“ชัชชาติ” สั่งเร่งค้นหาผู้รอดชีวิต-รื้อซากตึกสตง. ไม่เสียใจถูกแชร์ภาพนั่งเฝ้าภารกิจ

ผู้ว่าฯ ชัชชาติ เผยหลัง 6 โมงเย็นวันนี้ประชุมปรับยุทธศาสตร์ หลังเริ่มใช้เครื่องมือหนักรื้อซากตึก สตง. ถล่ม ควบคู่ค้นหาผู้รอดชีวิต ยอดล่าสุดอยู่ที่ 72 คน ยันไม่หยุดค้นหา พร้อมชี้แจงไม่ได้สร้างภาพ หลังถูกแชร์นั่งเฝ้าภารกิจหน้างานว่อนโซเชียลเมื่อคืน


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (2 เม.ย.68) กรุงเทพมหานคร (กทม.) รายงานยอดผู้ประสบภัย จากตึกสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน หรือ สตง. (จตุจักร) ณ เวลา 8:40 น. สูญหาย 72 ราย เสียชีวิต 15 ราย รอดชีวิต 9 ราย

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการตรวจสอบความปลอดภัยของอาคารในพื้นที่ กทม. หลังเหตุแผ่นดินไหวในประเทศเมียนมาเมื่อวันที่ 28 มี.ค.ที่ผ่านมา โดยระบุว่า อาคารส่วนใหญ่ได้รับการตรวจสอบแล้ว แต่ยังมีอาคาร 2 แห่งที่ กทม. สั่งห้ามเข้าใช้ และอีก 3 อาคาร ที่กรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย สั่งห้ามเข้าใช้งาน

สำหรับสถานการณ์การกู้ภัยที่อาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) แห่งใหม่ ที่ถล่มลงมาหลังเกิดแผ่นไหวในประเทศเมียนมา เมื่อวันที่ 28 มี.ค. ที่ผ่านมา ขณะนี้เข้าสู่วันที่ 5 ของปฏิบัติการ ซึ่งเกิน 72 ชั่วโมงช่วงวิกฤติแล้ว แต่ยังคงขยายเวลาค้นหาและกู้ภัยต่อไปอย่างน้อยอีก 2 วัน โดยมีการนำเครื่องมือหนักเข้ามาใช้มากขึ้น

rescue คือการช่วยชีวิต และ recovery คือเริ่มรื้อถอน ตอนแรกเป็น rescue อย่างเดียวไม่มีการรื้อถอน นาทีนั้นเข้าไปลุยเลยมีช่องโหว่อะไร ตอนนั้นเราก็ลากคนออกมาได้หลายคน แต่เมื่อไม่มีทางเข้าแล้วก็จะค่อย ๆ รื้อ และรื้อใหญ่ขึ้น ดังนั้นจะแยกออกไม่ชัดหรอกว่าอันไหนจะค้นหาผู้รอดชีวิตกับรื้อถอน มันเป็นสิ่งที่ต้องดำเนินการคู่กันไป แต่เราเปลี่ยนเครื่องมือที่หนักขึ้น ซึ่งอาจมีผลกระทบกับคนที่ติดอยู่บ้าง สมมุติยังรอดชีวิต แต่ทำให้งานเราเร็วขึ้น”

“มันไม่ใช่จะบอกว่าเราเลิกค้นหา จะค้นหาไปตลอด จะนำเครื่องมือหนักเข้ามา ต้องมีคนคอยมอนิเตอร์ว่ามีสัญญาณชีพตรงไหน ถ้ามีสัญญาณชีพก็ต้องหยุดและให้คนเข้า คงเป็นกระบวนการที่ผู้เชี่ยวชาญทุกส่วนทั้งไทยและต่างประเทศร่วมกัน เมื่อวานได้คุยกับผู้เชี่ยวชายต่างประเทศทำงานมา 40 ปี ชีวิตเขาอยู่กับการช่วยชีวิตคน เขาบอกว่าเคสนี้เป็นเคสที่หนักที่สุดที่เขาเคยเจอ ซับซ้อน เพราะเป็นตึกสูงที่ลงมาพร้อมกันและเป็นคอนกรีต ทำให้มีเศษซากส่วนจำนวนมาก” ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าว

โดยเมื่อคืนที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่สามารถเคลื่อนย้ายคอนกรีตออกไปแล้วกว่า 100 ตัน และเปิดช่องทางใหม่เพื่อให้ทีมกู้ภัยเข้าถึงจุดที่อาจมีผู้รอดชีวิต ขณะเดียวกันยังมีผู้เสียชีวิตที่ติดค้างภายในซากอาคารอีกกว่า 10 ราย ซึ่งยังไม่สามารถนำออกมาได้ทุกขั้นตอนต้องดำเนินการด้วยความละเอียดรอบคอบ

นายชัชชาติ กล่าวอีกว่า แม้จะมีเครนขนาด 600 ตัน แต่เมื่อต้องยกชิ้นส่วนอาคารขนาดใหญ่ จำเป็นต้องตัดแยกออกทีละส่วนตามหลักวิศวกรรม เพื่อป้องกันการพังถล่มซ้ำและเพิ่มความปลอดภัยให้เจ้าหน้าที่

สำหรับข้อวิจารณ์เรื่องความล่าช้าในการดำเนินการ ผู้ว่าฯ กทม. ระบุว่า ทีมกู้ภัยทุกฝ่ายทำงานร่วมกันอย่างเต็มที่ และมีการปรับแผนปฏิบัติการอยู่ตลอดเวลา โดยจะมีการประชุมเพื่อปรับยุทธศาสตร์อีกครั้งในเวลา 18.00 น. วันนี้

