
ปลัดดีอี มั่นใจร่าง พ.ร.ก. “ไซเบอร์-ธุรกรรมดิจิทัล” ช่วยคุ้มครองประชาชนจากภัยออนไลน์
“วิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ” มั่นใจร่าง พ.ร.ก. “ไซเบอร์-ธุรกรรมดิจิทัล” จะช่วยคุ้มครองประชาชนจากภัยออนไลน์ พร้อมเยี่ยวยาผู้เสียหายเร็วขึ้น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (9 เม.ย.68) ศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้ให้สัมภาษณ์ในรายการ “เจาะลึกทั่วไทย อินไซด์ไทยแลนด์” โดยเปิดเผยถึงความคืบหน้าในการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางไซเบอร์ รวมถึงการกำกับดูแลธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติร่างพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ที่เกี่ยวข้องจำนวน 2 ฉบับ เมื่อวันที่ 8 เม.ย.ที่ผ่านมา ได้แก่ ร่างพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. และร่าง พ.ร.ก.การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล (ฉบับที่…) โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อคุ้มครองประชาชนจากภัยออนไลน์และสร้างความชัดเจนในการดำเนินธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล
ในส่วนของการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางไซเบอร์นั้น ร่าง พ.ร.ก. ฉบับแรกนั้นคือ ร่างพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. มีประเด็นสำคัญอยู่ที่ การคืนเงินที่ยึดอายัดได้จากคดีอาชญากรรมไซเบอร์ให้แก่ผู้เสียหายได้รวดเร็วขึ้น โดยสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) และคณะกรรมการธุรกรรมจะสามารถดำเนินการได้โดยไม่ต้องรอคำพิพากษาของศาล ซึ่งศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฏ์ เน้นว่า เป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับประชาชนที่เดือดร้อนจากภัยเหล่านี้
นอกจากนี้ ยังมีการยกระดับการป้องกันข้อมูลส่วนบุคคลรั่วไหล โดยกำหนดบทลงโทษทางอาญาสำหรับผู้ที่ทำให้ข้อมูลรั่วไหลและส่งผลกระทบต่อประชาชน ไม่ว่าข้อมูลนั้นจะอยู่ในความดูแลของหน่วยงานใด หากผู้ใดนำข้อมูลไปขายหรือแสวงหาผลประโยชน์จะมีความผิดทางอาญาทันที
ร่าง พ.ร.ก. ฉบับนี้ยังได้กำหนดความรับผิดชอบของผู้ประกอบการต่าง ๆ เช่น ธนาคาร ผู้ประกอบธุรกิจโทรคมนาคม ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล และสื่อสังคมออนไลน์ ให้ต้องมีมาตรฐานในการจัดการตามที่หน่วยงานกำกับดูแลกำหนด หากไม่ปฏิบัติตามและก่อให้เกิดความเสียหาย จะต้องร่วมรับผิดชอบด้วย ยกตัวอย่างเช่น หากธนาคารไม่ปฏิบัติตามแนวทางของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เรื่องบัญชีม้า จนลูกค้าถูกโจรกรรมเงิน ก็อาจต้องมีส่วนรับผิดชอบ เช่นเดียวกับผู้ให้บริการโทรคมนาคมที่ไม่จัดการเรื่องซิมม้าตามที่ กสทช. กำหนด หรือผู้ประกอบการสินทรัพย์ดิจิทัลที่ไม่ตรวจสอบการซื้อขายตามหลักเกณฑ์
ที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ จะมีการยกระดับศูนย์ AOC 1441 ของกระทรวงดิจิทัลฯ ให้เป็นศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ (สปอท.) ที่มีฐานะทางกฎหมายและอำนาจมากขึ้นในการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงาน สั่งอายัดทรัพย์สิน และระงับการรับแจ้งความได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ซึ่งจะช่วยให้การจัดการกับปัญหาอาชญากรรมออนไลน์เป็นไปอย่างรวดเร็วและแก้ไขข้อจำกัดเดิม ๆ ได้
สำหรับร่าง พ.ร.ก.การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล (ฉบับที่…) พ.ศ. … นั้น เกี่ยวข้องกับผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล โดยมุ่งเน้นการกำกับดูแลแพลตฟอร์มซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลในต่างประเทศที่มีความเชื่อมโยงกับประเทศไทย เนื่องจากปัจจุบันมีการโอนเงินออกนอกประเทศผ่านการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลแบบ Peer-to-Peer (P2P) บนแพลตฟอร์มต่างชาติที่มีความเกี่ยวข้องกับประเทศไทย เช่น การมีบัญชีในไทย หรือการใช้ภาษาไทยในแพลตฟอร์ม ดังนั้น ร่าง พ.ร.ก. นี้จึงกำหนดว่าหากแพลตฟอร์มใดมีส่วนเกี่ยวข้องกับประเทศไทย จะต้องได้รับการอนุญาตจาก สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และหาก ก.ล.ต. แจ้งมา กระทรวงดิจิทัลฯ จะสามารถสั่งปิดการเข้าถึงแพลตฟอร์มนั้นได้ทันที ซึ่งจะทำให้การกำกับดูแลมีความเข้มข้นและชัดเจนยิ่งขึ้น
ศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฏ์ กล่าวสรุปว่า ร่าง พ.ร.ก. ทั้งสองฉบับนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งในการปกป้องประชาชนจากความเสียหายจากอาชญากรรมไซเบอร์ และเสริมสร้างความเชื่อมั่นในระบบการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลของประเทศ