
ไทย เปิดความสำเร็จ! BIMSTEC รับรองเอกสาร 6 ฉบับ ขับเคลื่อน “เศรษฐกิจ-ความมั่นคง”
นายกฯ “แพทองธาร” เผยผลสำเร็จ ประชุม BIMSTEC ลงนามรับรองเอกสาร 6 ฉบับ จับมือขับเคลื่อนเศรษฐกิจและความมั่นคงของมนุษย์
วันนี้ (4 เม.ย.68) นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมผู้นำบิมสเทค (BIMSTEC) ครั้งที่ 6 ซึ่งไทยเป็นเจ้าภาพ ณ โรงแรมแชงกรี-ลา
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า แนวคิดหลักภายใต้การดำรงตำแหน่งประธานบิมสเทคของไทย คือ “บิมสเทคที่มั่งคั่ง ยั่งยืน ฟื้นคืน และเปิดกว้าง” โดยในสถานการณ์ระหว่างประเทศและความท้าทายในภูมิภาค บิมสเทคจะเป็นกลไกสำคัญในการเสริมสร้างความร่วมมือและการดำเนินการร่วมกัน โดยเฉพาะการเตรียมความพร้อมและฟื้นฟูประเทศที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติธรรมชาติ ผ่านกรอบความร่วมมือที่มีอยู่ รวมถึงการจัดตั้งกลไกที่เข้มแข็งขึ้นจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นล่าสุด
นางสาวแพทองธาร กล่าวอีกว่า ผู้นำรัฐสมาชิกบิมสเทค 7 ประเทศ ในแถบอ่าวเบงกอล ได้แก่ ไทย, อินเดีย, บังกลาเทศ, ศรีลังกา, เนปาล, เมียนมา และภูฏาน ได้รับรองเอกสารผลลัพธ์สำคัญ 6 ฉบับ ได้แก่
- วิสัยทัศน์กรุงเทพฯ 2030 วิสัยทัศน์แรกของบิมสเทคที่กำหนดแผนยุทธศาสตร์เพื่อสร้าง “PRO BIMSTEC” ให้สำเร็จภายในปี 2573 ซึ่งจะเสริมสร้างการปฏิสัมพันธ์กับองค์กรระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศอย่างแข็งขัน และเน้นการรวมตัวกันทางเศรษฐกิจ ความเชื่อมโยง และความมั่นคงของมนุษย์
- ปฏิญญาการประชุมผู้นำบิมสเทค ครั้งที่ 6 เน้นย้ำเจตนารมณ์ของประเทศสมาชิกในการขับเคลื่อนบิมสเทคเพื่อบรรลุวิสัยทัศน์กรุงเทพฯ 2030
- กฎระเบียบสำหรับกลไกการดำเนินงานภายใต้กรอบบิมสเทค ทำให้บิมสเทคมีกรอบความร่วมมือที่ชัดเจนและมีกฎระเบียบที่เพิ่มประสิทธิภาพและความต่อเนื่องในการดำเนินงาน
- รายงานของคณะผู้ทรงคุณวุฒิ เสนอแนวทางทิศทางของบิมสเทคในอนาคต ซึ่งสอดคล้องกับวิสัยทัศน์กรุงเทพฯ 2030
- การลงนามความตกลงความร่วมมือด้านการขนส่งทางทะเล เสริมสร้างความเชื่อมโยงทางทะเลระหว่างเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พัฒนาประสิทธิภาพโลจิสติกส์ ลดต้นทุนการค้า และอำนวยความสะดวกในการเคลื่อนย้ายสินค้าและประชาชน
- แถลงการณ์ร่วมของผู้นำบิมสเทค แสดงความเสียใจและความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันจากแผ่นดินไหวในเมียนมา พร้อมทั้งสะท้อนถึงความร่วมมือที่แน่นแฟ้นในการบริหารจัดการภัยพิบัติและเสริมสร้างกลไกตอบสนองต่อภัยพิบัติธรรมชาติ
นางสาวแพทองธาร กล่าวเสริมว่า กรอบแนวคิด “PRO BIMSTEC” จะช่วยให้บิมสเทคมีปฏิสัมพันธ์กับองค์กรระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศอย่างแข็งขันมากขึ้น โดยจะทำให้ประชาคมโลกได้ยินเสียงของเราในประเด็นสำคัญ เช่น การค้า ความเชื่อมโยง และความมั่นคงของมนุษย์
ผลลัพธ์จากการประชุมครั้งนี้จะนำไปสู่ประโยชน์ที่จับต้องได้สำหรับประชาชนไทย เช่น การลดต้นทุนค่าขนส่งสินค้าและเพิ่มประสิทธิภาพห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งจะทำให้สินค้าไทยแข่งขันได้ดีขึ้นและขยายโอกาสทางการตลาดและการลงทุน รวมถึงการแลกเปลี่ยนระหว่างประชาชนที่จะกระตุ้นภาคการท่องเที่ยวและสร้างโอกาสการจ้างงานใหม่
สุดท้ายนี้ นายกรัฐมนตรีขอแสดงความยินดีกับประเทศสมาชิกบิมสเทคทุกประเทศต่อความสำเร็จของการประชุมผู้นำในวันนี้ และรอคอยด้วยความมุ่งหวังที่จะได้เห็นความสำเร็จภายใต้การนำของบังกลาเทศในอนาคต