กฟผ. คาดเดินเครื่องผลิตไฟฟ้า “แม่เมาะ” เต็มกำลังพ.ค.นี้ หลังเซ็นสัญญา “เหมาขุด-ขนถ่านหิน”

กฟผ. ลงนามสัญญาเหมาขุด-ขนดินถ่านหินที่เหมือง “แม่เมาะ” เรียบร้อยแล้ว เร่งรัดปริมาณถ่านหินเพื่อผลิตไฟฟ้าต่อเนื่อง คาดเดินเครื่องเต็มกำลังเดือนพฤษภาคมนี้


นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า กฟผ. ได้ลงนามสัญญาจ้างขุด-ขนดินและถ่านหินที่เหมืองแม่เมาะ สัญญาที่ 8/1 กับบริษัท สหกลอิควิปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ SQ เมื่อวันที่ 27 มี.ค.68 เรียบร้อยแล้ว จากนั้น กฟผ. ได้เร่งรัดดำเนินการตามขั้นตอนต่าง ๆ ส่งมอบพื้นที่ให้บริษัทผู้รับจ้างและเริ่มดำเนินงานขุดคัดแยกและขนถ่านลิกไนต์ทันที ตั้งแต่วันที่ 29 มี.ค. ที่ผ่านมา

นายเทพรัตน์ กล่าวต่อว่า งานจ้างเหมาขุด-ขนดินและถ่านหินที่เหมืองแม่เมาะ สัญญาที่ 8/1 ต้องดำเนินการโดยเร่งด่วน เนื่องจากมีความล่าช้าจากแผนที่กำหนดไว้มาก พร้อมย้ำว่า กฟผ. มีความจำเป็นที่ต้องเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินของโรงไฟฟ้าแม่เมาะเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่วิกฤติพลังงานปี 2565 เพราะถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงที่มีต้นทุนต่ำ ช่วยลดการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ที่มีราคาแพงและมีความเสี่ยงต่อความผันผวนของราคา เพื่อพยุงราคาค่าไฟฟ้าของประเทศไม่ให้สูงเกินไป รวมถึง กฟผ. ยังต้องแบกรับค่า Ft ไว้จนถึงวันนี้ เป็นเหตุให้ กฟผ. ต้องนำถ่านหินภายใต้สัญญาเดิม (สัญญา 8 และ 9) มาใช้ก่อนกำหนด จนปริมาณถ่านหินครบก่อนสิ้นสุดสัญญา

“กฟผ. ในฐานะหน่วยงานที่ต้องบริหารจัดการเชื้อเพลิงถ่านหินเพื่อไม่ให้การผลิตไฟฟ้าต้องหยุดชะงัก จึงจำเป็นต้องเร่งรัดการจ้างเหมาขุด-ขนดินและถ่านหินที่เหมืองแม่เมาะ สัญญาที่ 8/1 เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดและมีการแข่งขันอย่างเป็นธรรม กฟผ. จึงเลือกใช้วิธีการจ้างเหมาโดยวิธีพิเศษแบบหลายราย ไม่ใช่วิธีพิเศษแบบเฉพาะเจาะจงรายเดียวอย่างที่หลายคนเข้าใจ ผ่านขั้นตอนการพิจารณาโดยกรรมการคณะต่าง ๆ อย่างถูกต้อง เป็นไปตามระเบียบทุกขั้นตอน” นายเทพรัตน์ กล่าว

นายเทพรัตน์ ยังย้ำว่า กฟผ. มีความจำเป็นต้องบริหารถ่านหินให้มีปริมาณสำรองที่เพียงพอ ทำให้โรงไฟฟ้าแม่เมาะไม่สามารถเดินเครื่องได้เต็มกำลังการผลิตในช่วงเดือนเมษายนนี้ และจะสามารถกลับมาเดินเครื่องเต็มกำลังการผลิตได้ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2568 เป็นต้นไป ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนเชื่อมั่นว่า กฟผ. สามารถบริหารจัดการเชื้อเพลิงถ่านหินที่มีอยู่เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยมิให้เกิดผลกระทบต่อความมั่นคงด้านการผลิตไฟฟ้าและต้นทุนราคาพลังงานของประเทศอย่างเต็มความสามารถ

Back to top button