
ส.อ.ท. ชี้เหล็กไทยวิกฤต! แข่งขันราคาจีน-มาตรฐานต่ำเกณฑ์
ส.อ.ท. ชี้อุตสาหกรรมเหล็กไทยวิกฤต! แข่งขันราคากับจีน มาตรฐานต่ำกระทบความปลอดภัยโครงสร้างพื้นฐาน พร้อมเสนอแนวทางพัฒนา "Green Steel" และสนับสนุนสินค้า Made in Thailand
นายบัณฑูรย์ จุ้ยเจริญ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ได้เปิดเผยสถานการณ์อุตสาหกรรมเหล็กไทยในปัจจุบันและความท้าทายต่างๆ ที่อุตสาหกรรมต้องเผชิญ ดังนี้
1.สถานการณ์ของอุตสาหกรรมเหล็กไทยในปัจจุบัน
เหล็กเป็นวัสดุพื้นฐานของการพัฒนาประเทศ ทั้งในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และ การใช้งานในอุตสาหกรรมต่อเนื่องต่างๆ ปริมาณการใช้เหล็กจึงสอดคล้องไปกับอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศซึ่งอยู่ในอัตราค่อนข้างต่ำมาหลายปี ปริมาณความต้องการการใช้เหล็กของประเทศไทยในปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 16 ล้านตันเศษ ซึ่งต่ำกว่าระดับ 18-19 ล้านตันต่อปีในช่วงก่อนเกิดโควิด ตัวอย่างเช่นในปี 2567 ความต้องการใช้เหล็กของประเทศไทยอยู่ที่ประมาณ 16.3 ล้านตัน ผลิตในประเทศ 6.3 ล้านตัน ส่งออก 1.4 ล้านตัน นำเข้า 11.4 ล้านตัน
โดยมีอัตราการใช้กำลังการผลิตต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 28% โดยการนำเข้าเป็นการนำเข้าจากจีน 5 ล้านตัน คิดเป็น 44% ของการนำเข้าทั้งหมด คาดการณ์ ความต้องการเหล็กในปี 2568 ของประเทศไทยน่าจะอยู่ในช่วงประมาณ 16.0-16.3 ล้านตัน ความต้องการใช้เหล็กในภาคก่อสร้างโดยหลักจะเป็นโครงการของภาครัฐ เนื่องจากโครงการภาคเอกชนยังไม่ฟื้นตัว ในขณะที่ภาคการผลิต อุตสาหกรรมรถยนต์ก็จะยังไม่ฟื้นตัวจากปัญหาหนี้ภาคครัวเรือน
สำหรับความท้าทายประการสำคัญคือปัญหากำลังการผลิตส่วนเกินของจีน ในปัจจุบันกำลังการผลิตเหล็กของประเทศจีนทั้งหมดประมาณ 1100 ล้านตันต่อปี ในขณะที่ปริมาณความต้องการใช้ในประเทศจีน ประมาณ 900 ล้านตันต่อปี จึงมีกำลังการผลิตส่วนเกินประมาณ 200 ล้านตันต่อปี ปริมาณการส่งออกสู่ตลาดโลกในปี 2567 สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ที่กว่า 110 ล้านตัน
เนื่องจากสถานการณ์ดีมานด์ของประเทศจีนยังไม่ดีขึ้นและประเทศจีนยังคงรักษาอัตราการผลิตในระดับสูงเกือบเต็มกำลังไว้เพื่อรักษาการจ้างงานในประเทศและรักษาความได้เปรียบเชิงขนาด และมุ่งส่งออกในระดับราคาที่ต่ำ ดังนั้นการไหลบ่าของผลิตภัณฑ์เหล็กจากประเทศจีนในลักษณะทุ่มตลาดก็จะยังคงเป็นประเด็นความท้าทายสำหรับอุตสาหกรรมเหล็กของประเทศที่เป็นเป้าหมายในการส่งออกของจีน เช่น อาเซียนรวมทั้งประเทศไทย ต่อไป
