“ทวี” กำชับ DSI สอบ 3 ปม “ตึก สตง.” ถล่ม! ธุรกิจนอมินี-เหล็กไม่ได้มาตรฐาน-ฮั้วประมูล

รมว.ยุติธรรม กำชับ “ดีเอสไอ” ตรวจสอบเชิงลึก 3 ประเด็นหลัง “ตึก สตง.” แห่งใหม่ ถล่มจากเหตุแผ่นดินไหวในเมียนมา “บริษัทรับเหมาจีน” โดนด้วย


วันนี้ (1 เม.ย.68) พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เปิดเผยถึงกรณีอาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) แห่งใหม่ถล่ม จากเหตุแผ่นดินไหวรุนแรงในประเทศเมียนมา เมื่อวันที่ 28 มีนาคมที่ผ่านมา โดยระบุว่า กระทรวงยุติธรรมได้ดำเนินการตรวจสอบใน 3 ประเด็น ได้แก่

  1. การประกอบธุรกิจของบุคคลต่างด้าวที่ใช้นอมินี รมว.ยุติธรรม กล่าวว่า จากงบการเงินของบริษัทที่มีการเผยแพร่ พบว่ามีการขาดทุนติดต่อกันและไม่มีการชำระภาษี อีกทั้งยังมีการปล่อยเงินกู้จำนวน 2 พันล้านบาทให้กับกรรมการของบริษัท แม้ในเอกสารทางกฎหมายจะระบุว่าเจ้าของเป็นคนไทย 51% และต่างชาติ 49% แต่หากมองในลักษณะมีอำนาจครอบงำ จะเห็นในเรื่องของการบริหาร ต้องตรวจสอบให้รอบคอบ ซึ่งรวมถึงการตรวจสอบสถานที่และบริษัทที่เกี่ยวข้องอีก 10 แห่งว่า มีการกระทำผิดในลักษณะการใช้ธุรกิจของคนต่างด้าวหรือไม่
  2. สินค้าไม่เป็นไปตามมาตรฐานอุตสาหกรรม กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) มีอำนาจในการตรวจสอบ หากพบว่าสินค้าดังกล่าวไม่เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด
  3. การจัดซื้อจัดจ้าง ที่เรียกว่าฮั้วประมูล หากมูลค่าการประมูลเกิน 30 ล้านบาท ดีเอสไอก็มีอำนาจเข้าไปตรวจสอบเพราะเบื้องต้นเห็นว่า ต่ำกว่าราคากลางเพียง 1% เท่านั้น ซึ่งปกติการประมูลที่ไม่มีการแข่งขันควรต่ำกว่า 10-15%

ส่วนของบริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย)ที่มีบริษัทเครือข่ายกว่า 24 บริษัทนั้น พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า ทราบจากการรายงานของอธิบดีดีเอสไอจะมีการประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเรื่องที่ต้องเร่งดำเนินการ คือการตรวจสอบว่าเพราะเหตุใดจึงเกิดเหตุแค่ตึกเดียว ก็จะดูว่ามีการกระทำผิดหรือไม่ ซึ่งมีข้อมูลทางทะเบียนไปตรวจสอบเรื่องการเสียภาษีที่เกี่ยวกับกรมสรรพากร รวมถึงการตรวจสอบในเชิงลึกนำบุคคลที่เกี่ยวข้องมาซักถาม ตนได้กำชับให้ทางดีเอสไอเร่งดำเนินการแล้ว

เมื่อถูกถามถึงการมุ่งเป้าไปที่บริษัท ไชน่า เรลเวย์ฯ หรือไม่ พ.ต.อ.ทวี ตอบว่า นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้กระทรวงยุติธรรมร่วมมือกับกระทรวงพาณิชย์ เพื่อตรวจสอบการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวในประเทศไทยอย่างเข้มงวด โดยเฉพาะในกรณีที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย ซึ่งแม้จะเห็นว่า GDP ของไทยมีการเติบโตน้อย แต่ผลประโยชน์ควรจะกลับมาสู่คนไทยในส่วนของการประกอบธุรกิจที่มีผู้ถือหุ้นไทย 51% ไม่ใช่เพียงแค่การสนับสนุนเงินทุนจากต่างชาติ

Back to top button