“การยกคอนกรีต 1 ชิ้น มันอาจจะทำให้เกิดการพังทลาย เกิดอันตรายต่อผู้ที่อยู่หน้างานได้ เครนถึงแม้จะมีน้ำหนัก 600 ตัน พอยืนแขนออกไปสามารถยกน้ำหนักได้ 20 ตัน ดังนั้นชิ้นใหญ่ต้องสอยย่อยตัดเหล็กทีละชิ้นไปตามหลักวิชาการ ทุกคนไม่สามารถทำงานได้พร้อมกันหมด ต้องเป็นไปตามความต้องการหน้างาน แต่คนที่อยู่หน้างานจริงไม่มีใครมีปัญหา”

“…ไม่ใช่ใครอยากจะยกเหล็กยกอะไรก็ยก ไปยกที่บ้านยกได้ แต่จะมียกที่งาน ที่มีคนเกี่ยวข้อง มีความละเอียดอ่อนผมว่าก็ต้องฟัง และเราไม่ได้ทำคนเดียวมีทีมงานที่เชี่ยวชาญต่าง ๆ … ทุกคนก็ไม่ได้บ่นอะไร ทุกคนรู้ว่ามันคือการทำงานที่เหมือนกับว่าต้องเล่นเป็นทีมเดียวกัน แต่ไม่สามารถแอคชั่นพร้อมกันได้ ก็ขอบคุณที่อาจจะมีคำติมา เราก็รับฟังและจะนำไปปรับให้ดีขึ้น แต่ขอให้เข้าใจคนหน้างานด้วย สถานการณ์มันละเอียดอ่อนนะ และคาดว่ายังมีผู้รอดชีวิตอยู่ด้านใน” ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าว

ชี้แจงภาพนั่งกลางซากอาคาร ย้ำไม่ได้สร้างภาพ

นายชัชชาติ ยังได้ชี้แจงกรณีมีภาพถ่ายของตนที่นั่งอยู่ในพื้นที่ซากอาคารถล่ม โดยยืนยันว่าไม่ได้สร้างภาพและไม่เสียกำลังใจจากคำวิจารณ์

“ตอนนั้นอาจจะหลับด้วยซ้ำ ผมไปสังเกตหน้างาน ช่วยประสานกับทีมที่มาจากต่างประเทศ ตรงนั้นลมเย็น ไม่เสียกำลังใจ เราก็นั่งนึกถึงว่าถ้าคนที่อยู่ถ้ายังมีชีวิตรอด ก็ขอให้อดทนอีกหน่อย”

มาตรการเยียวยาและการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบ

ด้านมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ นางสาวทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าฯ กทม. เปิดเผยว่า ขณะนี้ กทม. ได้จัดศูนย์พักพิงสำหรับประชาชนที่ไม่สามารถกลับเข้าไปในอาคารที่ถูกสั่งห้ามใช้งาน โดยมีผู้อยู่อาศัยในศูนย์ฯ จำนวน 338 ครอบครัว และยังมีเตียงว่างอีก 29 เตียงสำหรับญาติผู้ประสบเหตุที่ต้องการพักคอย

สำหรับอาคารที่ได้รับความเสียหายและถูกประกาศเป็น “อาคารสีแดง” หากเสียหายทั้งหมด จะได้รับเงินเยียวยาสูงสุด 49,500 บาท ส่วนอาคารที่เสียหายบางส่วนจะต้องมีการประเมินโดยวิศวกร และสำนักงานเขตรับรอง เพื่อกำหนดอัตราเยียวยา นอกจากนี้ ยังมีมาตรการช่วยเหลือเพิ่มเติมสำหรับผู้ได้รับบาดเจ็บ โดยผู้ป่วยใน (IPD) จะได้รับการดูแลภายใต้พระบรมราชานุเคราะห์ ส่วนผู้ป่วยนอก (OPD) จะได้รับค่าใช้จ่ายเบิกคืน พร้อมเงินปลอบขวัญ รวมทั้งอุปกรณ์ประกอบอาชีพที่สามารถยืนยันได้ว่าเสียหายจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจะมีค่าชดเชยให้ด้วย ส่วนกรณีความเสียหาย ที่ไม่ใช่อาคารสีแดง ขอให้ประชาชนเก็บหลักฐาน ถ่ายรูปไว้  และสามารถไปจดแจ้งได้ที่สำนักงานเขตทุกแห่งใน กทม.

มาตรการป้องกันภัยแผ่นดินไหวในอนาคต

สำหรับกรณีงบประมาณการติดตั้งเซ็นเซอร์ตรวจจับแรงสั่นสะเทือนแผ่นดินไหวในโรงพยาบาล 8 แห่ง จำนวน 9 ล้านบาท ซึ่งก่อนหน้านี้ไม่ได้รับการอนุมัติจากสภา กทม. นายชัชชาติ ระบุว่า ที่ผ่านมาอาจยังไม่ได้ตระหนักถึงความสำคัญของเรื่องนี้ เนื่องจากไม่เคยมีเหตุแผ่นดินไหวรุนแรงมาก่อน อย่างไรก็ตาม กทม. เตรียมเสนอของบประมาณใหม่ และอาจมีการขยายแผนเพิ่มเติม เพื่อให้สามารถใช้ข้อมูลแรงสั่นสะเทือนในการตัดสินใจมาตรการอพยพและรับมือภัยพิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ

Back to top button