ความท้าทายประการต่อมาคือนโยบายการค้าของประธานาธิบดีทรัมป์ที่ประกาศชัดเจนที่จะการปกป้องอุตสาหกรรมเหล็กของสหรัฐ โดยการเพิ่มภาษีนำเข้าเหล็กจากทุกประเทศเป็น 25% ซึ่งเป็นอัตราเดิมที่ใช้กับประเทศไทยตั้งแต่สมัยทรัมป์ 1.0 แต่มีการยกเว้นให้กับบางประเทศเช่นแคนาดา เม็กซิโก สหภาพยุโรป เกาหลี ญี่ปุ่น เป็นต้น แต่ทรัมป์ 2.0 นี้ก็ได้มีการยกเลิกการยกเว้นดังกล่าวทั้งหมด และอาจประกาศมาตรการทางภาษีออกมาเพิ่มเติมอีก ดังนั้นหากมีสินค้าจากแหล่งต่างๆที่ไม่สามารถส่งเข้าไปยังสหรัฐได้ ก็อาจถูกระบายเข้ามาในภูมิภาคอาเซียนรวมทั้งไทย ซึ่งจะทำให้เกิดการแข่งขันทั้งด้านราคาและปริมาณ ซ้ำเติมสถานการณ์ที่เป็นอยู่
เหตุการณ์แผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 28 มีนาคม ที่ผ่านมา เป็นความท้าทายต่อความเชื่อเดิมของคนส่วนใหญ่ที่ว่าประเทศของเรามีความปลอดภัยจากแผ่นดินไหว จึงต้องพิจารณาว่ามีสิ่งใดที่อุตสาหกรรมเหล็กไทยต้องปรับปรุงเปลี่ยนแปลงจากนี้ไปหรือไม่
ทั้งนี้ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมเหล็กในประเทศ นอกจากจะต้องแข่งขันกับเหล็กนำเข้ามากขึ้นเรื่อยๆ ยังต้องแข่งกับผู้ผลิตที่ย้ายฐานการผลิตมายังประเทศไทย ตัวอย่างกรณีของเหล็กเส้น ที่เป็นเตาหลอมชนิด Induction furnace (IF) ย้ายฐานการผลิตมายังประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อโรงงานเหล็กประเภท IF ในประเทศจีนถูกสั่งปิดกิจการทั้งหมดในปี 2560 เพื่อยุติปัญหาการควบคุมคุณภาพเหล็กและปัญหาการสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ปัจจุบันจึงมีโรงงาน IF ที่ได้ประกอบกิจการอยู่ในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก ซึ่งส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมทั้งในแง่กำลังการผลิตส่วนเกิน การจ้างแรงงานต่างด้าว การแข่งขันทางด้านราคาอย่างรุนแรง
ทั้งนี้เมื่อกระทรวงอุตสาหกรรมเข้มงวดกับการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม ความปลอดภัย และ สินค้าด้อยคุณภาพ จึงทำให้มีผู้ประกอบการจำนวนหนึ่งถูกดำเนินการทางกฏหมายซึ่งปรากฏเป็นข่าวจากสื่อมวลชนเป็นระยะ ซึ่งเรื่องนี้กลุ่มอุตสาหกรรมเหล็กขอขอบคุณและให้กำลังใจท่าน รมต.เอกนัฏ ผู้บริหารและทีมงานกระทรวงอุตสาหกรรมทุกท่านที่ได้ทุ่มเททำงานเพื่อแก้ไขปัญหาความไม่ถูกต้องต่างๆอย่างเข้มแข็งเป็นที่ประจักษ์แก่สาธารณชนอยู่ในขณะนี้
- ประเด็นหลักที่กลุ่มอุตสาหกรรมเหล็กให้ความสำคัญและได้นำเสนอหรือจะพิจารณานำเสนอต่อสาธารณะและภาครัฐในโอกาสต่อไป ได้แก่
1) คุณภาพและมาตรฐานของวัสดุก่อสร้าง (เหล็ก)
เหล็กเป็นสินค้าที่มีความสำคัญต่อความปลอดภัยของชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน การรักษามาตรฐานคุณภาพของเหล็กเป็นปัจจัยสำคัญที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยในการก่อสร้างอาคารและโครงสร้างต่างๆ จำเป็นต้องมีการควบคุมการผลิตเหล็กให้เป็นไปตามมาตรฐาน มีมาตรการกำกับดูแลและให้ความสำคัญในการรักษามาตรฐานคุณภาพสินค้า ให้ข้อมูลความรู้กับผู้บริโภคให้สามารถเลือกใช้สินค้าที่ได้มาตรฐานเพื่อความปลอดภัยมากกว่าการเลือกสินค้าที่ราคาถูกกว่า สำหรับกรณีแผ่นดินไหวถือเป็นกรณีศึกษาที่ต้องนำมาพิจารณาทบทวนว่ามีสิ่งใดในมาตรฐานอุตสาหกรรมเหล็กที่ใช้ในการก่อสร้างที่จะต้องปรับปรุงให้ชัดเจนขึ้นหรือไม่
