
DSI ขอเวลา 2 เดือน สางปมนอมินี “ตึก สตง.” หลังพบโยงคนไทย
กรมสอบสวนคดีพิเศษ คาดใช้เวลา 2 เดือน สะสางคดีพิเศษ ปมนอมินี ตึกสตง. เบาะแสเชื่อมโยงการถือหุ้นจากคนไทยในบริษัท ไชน่า เรลเวย์ฯ
วันนี้ (4 เม.ย.68) พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ (DSI) เปิดเผยถึงกรณีอาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) แห่งใหม่ ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างถล่ม หลังเกิดแผ่นดินไหวในประเทศเมียนมา เมื่อวันที่ 28 มี.ค. ที่ผ่านมาว่า ดีเอสไอรับสอบสวนในความผิดเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวเป็นคดีพิเศษ พร้อมพิจารณาความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ หรือฮั้วประมูล ควบคู่กันไป
โดยความผิดเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวนั้น ร.ต.อ.สุรวุฒิ รังไสย์ รองอธิบดีดีเอสไอ เป็นหัวหน้าคณะสอบสวน จะพิจารณาว่าการถือหุ้นของคนไทยเป็นการอำพราง (นอมินี) หรือไม่ เบื้องต้นได้ไปตรวจสอบที่บ้านพักของนายประจวบ ศิริเขตร ผู้ถือหุ้น 10.2% ในบริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด ที่ จ.ร้อยเอ็ด แต่ไม่พบตัว
จากการสอบถามภรรยาแล้วให้การว่า นายประจวบมีอาชีพก่อสร้าง รายได้เดือนละหมื่นกว่าบาท ซึ่งไม่สอดคล้องกับการเป็นผู้ถือหุ้นในนิติบุคคลหลายแห่ง จึงมีแนวโน้มที่จะเป็นการถือหุ้นอำพราง (นอมินี) ส่วนคนไทยที่ถือหุ้นรายอื่นกำลังติดตามอยู่
นอกจากนี้ บริษัท ไชน่า เรลเวย์ฯ ยังร่วมทุนเป็นกิจการร่วมค้า กับนิติบุคคลหลายแห่ง ซึ่งคณะกรรมการจะเน้นไปที่กรณีร่วมทุนกับบริษัทอิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (ITD) เป็น กิจการร่วมค้า ไอทีดี-ซีอาร์อีซี (ITD-CREC) ที่ชนะประมูลก่อสร้างอาคาร สตง. ซึ่งอยู่ระหว่างรวบรวมพยานหลักฐาน
นางสาวกนกไรวินท์ บุรินทร์นันท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการตรวจสอบบัญชี กล่าวเสริมว่า จากการติดตามข้อมูลของผู้ถือหุ้นทั้งหมดพบว่าเป็นผู้ถือหุ้นและร่วมก่อตั้งบริษัท ไชน่า เรลเวย์ฯ มาตั้งแต่แรก โดยนายมานัส ศรีอนันท์ เดิมถือหุ้น 3.09 แสนหุ้น ก่อนที่จะโอนหุ้นไปให้นายโสภณ มีชัย จนตัวเองเหลือเพียง 3 หุ้น ซึ่งกำลังติดตามว่ามีการซื้อขายหุ้นจริงหรือไม่ นอกจากนี้ยังทราบมาว่าผู้ถือหุ้นทั้ง 3 ราย ไม่เคยประกอบอาชีพรับเหมาก่อสร้างมาก่อนเลย ซึ่งกำลังตรวจสอบเอกสารเพิ่มเติม
ขณะที่ ร.ต.อ.สุรวุฒิ กล่าวว่า ดีเอสไอได้รับโจทย์จากรัฐบาลให้ตรวจสอบสาเหตุที่แท้จริง ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่า บริษัท ไชน่า เรลเวย์ฯ ได้ร่วมทุนและสามารถประมูลงานได้ 29 โครงการ มูลค่ารวม 2.2 หมื่นล้านบาท โดย 1 ใน 29 โครงการ คือโครงการรถไฟความเร็วสูง คาดว่าจะใช้เวลาในการสอบสวนไม่เกิน 2 เดือน จะสามารถเชื่อมต่อโครงการได้ทั้งหมด
“เราต้องค้นหาความจริงให้ปรากฎว่า ทำไมเขาไม่ไปประมูลงานเอง ทำไมเขาต้องสร้างนอมินีอำพรางตัวเองแล้วมาร่วมทุนกับคนที่มีชื่อเสียงเพื่อให้ภาครัฐเชื่อถือ” ร.ต.อ.สุรวุฒิ ระบุ
นอกจากนี้ยังต้องค้นหาความจริงว่า ราคากลางของอาคาร สตง. อยู่ที่ 2.5 พันล้านบาท ทำไมบริษัทฯ จึงยอมฟันราคาลงมาเหลือ 2.1 พันล้านบาท ซึ่งทำให้ภาครัฐหลงเข้าใจผิด
พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กำชับคณะกรรมการสอบสวนคดีพิเศษ กรณีอาคาร สตง.ถล่ม ให้แสวงหาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐาน เพื่อสร้างความยุติธรรมให้กับผู้เกี่ยวข้องที่ได้รับผลกระทบ โดยบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องทุกฉบับอย่างเคร่งครัดและประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้หลักฐานเกิดความมั่นคงแน่นหนามากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้พบปัญหาหลายเรื่อง เช่น กระทรวงพาณิชย์เป็นหน่วยงานดูแลเรื่องการจดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคล และการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว แต่ไม่ได้ดูแลเรื่องการจดทะเบียนจัดตั้งกิจการร่วมค้า (Joint Venture) เพราะไม่ได้เป็นไปตามกฎหมายแพ่ง หน่วยงานที่รับผิดชอบกลับเป็นกรมสรรพากรที่ดูแลเรื่องการเสียภาษี ไม่มีคนที่จะมาดูแลเรื่องการจดทะเบียน ซึ่งคงต้องดำเนินการแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้ และข้อมูลการสอบสวนเบื้องต้นพบว่าบริษัทฯ ที่รับดำเนินการก่อสร้างอาคารหลังนี้ได้ไปร่วมทุนกับ 11 บริษัท และประมูลรับงานได้ 29 โครงการ