห่งพบว่ามีตู้เติมเงิน แต่มีสภาพที่ไม่พร้อมใช้งาน บางแห่งไม่พบตู้เติมเงินแต่อย่างใด และเมื่อโทรสอบถามได้รับแจ้งจากผู้ดูแลศูนย์บริการว่ายังคงเปิดให้บริการ และมีการขายซิมการ์ดอยู่
“ตั้งแต่เราได้รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนในเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่สำนักงาน กสทช. ในส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งคอลเซนเตอร์ 1200 สายงานกิจการโทรคมนาคม ทั้งสำนักรับเรื่องร้องเรียน และใบอนุญาต และกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคม ทำงานกันแข็งขัน เราไม่ได้เพิกเฉย หรือนิ่งนอนใจ เพราะมีประชาชนโทรมาสอบถามว่าจริงหรือเปล่าที่ K4 ได้รับใบอนุญาตจาก กสทช. เพราะมีโฆษณาชักชวนลงทุนตู้เติมเงิน ซึ่งธุรกิจนี้ไม่ได้ใบอนุญาตจากเรา เจ้าหน้าที่ก็อธิบาย อย่างไรก็ตาม เราก็ยื่นเรื่องต่อดีเอสไอ สคบ. ปปง. ธปท. เพื่อให้แต่ละหน่วยงานดำเนินในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป เพราะไม่ต้องการให้เกิดความเสียหายเกิดขึ้น และอยากให้ประชาชนได้ทราบข้อมูลที่ถูกต้องว่าใบอนุญาตที่ กสทช. ให้ไม่ได้เกี่ยวกับการชวนลงทุนตู้เติมเงิน หรือเอาธุรกิจสื่อสารไปทำธุรกิจลักษณะเครือข่ายได้” นายไตรรัตน์ กล่าว