
Whoscall เปิดสถิติ “เบอร์มิจฉาชีพ” ปี 67 พุ่งแตะ 168 ล้านครั้ง!
Whoscall เปิดสถิติปี 2567 สายโทรศัพท์มิจฉาชีพ-ข้อความ SMS หลอกลวงคนไทยพุ่งแตะระดับ 168 ล้านครั้ง สูงสุดในรอบ 5 ปี
นายแมนวู จู ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โกโกลุก ประเทศไทย ผู้ให้บริการแอปพลิเคชัน Whoscall เปิดเผยว่า นับตั้งแต่ที่บริษัทเริ่มเผยแพร่รายงานประจำปีตั้งแต่ปี 2563-2567 พบว่าสถานการณ์การหลอกลวงของมิจฉาชีพในตลาดหลักที่ Whoscall ให้บริการ มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง สำหรับประเทศไทยในปี 2567 ที่ผ่านมา Whoscall สามารถระบุสายโทรศัพท์และข้อความหลอกลวงได้สูงถึง 168 ล้านครั้ง ถือเป็นสถิติที่สูงที่สุดในรอบ 5 ปี
โดยสาเหตุที่ทำให้สถิติดังกล่าวเพิ่มสูงขึ้น เนื่องมาจากปัจจุบันมิจฉาชีพได้นำเทคโนโลยี AI มาใช้ในการหลอกลวงอย่างแพร่หลาย ทำให้กลโกงมีความซับซ้อนและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยแนวโน้มการหลอกลวงที่ต้องจับตามอง ได้แก่ การแอบอ้างหน่วยงานภาครัฐและเอกชน การฉ้อโกงทางการเงินในหลากหลายรูปแบบ ทั้งผ่านการโทรศัพท์ ข้อความ SMS ลิงก์อันตราย รวมถึง การรั่วไหลของข้อมูลส่วนบุคคลที่เพิ่มขึ้นอย่างน่ากังวล
ขณะที่ นายกชศร ใจแจ่ม กรรมการผู้จัดการฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท โกโกลุก ประเทศไทย กล่าวว่า จำนวนสายโทรศัพท์และข้อความ SMS หลอกลวงที่สูงถึง 168 ล้านครั้ง คิดเป็นการเพิ่มขึ้นมากกว่า 112% จากระดับ 79.2 ล้านครั้งในปี 2566 และถือเป็นยอดที่สูงสุดในรอบ 5 ปี โดยในส่วนของการโทรหลอกลวงเพิ่มขึ้นเป็น 38 ล้านครั้ง จาก 20.8 ล้านครั้งในปี 2566 ขณะที่จำนวนข้อความ SMS หลอกลวงพุ่งสูงถึงเกือบ 130 ล้านครั้ง จาก 58.3 ล้านครั้งในปี 2566 โดยกลโกงที่พบมากที่สุด ได้แก่ การหลอกขายบริการและสินค้าปลอม การแอบอ้างเป็นหน่วยงาน และหลอกว่ามีเงินกู้อนุมัติง่าย การหลอกทวงเงิน และการหลอกว่าเป็นหนี้
โดยการตรวจสอบข้อความ SMS ที่เข้าข่ายการหลอกลวงผ่าน บริการ Smart SMS Assistant ของ Whoscall บ่งชี้ว่าในปี 2557 กลุ่มมิจฉาชีพยังคงใช้การส่งข้อความเป็นช่องทางหลักในการหลอกลวง โดยข้อความ SMS หลอกลวงที่แนบลิงก์ฟิชชิง เช่น ข้อความ SMS ที่หลอกให้กู้เงิน และโฆษณาการพนันยังคงพบมากที่สุด ขณะเดียวกันกลุ่มมิจฉาชีพยังเปลี่ยนกลยุทธ์มาแอบอ้างหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนมากขึ้น เช่น แอบอ้างเป็นบริการจัดส่งสินค้า รวมไปถึงการปลอมเป็นหน่วยงานสาธารณูปโภค เพื่อส่งข้อความชวนเชื่อที่สอดคล้องกับนโยบายของภาครัฐเกี่ยวกับมาตรการลดค่าไฟฟ้า คืนค่าประกันมิเตอร์ไฟฟ้า มาตรการคนละครึ่ง และโครงการดิจิทัลวอลเล็ต