นอกจากนี้ สินค้านำเข้าบางประเภท เช่น โครงสร้างเหล็ก Prefabricated steel ที่มีการนำเข้าเพิ่มขึ้นอย่างมากถึงประมาณ 7 แสนตันในปี 2567 วัสดุที่นำมาใช้โดยเฉพาะอย่างยิ่งเหล็กจะต้องผ่านมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม แต่ปัจจุบันวัสดุเหล็กดังกล่าวที่นำเข้ามาใช้ ยังไม่มี มอก. กำหนดให้มีการตรวจสอบคุณภาพแต่อย่างใด
2) การแข่งขันที่เป็นธรรม
การแข่งขันกับสินค้านำเข้า จำเป็นต้องใช้มาตรการทางการค้าที่เหมาะสม รวดเร็ว เพื่อให้ผู้ประกอบการไทยสามารถแข่งขันกับสินค้านำเข้าอย่างเป็นธรรม การแข่งขันภายในประเทศ ต้องมีการบังคับใช้กฏหมายเพื่อให้ผู้ประกอบการทุกรายดำเนินธุรกิจด้วยการกำกับดูแลกิจการให้เป็นไปตามกฏหมาย ทั้งมาตรฐานสินค้า การจ้างแรงงานไทย สวัสดิการแรงงาน การจัดการสิ่งแวดล้อมและกากอุตสาหกรรม การเสียภาษีของทั้งวัตถุดิบและสินค้าอย่างถูกต้องครบถ้วน การรายงานการประกอบกิจการที่ถูกต้องต่อกรมโรงงานอุตสาหกรรม รวมถึงการตรวจสอบการดำเนินงานอย่างโปร่งใส ตรงตามการขออนุญาตประกอบกิจการ
3) ความโปร่งใสและความสามารถในการตรวจสอบสินค้าเหล็ก
เพื่อเพิ่มความมั่นใจให้กับผู้บริโภคและลดความเสี่ยงจากการใช้วัสดุก่อสร้างที่ไม่ได้มาตรฐาน จำเป็นต้องมีมาตรการที่สร้างความโปร่งใสในการตรวจสอบคุณภาพเหล็กตั้งแต่การผลิตจนถึงการใช้งานจริง เช่น การใช้เครื่องหมาย มอก. และการตรวจสอบย้อนกลับได้ของเหล็กเส้นในตลาด รวมถึงการส่งเสริมการให้ความรู้แก่ผู้บริโภคในวิธีการเลือกใช้เหล็กที่มีคุณภาพ
4) การสนับสนุนการพัฒนา “Green Steel” หรือเหล็กที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
การผลักดันให้มีการผลิตเหล็กที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green Steel) เป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการเพิ่มมูลค่าและสร้างความยั่งยืนให้กับอุตสาหกรรมเหล็กไทย โดยการใช้เทคโนโลยีใหม่ในการรีไซเคิลเหล็กและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในการผลิตเหล็ก จะช่วยให้สามารถแข่งขันได้ในระยะยาว รวมถึงการเปิดโอกาสให้อุตสาหกรรมฯ มีการเข้าถึงพลังงานสะอาดในต้นทุนที่แข่งขันได้
5) สนับสนุนการใช้สินค้า Made in Thailand-MiT
ท่ามกลางสภาวการณ์ปกป้องทางการค้าที่เพิ่มขึ้น ขอเสนอให้ภาครัฐมีนโยบายในการกำหนดเป้าหมายการใช้สินค้า MiT ในโครงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐอย่างน้อย 50% จากงบประมาณทั้งหมด เพื่อให้เกิดการหมุนวนทางเศรษฐกิจภายในประเทศ รวมถึงควรจะขยายขอบเขตของมาตรการไปสู่โครงการ PPP ซึ่งมีมูลค่าสูงกว่า 1 ล้านล้านบาทต่อปี