นอกจากนี้ Whoscall ได้พัฒนาฟีเจอร์อื่นๆ เช่น Web Checker ที่ผู้ใช้สามารถตรวจสอบลิงก์ที่น่าสงสัยและอันตรายบนเว็บบราวเซอร์ในระหว่างการใช้งานโทรศัพท์มือถือ โดยปีที่ผ่านมาฟีเจอร์นี้ช่วยปกป้องผู้ใช้งานจากการคลิกลิงก์อันตรายหลากหลายประเภท โดยประเภทลิงก์อันตรายที่พบมากที่สุดเป็นลิงก์ฟิชชิงที่มีวัตถุประสงค์เพื่อดูดเงิน หรือล้วงข้อมูลส่วนบุคคลประมาณ 40% ส่วนที่เหลือเป็นลิงก์ที่เชื่อมโยงกับการพนันออนไลน์ 30% และลิงก์อันตรายที่หลอกให้เหยื่อดาวน์โหลดแอปพลิเคชันที่มีมัลแวร์เพื่อขโมยข้อมูลสำคัญอีก 30%
นอกจากนี้ Whoscall ได้พัฒนาฟีเจอร์ “ID Security” เพื่อช่วยตรวจสอบความปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคล โดยในปีที่ผ่านมาฟีเจอร์ดังกล่าวกลายเป็นตัวช่วยสำคัญที่ช่วยเพิ่มความระมัดระวังความปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคล โดยผลการวิเคราะห์พบว่าข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้ 41% รั่วไหลไปยังที่ต่าง ๆ เช่น ดาร์กเว็บ และดีพเว็บ ในบรรดาข้อมูลส่วนตัวที่รั่วไหลพบว่า 97% เป็นอีเมล และ 88% เป็นเบอร์โทรศัพท์ ซึ่งอาจมีข้อมูลเช่น วันเดือนปีเกิด ชื่อนามสกุล พาสเวิร์ด รวมถึงข้อมูลอื่น ๆ หลุดร่วมไปด้วย
ขณะเดียวกัน จากรายงานฉบับนี้ที่สะท้อนให้เห็นว่าใน 1 วัน Whoscall ช่วยปกป้องคนไทยจากมิจฉาชีพได้มากกว่า 460,000 ครั้ง ดังนั้นบริษัทจึงยังคงมุ่งมั่นนำเทคโนโลยี AI มาพัฒนาแอปพลิเคชันให้มีประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่อง เพื่อตอบโจทย์ทุกความต้องการของผู้ใช้งานในการป้องกันภัยมิจฉาชีพ เพื่อรับมือกับการแพร่ระบาดของกลโกงออนไลน์ที่เพิ่มขึ้นในทุกรูปแบบ
โดยหลังจากเผยแพร่รายงานประจำปี 2567 บริษัท โกโกลุก ประเทศไทย จะส่งรายงานฉบับนี้ไปยังหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อสนับสนุนมาตรการรักษาความปลอดภัยสาธารณะ และสร้างสรรค์แคมเปญการสื่อสารให้แก่ประชาชนต่อไป
สำหรับ “แอปพลิเคชัน Whoscall” เครื่องมือป้องกันการหลอกลวงทางดิจิทัลส่วนบุคคล ถูกออกแบบมาเพื่อปกป้องผู้ใช้ จากการหลอกลวงในสถานการณ์ต่าง ๆ ตั้งแต่การสื่อสารที่เป็นอันตรายและน่าสงสัย รวมถึงสายโทรเข้า ข้อความ และลิงก์ ด้วยยอดการดาวน์โหลดมากกว่า 100 ล้านครั้งทั่วโลก มีฐานข้อมูลที่ครอบคลุมมากที่สุดในเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ครอบคลุมหมายเลขโทรศัพท์ มากกว่า 2.6 พันล้านเลขหมาย
ทั้งนี้ Whoscall ยังได้รับการยอมรับและความร่วมมือกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ไต้หวัน สำนักงานตำรวจแห่งชาติประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ แห่งชาติ (สกมช.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติมาเลเซีย ศูนย์สืบสวนและประสานงานอาชญากรรมทางไซเบอร์ ของฟิลิปปินส์และรัฐบาลท้องถิ่นในญี่ปุ่น